11 ธ.ค. 2023 เวลา 10:34 • ความคิดเห็น

สิ่งที่อยากบอกหลังเขียนบล็อกครบ 3,000 ตอน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2566 ผมเขียนบทความลง Anontawong’s Musings ครบ 3,000 บทความ หลังจากเริ่มเขียนบล็อกแบบจริงจังมาเกือบ 9 ปี
เลยอยากจะบันทึกความรู้สึกไว้ตรงนี้ เช่นเดียวกับตอนที่เขียนครบ 1,000 บทความ (7 ตุลาคม 2017) และ 2,000 บทความ (18 สิงหาคม 2020) ครับ
.
#1.นี่คือการเล่นเกมยาว
แต่ก่อน ผมจะเขียนบทความลงบล็อกที่เป็นเว็บไซต์ชื่อ anontawong.com แล้วค่อยแชร์ลิงค์จากบล็อกมาลงในเฟซบุ๊คเพจ Anontawong’s Musings ซึ่งหมายความว่าผู้ติดตามเพจต้องคลิกไปที่ลิงค์เพื่อเข้าไปอ่านในบล็อก ไม่ได้อ่านจากโพสต์ในเฟซบุ๊ค
เหตุผลที่ผมทำอย่างนั้นเพราะว่าอยากจะสร้างทราฟฟิคไปที่บล็อกของตัวเอง ซึ่งวิธีการแบบนี้จะทำให้ Facebook page followers ไม่โตเท่ากับการเขียนบทความลงในเพจตรงๆ
1
แต่พอคิดได้ว่านี่คือการเล่นเกมยาว ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งสร้างทราฟฟิคไปที่บล็อก สิ่งที่สำคัญกว่าคือให้คนอ่านเข้าถึงบทความของเราได้โดยง่าย ผมจึงเขียนบทความลงทั้งในบล็อกและในเพจ ซึ่งทำให้เพจโตเร็วขึ้น ผมสร้างเพจนี้มา 9 ปี มีคนติดตาม 8 หมื่นคน กว่าจะได้ 4 หมื่นคนแรกต้องใช้เวลา 7 ปี แต่ 4 หมื่นคนหลังใช้เวลาแค่ 2 ปี
ผมตั้งใจจะเขียนบล็อกไปอีก 20-30 ปี จึงไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน และไม่ควรกลัวที่จะทดลอง เพราะถ้าลองสัก 6 เดือนหรือ 1 ปีแล้วไม่เวิร์คก็แค่เปลี่ยนไปลองวิธีอื่นเท่านั้นเอง
.
#2.นิทานที่หายไป
สิ่งหนึ่งที่หายไปในปีที่ผ่านมา คือนิทานวันศุกร์ เพราะผมเริ่มรู้สึกว่านิทานที่ดีและเหมาะกับบล็อกนี้หายากขึ้นทุกที ใช้เวลาเฟ้นหานิทานนานกว่าการเขียนบทความเองเสียอีก พักหลังก็เลยหยุดนิทานวันศุกร์ไป แต่สัญญาว่าถ้าเจอนิทานดีๆ อีกจะนำมาลงในบล็อกนี้อย่างแน่นอน
1
.
#3.ไม่ต้องออกบทความทุกวันก็ได้
เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว ผมขอเข้าพบอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่ง เรานั่งคุยกันหลายชั่วโมงจนถึงสี่ทุ่ม ตอนที่ผมลาอาจารย์กลับบ้าน อาจารย์ให้คำแนะนำว่า ผมไม่จำเป็นต้องปล่อยบทความใหม่ทุกวันก็ได้ รอให้ได้บทความที่เรามั่นใจว่าทีเด็ดก่อนแล้วค่อยปล่อย
ผมยังจำคำแนะนำนั้นได้จนถึงตอนนี้ แต่ระหว่างทางผมก็ยังเขียนบทความเกือบทุกวันอยู่ดี
หนึ่ง เพราะรู้สึกว่าถ้าหยุดปล่อยบทความ ก็อาจจะหยุดเขียนและอาจสูญเสียสิ่งที่เคยสั่งสมมา
สอง ผมไม่อาจรู้ได้เลยว่าบทความไหนจะมีคนชอบเยอะหรือน้อย บางบทความเรามั่นใจมาก ตั้งใจมากแต่ก็แป๊ก บางบทความเราไม่ได้ลงแรงเท่าไหร่ ไม่ได้รู้สึกว่าพิเศษอะไรแต่กลับมีคนชอบเยอะ
ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมานี้เองที่ผมเริ่มปล่อยวางความรู้สึกว่าต้องออกบทความทุกวันได้ หนึ่งเพราะรู้สึกว่าการต้องปล่อยบทความทุกวันมันตึงกับชีวิตเกินไปหน่อย สองคือผมรู้สึกว่าการเขียนบล็อกอย่างสม่ำเสมอมาเกือบ 9 ปีควรจะมอบความมั่นใจให้ตัวเองได้แล้วว่าความเป็นบล็อกเกอร์ของเราคงไม่หายไปไหนแม้ว่าจะไม่ได้เขียนในบางวัน และสามคือผมอยากมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ดังนั้นจำนวนบทความจึงลดจากเดือนละประมาณ 30 ตอน เหลือเดือนละประมาณ 15-20 ตอน
.
#4.เขียนโดยไม่ต้องฝืน
Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money บอกว่าเวลาที่เราบ่นว่าเรามี writer’s block นั้น จริงๆ เป็นเพราะว่า main idea ของเราไม่ได้เรื่องต่างหาก
ถ้าตัวไอเดียหลักของเราดีพอ การเขียนบทความจะไม่ยาก ดังนั้นเขาจึงไม่เคยกดดันตัวเองให้ต้องสร้างงานออกมา เขาจะรอให้มีไอเดียก่อนแล้วค่อยเขียน และถ้ารู้สึกว่าเขียนไม่ออก ก็จะปิดคอมแล้วไปหาอย่างอื่นทำ
ผมเห็นด้วยว่าเวลาเราเขียนบทความสักบทหนึ่ง เราเขียนเสร็จไปอย่างน้อย 60%-70% ตั้งแต่ในหัวแล้ว ที่เหลืออีก 30%-40% ค่อยมาจัดการตอนอยู่หน้าคอม ถ้ามานั่งหน้าจอคอมแล้วค่อยคิดว่าจะเขียนอะไร คงไม่ได้บทความที่ดีเท่าไหร่นัก
จากนี้ไปผมอาจจะเขียนบทความน้อยลง แต่น่าจะมีความสุขกับการเขียนมากขึ้นเพราะไม่ต้องคาดคั้นกับตัวเอง
.
#5.ทางหนีทีไล่ในวันที่เฟซบุ๊คไม่อยู่
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว (ตอนที่ผมเขียนบทความครบ 2,000 ตอน) Facebook ยังยิ่งใหญ่และดูไม่น่าจะมีใครโค่นลงได้ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาม้ามืดอย่าง TikTok ก็ทำให้อาณาจักรของเฟซบุ๊คต้องสั่นคลอน
แม้ยุคทองของเฟซบุ๊คน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ช่องทางการปล่อยบทความของผมและบล็อกเกอร์อีกหลายๆ คนยังพึ่งเฟซบุ๊คเป็นช่องทางหลัก ถึงวันหนึ่งถ้าเฟซบุ๊คไม่อยู่ เหล่าครีเอเตอร์คงลำบากเหมือนกัน
แพลตฟอร์มหนึ่งที่คิดว่าน่าจะยังไม่จากไปไหนง่ายๆ คือ WordPress ซึ่งเป็นหลังบ้านของเว็บไซต์ประมาณ 800 ล้านเว็บรวมถึงบล็อกของผมด้วย ดังนั้นถ้าใครอยากจะเพิ่มอีกหนึ่งช่องทางในการติดตามบล็อกนี้ ก็สามารถเข้าไปที่ anontawong.com แล้วกรอกอีเมลได้เลย (ตอนนี้มี 1,896 subscribers) ส่วนใครที่สนใจช่องทางอื่นเช่น Blockdit/Instagram/LINE/Twitter ก็เข้าไปกดติดตามได้ทาง linktr.ee/anontawong ครับ
.
#6.หาที่ทางของเราให้เจอ
มีเพื่อนผมคนหนึ่งชื่อแดง เคยมาเข้า Writing Workshop กับผม และเปิดเพจ Daisyinspire ตอนปลายปี 2017 เพื่อเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องดีงามในชีวิตอย่างสม่ำเสมอ
แม้ช่วง 2 ปีแรกยังไม่มีคนติดตามมากนัก แต่แดงก็ไม่หยุดเขียนและผลิตบทความออกมามากกว่า 300 บทความ
จุดเปลี่ยนก็คือตอนที่แดงเริ่มทำคอนเทนท์เกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพตามแนวทางแพทย์แผนไทย และเริ่มทำวีดีโอลง YouTube จนมีผู้ติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบันช่อง “Healthy Daisy สุขภาพดีไปด้วยกัน” ของหมอแดงมีคนติดตาม 227,000 คน มีวีดีโอเกือบ 400 คลิป มียอดวิวรวมแล้วเกิน 10 ล้านวิว
Creator นั้นมีได้หลายแบบ ตอนแรกเราอาจไม่รู้ว่าเราเหมาะกับหัวข้อแบบใดและควรใช้ช่องทางไหน แต่ถ้าเราไม่หยุดทดลองและไม่ล้มเลิกที่จะแบ่งปันสิ่งดีๆ การเดินทางครั้งนี้อาจพาเราไปในที่ที่คาดไม่ถึง
.
#7.แรงขับเคลื่อนของกันและกัน
บล็อก Anontawong’s Musings จะเกิดขึ้นและยืนหยัดมาถึง 9 ปีไม่ได้เลยหากไม่มีเพื่อนร่วมทาง
ทั้งคนที่เป็นฮีโร่ของผมอย่างพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ที่ผมติดตามตั้งแต่มติชนวันอาทิตย์หน้า 14 อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลที่ผมน่าจะได้อ่านหนังสือของเขาครบทุกเล่ม พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาที่มีความเข้มข้นในคำพูดและตัวหนังสืออย่างไม่มีใครเหมือน รวมถึงพี่เอ๋ นิ้วกลม ที่ผมอ่านหนังสือโตเกียวไม่มีขาจบระหว่างนั่งเครื่องบินไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี 2011
พี่บอย วิสูตร กับ พี่แท็ป รวิศ ที่เขียนหนังสือมองไกลบนไหล่ยักษ์ และ คิดจะไปดวงจันทร์ อย่าหยุดแค่ปากซอย ที่จุดประกายให้ผมเริ่มเขียนบล็อกอย่างจริงจังในวันขึ้นปีใหม่ปี 2015
เอ็ม Khajochi บล็อกเกอร์รุ่นแรกๆ ที่เคยมาเปิดคอร์สสอนทำบล็อกให้ผมและเพื่อนๆ สมัยทำงานอยู่รอยเตอร์ พี่ปิ๊ก Trick of the Trade ที่ให้โอกาสผมได้พิมพ์หนังสือเล่มแรก คุณบิว วิศวกรรีพอร์ต ที่ทำ content เรื่อง Excel ได้สนุกสนานและมีประโยชน์มาก
คุณวิศ วิเคราะห์บอลจริงจัง ที่เขียนหนังสือเหมือนซีดานเตะบอล อาจารย์นภดล Nopadol’s Story ที่เป็นแบบอย่างของความมีวินัยและการแบ่งปัน พี่โจ้ แห่งเพจเขียนไว้ให้เธอที่มีเรื่องเล่ามากมายจากหลากหลายวงการ
มีอีกหลายท่านที่คงไม่อาจกล่าวถึงได้หมด แต่ถ้าคุณเป็นคนสร้างคอนเทนท์ด้วยตัวหนังสือและผมเคยได้อ่านงานของคุณ ขอให้รู้ว่าผมรู้สึกขอบคุณคุณอยู่นะครับ
มีอีกสองกลุ่มที่ลืมไม่ได้ หนึ่งคือภรรยาและลูกๆ ที่เป็นกำลังใจและสารตั้งต้นของหลายบทความที่ผมรักมากที่สุด สองคือคุณผู้อ่านที่ติดตามและช่วยเผยแพร่บทความ แม้ว่าผมจะไม่ค่อยตอบคอมเมนท์แต่ผมอ่านทุกเมนท์ครับ
อย่างที่บอกตอนต้นว่านี่คือเกมยาว ขอบคุณที่ร่วมเดินทางกันมาถึงตอนที่ 3,000 และหวังว่าจะร่วมเดินทางด้วยกันจนถึงตอนที่ 4,000 นะครับ
โฆษณา