12 ธ.ค. 2023 เวลา 05:30

วิจัยเผยวัฒนธรรมแบบ 'กาสะลอง-ซ้องปีบ' เสริมประสิทธิภาพการทำงาน

‘ที่นี่เราอยู่กันเป็นครอบครัว’ เป็นหนึ่งในวลีที่เหล่าเอชอาร์ (HR: Human Resource) ชอบใช้เพื่อดึงดูดให้ผู้สมัครอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรที่เต็มไปด้วยความเอื้ออาทรและช่วยเหลือกันและกันเหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน
กลับกันในหมู่คนหางานกลับมองว่าวลีนี้เป็น “ธงแดง” (Red Flags) หรือเครื่องหมายที่แสดงว่าองค์กรนี้อาจมีวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ (Toxic Organizational Culture) จนเกิดเป็นการล้อเลียนโต้กลับว่าเป็นครอบครัวแบบ ‘กาสะลอง-ซ้องปีบ’ ตัวละครฝาแฝดที่เกลียดกันมาก หรือแบบ ‘เลือดข้นคนจาง’ ที่คนในครอบครัวต่างชิงดีชิงเด่นแก่งแย่งจนฆ่ากันตาย
ปฏิกิริยาต่อวลีดังกล่าวแสดงให้เห็นมุมมองของคนทำงานได้อย่างชัดเจนว่าวัฒนธรรมที่เพื่อนร่วมงานแข่งกันแย่งชิงเป้าหมาย มีการใช้คำพูดหรือการกระทำดูถูก เหยียดหยาม และสร้างลำดับชนชั้น ล้วนเป็นเหตุการณ์ไม่น่าภิรมย์ที่อาจเป็นสาเหตุของการลาออกของพนักงานได้เลยทีเดียว
วงการกีฬาเองก็มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันอยู่อย่างหนึ่งเรียกว่า “Trash Talk” หมายถึงการพูดถากถาง ดูถูกดูแคลน เหยียดหยาม ซ้ำเติม ท้าทาย ยั่วยุ รวมไปถึงยกตนข่มคู่แข่งทั้งก่อนและระหว่างการแข่งขัน เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้สร้างความมั่นใจให้ตนเองและข่มขวัญคู่ต่อสู้
วัฒนธรรมนี้ไม่จำกัดอยู่เพียงวงการกีฬาแต่พบเห็นได้ทั่วไปในการแข่งขันต่างๆ เช่น การทำธุรกิจก็นับเป็นหนึ่งในการแข่งขัน Dan Akerson อดีตซีอีโอของบริษัทผลิตรถยนต์ General Motors เองก็เคยประกาศตอนเปิดตัวรถยนต์ตัวใหม่มาแข่งกับรถหรูระดับ C-Class ของ Mercedes-Benz ว่า “ที่เขาเรียก (รถเบนซ์) ว่า C-Class ก็เพราะมันโคตรจะธรรมดายังไงล่ะ”
อีกหนึ่งตัวอย่างการ ‘Trash Talk’ ที่หลายคนอาจเคยเห็นผ่านตาเป็นความขบขันบันเทิงคือศึกระหว่างแบรนด์แฮมเบอร์เกอร์สองแบรนด์อย่างแมคโดนัลด์ (McDonald) และเบอร์เกอร์คิง (Burger King) ที่เรียกได้ว่าหากอีกฝ่ายล้มเมื่อไรก็พร้อมจะออกโฆษณาตัวใหม่มาเหยียบซ้ำ
สังคมการทำงานเองก็มีการแข่งขันกันสร้างผลงานเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่บริษัทสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการผ่านการกำหนดเป้าหมายและมอบรางวัล หรือจะเป็นการแข่งขันที่เกิดจากพนักงานเองที่ต้องการความก้าวหน้าในอาชีพ บรรยากาศการแข่งขันเหล่านี้ก็ทำให้เกิดการ ‘Trash Talk’ กันอยู่เป็นประจำ
จากผลสำรวจพนักงานของบริษัท Fortune 500 Company พบว่า คนทำงานกว่า 57% พบเจอการ ‘Trash Talk’ ทุกเดือนหรือบ่อยกว่านั้น แม้จะเป็นผลสำรวจจากบริษัทแห่งเดียวและเป็นผลสำรวจจากต่างประเทศ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในสังคมการทำงาน ‘เป็นปกติ’
ไม่ว่าจะวงการหรือสถานการณ์แบบไหนการ ‘Trash Talk’ ก็มักถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควร หรือเป็นสิ่งที่ผิด โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ได้รับการปลูกฝังกันมาว่าคนล้มอย่าข้าม อย่าโอ้อวดตนเอง อย่าดูถูกคนอื่น เพื่อป้องกันโอกาสการเพิ่ม ‘ศัตรู’ นั่นเอง
แต่ ‘ความเป็นศัตรู’ นั้นเลวร้ายอย่างที่คิดจริงหรือไม่?
