9 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ข่าวรอบโลก

อันดับเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 2023

The Economist Intelligence Unit (EIU) จัดอันดับเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2023 โดยอันดับ 1 มีสองเมืองคือ “ซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์” และ “สิงคโปร์” เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนจากฝั่งยุโรปและฝั่งเอเชียไปเลย ส่วนเมืองที่ถูกที่สุดในโลกยังคงเป็นเมืองดามัสกัส (ซีเรีย)
.
สรุปอันดับเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก 10 อันดับ ได้แก่
อันดับ 1 - ซูริค และ สิงคโปร์
อันดับ 3 - เจนีวา
อันดับ 4 - นิวยอร์ก
อันดับ 5 - ฮ่องกง
อันดับ 6 - ลอสแองเจลิส
อันดับ 7 – ปารีส
อันดับ 8 - เทลอาวีฟ (ประเทศอิสราเอล)
อันดับ 9 - โคเปนเฮเกน
อันดับ 10 - ซานฟรานซิสโก
.
โดยสิงคโปร์รักษาตำแหน่งเมืองที่แพงที่สุดในโลก เป็นครั้งที่ 9 ในรอบ 11 ปี ในปีนี้ครองตำแหน่งร่วมกับเมืองซูริค (สวิตเซอร์แลนด์) ซึ่งกลับมาขึ้นแท่นแซงนิวยอร์กที่เป็นอันดับหนึ่งเมื่อปีที่แล้วไปได้ (แข่งกันแพง แข่งทำไม?!)
.
ซึ่งภาพรวมในปี 2023 ค่าครองชีพทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.4% แม้ว่าการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ที่ทำให้ระบบการผลิตและส่งสินค้าทั่วโลกหยุดชะงักด้วยสถานการณ์โควิด-19 จะผ่อนคลายลง และอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นก็ตาม ก็ยังส่งผลต่อเงินเฟ้อ เพราะการขาดแคลนวัตถุดิบ ขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามไป
.
ทำให้ในทุกวันนี้ คำว่า “Cozzie livs” ซึ่งเป็นคำสแลงของคำว่า cost of living เป็นคำที่ผู้คนใช้เรียกค่าครองชีพที่แพงขึ้น ด้วยกลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในชีวิตประจำวันอย่างมาก (Cozzie livs ได้บรรจุเป็นคำศัพท์แห่งปีโดยพจนานุกรม Macquarie ของออสเตรเลียด้วย)
ตามตัวเลขของ EIU แสดงให้เห็นว่าวิกฤตค่าครองชีพทั่วโลกที่เริ่มขึ้นในปี 2022 จากราคาของผลิตภัณฑ์และบริการกว่า 200 รายการที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 7.4% ในปีที่ผ่านมา (แม้จะลดลงเล็กน้อยจาก 8.1% ในปี 2022 แต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 2.9% จากช่วงห้าปีที่ผ่านมาอยู่ดี)
.
การขึ้นสู่อันดับเมืองแพงที่สุดของ “ซูริค” ส่วนใหญ่เป็นเพราะฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา (โดย EIU ใช้เมืองนิวยอร์กเป็นเกณฑ์มาตรฐานของการสำรวจดัชนีครั้งนี้ ดังนั้นหากสกุลเงินของประเทศใดแข็งค่าขึ้น อันดับก็จะเลื่อนขึ้นไปด้วย) รวมถึงเมืองในโซนยุโรปตะวันตกอย่าง โคเปนเฮเกน ดับลิน และเวียนนา ที่ต่างอยู่ในตำแหน่ง 20 อันดับแรกเมืองแพง
.
อีกประการหนึ่งคือธนาคารกลางยุโรปขึ้นอัตราดอกเบี้ย 6 ครั้งในปี 2566 เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ จึงเป็นสาเหตุที่นิวยอร์กตกไปอยู่อันดับ 3
.
ส่วนเมืองที่ไต่อันดับเมืองแพงขึ้นมาอย่างแรง 3 เมือง ได้แก่ Santiago de Querétaro และ Aguascalientes ในเม็กซิโก และ San José เมืองหลวงของคอสตาริกา ในขณะที่ “ปักกิ่ง” เป็นหนึ่งในสี่เมืองจากจีนที่อับดับตกลงมากที่สุด สะท้อนถึงค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง และการฟื้นตัวของจีนหลังจากโควิด-19
ฝั่งรัสเซียนั้น “เมืองมอสโกและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก” ตกลงไปไกลที่สุด โดยมอสโกร่วงลงมาจากอันดับที่ 105 มาอยู่อันดับที่ 142 และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจากอันดับที่ 74 มาอยู่ที่อันดับที่ 147 ด้วยเหตุที่เงินรูเบิลร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ผลจากการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียจากชาติตะวันตกและการใช้จ่ายทางการทหารที่สูงขึ้น
.
ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ในรายงานปี 2022 ของ EIU ว่า ราคาพลังงานและปัญหาห่วงโซ่อุปทานจะค่อยคลี่คลายลงในปี 2566 แต่อัตราดอกเบี้ยยังไม่น่าจะลดลงเร็วๆ นี้ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่ขยับเพิ่มได้มากนัก และราคาพลังงานอาจสูงขึ้นอีกครั้งหากสงครามอิสราเอล-ฮามาสแผ่ขยายไปทั่วตะวันออกกลาง ในขณะที่ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งเริ่มในเดือนมิถุนายน และจะคงอยู่ไปจนถึงปีหน้าจะทำให้ราคาอาหารให้สูงขึ้นได้
.
ผู้คนจึงต้องทำใจที่จะอยู่กับ “Cozzie livs” ต่อไปในปี 2024
แม้โซนยุโรปจะขึ้นอันดับแพงกันถ้วนหน้า แต่นอกจากสิงคโปร์แล้ว เมืองในเอเชียส่วนใหญ่ 46 เมืองจาก 58 ก็มีอัตราค่าครองชีพลดลงในปี 2023 เหตุเพราะแรงกระแทกจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนาน ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าทั่วทั้งภูมิภาค
ครอบคลุมถึง “ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์” ที่ลดอันดับลงด้วยสกุลเงินทั้งสองอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่วน “โตเกียวและโอซาก้า” ของญี่ปุ่น ที่เคยอยู่ในกลุ่มอันดับ 20 เมืองแรกที่แพงที่สุดในโลก เลื่อนลงมาอยู่ที่อันดับที่ 60 และ 70 ตามลำดับ
.
มีเพียงไม่กี่เมืองในเอเชียที่มีค่าครองชีพสูงกว่าปีก่อน ได้แก่ “โซล และปูซาน” แห่งเกาหลีใต้ ด้วยเหตุจากเงินวอนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์
.
และอีกแห่งคือ “กรุงเทพฯ” นั่นเอง!! (เฮ้อ) ด้วยเงินทุนของไทยฟื้นตัวจากการร่วงลงครั้งใหญ่ในปีที่แล้ว และสาเหตุหลักยังมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
.
ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานนโยบายการเงิน ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ระบุสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในภาพรวมว่า อยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะขยายตัวชะลอลงในปี 2566 จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ลดลง แต่อัตราการขยายตัวในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยต้องติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมจะช่วยสนับสนุนให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืนและช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
.
อ่านฉบับเต็ม รายงาน EIU report: Worldwide Cost of Living 2023 >> http://tiny.cc/mt2hvz
อ่านฉบับเต็ม รายงานนโยบายการเงินไทย >> http://tiny.cc/zt2hvz
.
.
#TVBG #Humanitas #CostofLiving #EIU #Economy
โฆษณา