9 ธ.ค. 2023 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Easy e-receipt ลดหย่อนภาษี 67

โครงการ Easy e-receipt จากรัฐบาลเศรษฐา จะช่วย #ลดหย่อนภาษี ได้กี่บาท? รู้หรือไม่ แต่ละคนได้ลดภาษีไม่เท่ากัน!
1
ไม่กี่วันก่อนหลายคนคงทราบกันแล้วว่า ครม. ประกาศอนุมัติโครงการ “Easy e-receipt” ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาทต่อคน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
โครงการดังกล่าวให้สิทธิ์แก่ประชาชน (บุคคลธรรมดา) ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องชำระภาษี สามารถซื้อสินค้า-บริการจากร้านค้าต่างๆ ได้ในวงเงินสูงสุด 50,000 บาท แล้วนำใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ผ่านระบบของกรมสรรพากร จากการซื้อดังกล่าวนำไป “ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ได้ในปี 2567 ซึ่งมีระยะเวลาให้จับจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 รวมทั้งสิ้น 45 วัน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเงื่อนไขรายละเอียดหลายอย่างที่ประชาชนต้องรู้ก่อนออกไปจับจ่าย โดยเฉพาะการคำนวณ “จำนวนภาษีที่ลดหย่อนได้จริง” จากเงิน 50,000 บาทที่จ่ายไป ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ลดหย่อนในจำนวนเท่ากัน เพราะอัตราภาษีเงินได้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ต้องดูตามฐานเงินเดือนหรือเงินได้สุทธิต่อปีของแต่ละคนประกอบด้วย ดังนี้
📌หากมีเงินได้สุทธิ ไม่เกิน 150,000 บาท/ปี
จะได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่ต้องเสียภาษี) ดังนั้นแม้จะใช้จ่ายตามโครงการสูงสุด 50,000 บาท ก็จะไม่ได้ลดหย่อนภาษี (ประหยัดภาษี 0 บาท)
📌หากมีเงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท/ปี
มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 5% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 2,500 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 500 บาท
📌หากมีเงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท/ปี
มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 10% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 5,000 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 1,000 บาท
📌เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท/ปี
มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 15% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 7,500 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 1,500 บาท
📌เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท/ปี
มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 20% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 10,000 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 2,000 บาท
📌เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท/ปี
มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 25% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 12,500 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 2,500 บาท
📌เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท/ปี
มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 30% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 15,000 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 3,000 บาท
📌เงินได้สุทธิ 5,000,001 ขึ้นไป
มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 35% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 17,500 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 3,500 บาท
1
ทั้งนี้ ยังมีเงื่อนไขโครงการฯ เกี่ยวกับชนิดสินค้าที่สามารถ “ซื้อแล้วได้ลดหย่อนภาษี” ได้แก่ สินค้าและบริการในร้านค้าต่างๆ ที่จดทะเบียน VAT รวมถึงสินค้าหมวดหนังสือเล่ม, E-book, สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว (ร้านเหล่านั้นสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้) แต่ถ้าในกรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวจากร้านที่ไม่ได้จดทะเบียนVAT ต้องได้รับใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
ส่วนชนิดสินค้าที่ “ซื้อแล้วไม่ได้ลดหย่อนภาษี” ได้แก่ สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ตาม
กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ
#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจEconomic #กรุงเทพธุรกิจPolitics
โฆษณา