แม้ว่าการมีมิตรย่อมดีกว่าการมีศัตรู แต่ท่ามกลางการแข่งขัน ผู้เล่นคนอื่นทุกคนล้วนเป็นคู่แข่งไม่มากก็น้อย ถ้าเช่นนั้นแล้วจะเป็นอย่างไรถ้ายกระดับจากคู่แข่งธรรมดาให้กลายเป็นศัตรูไปเลย? งานศึกษาและงานวิจัยหนึ่งจาก Harvard Business Review ได้ทำการทดลองเพื่อสังเกตผลลัพธ์จากการ ‘Trash Talk’
โดยทำการทดลองด้วยการให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันกับคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเพียงการแข่งขันกับฝ่ายตรงข้ามที่เป็นเพียงคู่แข่งทั่วไป และอีกกลุ่มหนึ่งคือฝ่ายตรงข้ามที่มีการ ‘Trash Talk’ หรือพูดจากระทำการยั่วยุผู้เข้าร่วมการทดลอง
ผลปรากฏว่าผู้เข้าร่วมที่ได้รับการ ‘Trash Talk’ มีแรงจูงใจมากกว่า สามารถสร้างผลิตภาพ (Productivity) ได้มากกว่า มีความพยายามและความอดทนมุ่งมั่นต่อเป้าหมายมากขึ้น และสามารถก้าวข้ามมาตรฐานเดิมของตนเองได้ไกลกว่าเดิม
เพราะการยั่วยุจะสร้างความรู้สึกอยากเอาชนะหรืออยาก ‘ลงโทษ’ ให้ผู้ที่ยั่วยุได้รับกรรมตามสนองอย่างสาสม ไม่ว่าจะเป็นความพ่ายแพ้ ความอับอาย เพื่อตอบสนองความต้องการคล้ายกับความรู้สึกได้เห็นตอนจบของละครคุณธรรม
แต่ด้านมืดของ ‘Trash Talk’ คือความต้องการอยากเอาชนะและแก้แค้นนั้นอาจเลยเถิดจนส่งผลให้ผู้เข้าร่วมลืมเป้าหมายที่แท้จริงเพราะจดจ่ออยู่กับการลงโทษผู้ยั่วยุมากเกินไป ผลการทดลองยังแสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมหลายคนอยากเอาชนะจนไม่สนวิธีการ ทำให้เกิดการโกงระหว่างการแข่งขันอยู่หลายครั้ง
นอกจากนี้ผลการทดลองยังพบว่า ‘Trash Talk’ ทำลายความคิดสร้างสรรค์และความรอบคอบของผู้ที่ถูกยั่วยุอีกด้วย โดยผู้เข้าร่วมการทดลอง 52% สามารถแสดงความคิดที่หลากหลายเมื่อแข่งขันแบบปกติกับคู่แข่งธรรมดา แต่เมื่อแข่งกับคู่แข่งที่มองเป็นศัตรูกลับสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ได้เพียง 37% เนื่องจากถูกเบี่ยงเบนด้วยความอยากเอาชนะและการแก้แค้นอีกฝ่ายนั่นเอง
สรุปแล้วควรนำ ‘Trash Talk’ ไปใช้ในทีมหรือองค์กรหรือไม่?
อย่างที่กล่าวไปว่าแม้ ‘Trash Talk’ จะสามารถสร้างแรงจูงใจและผลลัพธ์เชิงบวกอื่นๆ ได้จริง แต่ก็ยังมีข้อเสียอีกมากหากใช้โดยไม่ระวัง นอกจากนี้ก็มีเพียงเส้นกั้นบางๆ ระหว่างการยั่วยุด้วยการ ‘Trash Talk’ กับการใช้ความรุนแรงทางคำพูด (Verbal Abusive) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความแตกแยกภายในทีมหรือองค์กร จนนำไปสู่การฟ้องร้องทางกฎหมายได้เลยทีเดียว
ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าควรจะตัดกลวิธีนี้ทิ้งไปอย่างไม่ไยดี เพราะหากหัวหน้าทีมหรือองค์กรนำ ‘Trash Talk’ ไปใช้ได้อย่างมีเจตนาและเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงมีกลยุทธ์รอบคอบก็สามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับทีมหรือคนทำงานในองค์กรได้เช่นกัน แล้วการใช้ ‘Trash Talk’ ให้เหมาะสมควรทำอย่างไร?
