11 ธ.ค. 2023 เวลา 06:36 • บันเทิง

สดับหลับตา

เสียงดนตรีมักฟังไพเราะด้วยจังหวะสอดคล้องกลมกลืนเสนาะหู เมื่อกระทบโสตสัมผัสย่อมทำให้เราผ่อนคลายมีความสุข ฟังเเล้วไม่หนวกหูรำคาญ ลองนึกถึงฉากในหนังจักรๆวงศ์ๆที่ไพร่ฟ้าประชาชีใช้ชีวิตกันอย่างสงบสุข มักมีเพลงบรรเลงค้างคาวกินกล้วยมาประกอบ ได้ยินเเล้วจะรู้สึกสนุกสนานเบิกบานไปด้วย
ทำนองเพลงอันไพเราะเสนาะหูสามารถนำมาใช้เพื่อจิตบำบัด เเละเมื่อผสานเข้ากับเนื้อร้องในทางสร้างสรรค์ ใครฟังก็มักจะเกิดความอิ่มเอมใจ มีเพลงขับร้องในโรงเรียนเด็กเล็กที่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านนึกภาพตามเนื้อเพลง  คงทำให้มีความสุข ได้แก่เพลงระบำชาวเกาะ
รำ ระบำชาวเกาะ   ฟังเพราะเสนาะจับใจ
เสียงน้ำหลั่งไหล   เสียงน้ำหลั่งไหล
  กระทบหาดทรายดังครืนๆ  กระทบหาดทรายดังครืนๆ
เพลงบรรเลงที่นิยมกันในบางประเทศเช่นเพลงออเคสตร้าต้องใช้เครื่องดนตรีสากลมากมาย  มีนักดนตรีและผู้ขับร้องประสานเสียงแสดงรวมกันหลายสิบชีวิต
ผู้เเสดงต้องเล่นดนตรีตามจังหวะการยกมือขึ้นลงของวาทยกร ทำให้เสียงเพลง
รื่นไหลไม่ติดขัด  แต่ผู้ชมก็อาจหลับตาสดับฟังเพื่อให้เสียงไพเราะนั้นกระทบโสตสัมผัสได้เต็มที่
หลายๆคนชอบหลับตาฟังเพลงในเวลาเข้านอนเพื่อให้เพลงขับกล่อม จึงไม่อาจรับฟังได้อย่างสุนทรีย์นัก
ดูเหมือนว่าคนไทยชอบชมการแสดงดนตรีด้วยตาเป็นหลัก  บ้างก็ฟังไปคุยไปและอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เสียงดนตรีตามงานต่างๆมักต้องบรรเลงให้ดัง  และเมื่ออยากชมดนตรี เราก็ชอบพูดว่าไปดูดนตรีแทนที่จะพูดว่า ไปฟังดนตรี
อันการออกท่าระบำรำฟ้อนที่แสดงเป็นเรื่องราวเช่นลิเก ละคร ฉากที่ตัวละครใคร่เอื้อนเอ่ยเผยความในใจออกมาก็เพียงแค่ยกมือป้องปากหันหน้ามาทางผู้ชม คนดูก็จะเข้าใจได้แถมยังรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงด้วย แต่หากเป็นเพลงบรรเลงล้วนๆ การหลับตาฟังบ้าง ก็อาจช่วยให้โสตสัมผัสได้รับรู้ถึงความไพเราะสุนทรีย์ดียิ่งขึ้น ขอเพียงแต่คนข้างๆอย่าด่วนพูดหยอกว่าฟังแล้วหลับหรือไรเท่านั้น
จะฟังดนตรีทั้งที  ก็ควรจะได้ฟังกันให้ได้ความไพเราะ  ผู้เขียนใคร่ขอยกกลอนบทหนึ่งจากบทละครเรื่องเวนิสวาณิช(The Merchant of Venice ) ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์เเปลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่หกมาปิดท้าย เนื้อความอาจจะแรงอยู่เเต่น่าใคร่ครวญ
ชนใดไม่มีดนตรีกาล   ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก 
อีกทั้งฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ  เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
โฆษณา