1. สร้างบรรยากาศที่ดีและความเชื่อใจในทีมอย่างแน่นแฟ้น
อันดับแรกคือต้องเตรียมพื้นฐานทางจิตใจให้คนในทีมก่อนว่าการแข่งขันนี้ไม่ใช่การสร้างศัตรูแต่เป็นเพียงการสร้างแรงจูงใจ โดยการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงวิธีการเอาชนะเกม เมื่อจบเกมแล้วก็ควรมีน้ำใจนักกีฬาต่อกันและที่สำคัญคือไม่เก็บมาเป็นความแค้นในใจอย่างจริงจัง
เปรียบเสมือนกับการที่เรายอมให้เพื่อนแซวหรือล้อเล่นแรงๆ แต่หากคนอื่นมาทำแบบเดียวกันก็จะไม่พอใจ การสร้างเส้นแบ่งภายในทีมให้ชัดถือเป็นการเตรียมพร้อมอย่างแรกที่ควรทำ
2. กำหนดเจตนาให้ชัดเจนก่อนจะทำการยั่วยุ
เจตนาของการยั่วยุมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการยั่วยุเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตนเอง หรือเพื่อบั่นทอนกำลังใจของอีกฝ่าย อีกหนึ่งเจตนาคือการกระตุกให้อีกฝ่ายได้คิดและเกิดแรงจูงใจในการเอาชนะขึ้นมา เมื่อกำหนดเจตนาแล้วจึงจะรู้ว่าควรจะยั่วยุอย่างไรไม่ให้ล้ำเส้นนั่นเอง
3. พิจารณาธรรมชาติของทีมว่าเหมาะกับ ‘Trash Talk’ หรือไม่
อย่างที่กล่าวไปว่า ‘Trash Talk’ สามารถบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ กลวิธีนี้จึงไม่เหมาะกับการนำไปใช้กับทีมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือสติปัญญาอย่างหนัก แต่เหมาะกับทีมที่เน้นความพยายามจึงจะสามารถก้าวผ่านไปได้ เช่น ทีมที่ทำงานกับเครื่องกลหรือกลไกต่างๆ และทีมที่ใช้ความเร็วเป็นหลักอย่างพนักงานส่งของ เป็นต้น
4. ระวังเรื่องความไม่เท่ากันของพลวัตทางอำนาจ (Power Dynamic)
ต้องระลึกอยู่เสมอว่าภายในองค์กรนั้นมีลำดับขั้นของตำแหน่งอยู่ และแต่ละตำแหน่งก็ให้ผลของการยั่วยุแตกต่างกัน หากเป็นระดับเดียวกันเองยั่วยุกันก็อาจจะกลายเป็นบรรยากาศการแข่งขันทั่วไป แต่หากระดับหัวหน้ายั่วยุแล้วอาจจะเกิดเป็นการตำหนิแทนการยั่วยุเพื่อสร้างแรงจูงใจก็เป็นได้
เรียกได้ว่ายาพิษในปริมาณที่เหมาะสมก็อาจกลายเป็นยารักษาโรคหรือยาชูกำลังขึ้นมาก็ได้ ที่สำคัญคือคนที่หยิบไปใช้จะต้องมีความรอบคอบ ระมัดระวัง และหาทางหนีทีไล่กรณีที่อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นมา เช่นนั้นแล้วก็จะสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายได้นั่นเอง
ที่มา
- The Case for Trash-Talking at Work, According to Research: Jeremy A. Yip
 and Maurice Schweitzer, Harvard Business Review - https://bit.ly/48b49HR
- ‘Trash Talk’ author Rafi Kohan explains how talking smack can help you get ahead: Yasmin Gagne, Fast Company - https://bit.ly/489SLMh
- How Trash-talking Affects Performance: Knowledge at Wharton - https://whr.tn/3GDO9Cz
#trend
#worklife
#trashtalk
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา