Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
12 ธ.ค. 2023 เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รับมืออย่างไรเมื่อค่าเงินบาทไทยผันผวน
รู้หรือไม่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของเรามากกว่าที่คิด เพราะว่าราคาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน รถยนต์ โทรศัพท์ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน และทำให้เรามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้
มาถึงตรงนี้หลายท่านคงมีคำถามว่า แล้วเราจะบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินได้อย่างไร Financial Wisdom จึงจะขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักและเข้าใจอัตราแลกเปลี่ยนในชีวิตประจำวันให้มากขึ้นกัน
รู้หรือไม่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างไร
ปกติแล้วค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง ทั้ง “แข็งค่า” และ “อ่อนค่า” โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น หมายถึง มูลค่าของเงินบาทมีมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศ เพราะเราสามารถนำไปแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศได้จำนวนมากขึ้น ตรงกันข้าม เงินบาทที่อ่อนค่าลง หมายถึง เงินบาทมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศ และสามารถแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศได้ลดลง
ทั้งนี้ การปรับอ่อนค่าหรือแข็งค่าของเงินบาทนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงิน
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินในชีวิตประจำวัน
โดนเต็ม ๆ ตรง ๆ ต้องเป็นกลุ่มคนที่มีค่าใช้จ่ายในต่างประเทศ เช่น คนที่ต้องชำระค่าเล่าเรียนลูกที่ต่างประเทศ คนที่มีแผนจะไปเที่ยวต่างประเทศ หากเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทของเราแข็งค่าก็จะได้ประโยชน์เต็ม ๆ เพราะเราจะสามารถแลกเงินเป็นสกุลต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ใช้เงินบาทเท่าเดิม
ยกตัวอย่างเช่น น้องเจแปนอยากไปเที่ยวญี่ปุ่น โดยมีงบ 30,000 บาท ถ้าเป็นปีที่ผ่าน ๆ มา อาจจะแลกได้แค่ 90,000 เยน แต่พอมาในปี 2566 เงินเยนอ่อนค่าลง และไทยแข็งค่าขึ้นมาเท่ากับ 1 บาท ต่อ 4 เยน น้องเจแปนจึงแลกเงินเยนได้เพิ่มขึ้นเป็น 120,000 เยน จึงมีเงินในกระเป๋าไปเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 30,000 เยน
สรุปง่าย ๆ ก็คือ คนที่มีค่าใช้จ่ายในรูปเงินตราต่างประเทศ จะมีภาระลดลงเมื่อค่าเงินของประเทศนั้นอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท หรือพูดอีกอย่างก็คือ เมื่อเงินบาทแข็งค่านั่นเอง
สำหรับคนที่ซื้อสินค้านำเข้า ค่าเงินจะมีผลต่อราคาสินค้าที่นำเข้ามาขายในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ราคามือถือรุ่นเบอร์รี่ 14 เปิดตัวในไทยอยู่ที่ 29,900 บาท แต่มือถือรุ่นเบอร์รี่ 15 เปิดตัวอยู่ที่ 32,900 บาท ทั้ง ๆ ที่สองรุ่นนี้มีราคาเปิดตัวในสหรัฐฯ เท่ากันที่ 799 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสาเหตุที่มือถือดังกล่าวมีราคาที่แพงขึ้นก็เป็นเพราะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
โดยช่วงที่มือถือรุ่นเบอร์รี่ 14 วางขายในปี 2564 ค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 33-34 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ต่อมา ในปี 2565 ที่มือถือรุ่นเบอร์รี่ 15 วางขาย ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าไปอยู่ที่ 37-38 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ นั่นเอง
โดยสรุปก็คือ การอ่อนค่าของเงินบาททำให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้จากต่างประเทศ กระเป๋าแบรนด์เนม หรือรถยนต์แพงขึ้น ตรงกันข้าม หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น คนไทยก็จะมีอำนาจในการใช้จ่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ สำหรับคนที่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นทางตรง เช่น ค่าเดินทาง หรือทางอ้อม เช่น ค่าไฟฟ้า คงเคยสงสัยว่าทำไมในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกลดลง แต่ราคาน้ำมันในบ้านเราไม่ได้ปรับตาม เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนั้น เพราะโดยปกติแล้วราคาน้ำมันจะอิงตามตลาดโลกและซื้อขายกันเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันในประเทศไม่เพียงพอและต้องนำเข้า ฉะนั้นต้นทุนน้ำมันในบ้านเราจึงจะได้รับผลกระทบจากทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยน หากเงินบาทอ่อนค่าลงราคาน้ำมันในบ้านเราก็จะปรับสูงขึ้น
นอกจากนี้ สินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่อิงราคาตามตลาดโลก เช่น ราคาทองคำ ก็จะได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันกับราคาน้ำมัน ฉะนั้นการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวจึงต้องคำนึงถึงความผันผวนและแนวโน้มค่าเงินด้วย
วิธีจัดการกับค่าเงินที่ผันผวน ฉบับประชาชน
สำหรับประชาชนคนทั่วไปอย่างเรา ๆ วิธีการที่สะดวกและคนส่วนใหญ่คุ้นเคยในการแลกเงินตราต่างประเทศก็คือ ร้านรับแลกเงินทั่วไป (money changer) เพราะใช้เพียงแค่บัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว ยังมีวิธีการหลายอย่างที่จะช่วยให้เราได้ประโยชน์จากค่าเงินได้
วิธีแรก แลกเงินเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่พึงพอใจ อาทิ เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่ามามากพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ หากมีแผนจะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศควรติดตามข้อมูลเกี่ยวกับค่าเงินสำหรับวางแผนก่อน โดยสามารถติดตามข่าวสารได้จากรายงานภาวะตลาดแลกเปลี่ยนรายสัปดาห์บนเว็บไซต์ของ ธปท.
วิธีที่สอง ใช้ Travel Card หากไม่อยากถือเงินสดหรือไม่สะดวกไปแลกเงิน โดยสามารถแลกเงินล่วงหน้าแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ด้วยข้อดีเรื่องการใช้งานที่ง่ายและสะดวก คล้าย ๆ เป็น e-wallet ในสกุลเงินต่างประเทศ ที่สามารถนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้เลย หรือหากอยากถอนออกมาเป็นเงินสดตอนที่อยู่ต่างประเทศก็ทำได้เช่นกัน แต่อย่าลืมหาข้อมูลก่อนใช้บริการว่าธนาคารของเรารองรับสกุลเงินที่ต้องการจะแลกหรือไม่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน
วิธีที่สาม ผู้ที่ต้องการถือเงินตราต่างประเทศในระยะยาว สามารถฝากเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) ซึ่งเป็นอีกช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจเพราะนอกจากจะช่วยจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเหมือนบัญชีเงินออมทรัพย์ทั่วไปด้วย คล้าย ๆ กับการเปิดบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปกับธนาคาร เพียงแต่เป็นสกุลต่างประเทศ
สำหรับอัตราดอกเบี้ยก็ขึ้นกับสกุลเงินที่เราเปิดบัญชี อย่างเช่น หากฝากเงินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในบัญชี FCD ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง เราก็จะได้รับผลตอบแทนสูงเกือบร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการฝากเงินบาท
วิธีที่สี่ หากต้องการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน สามารถทำผ่านช่องทางการซื้อขาย USD Futures ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของไทย (Thailand Futures Exchange: TFEX) ซึ่งสะดวกกว่าการทำ FX forward กับธนาคารพาณิชย์ เพราะไม่ต้องแสดงหลักฐานด้านธุรกรรมต่างประเทศและไม่ต้องมีวงเงินกับธนาคารพาณิชย์ด้วย
สุดท้ายนี้ คงต้องยอมรับว่าการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากต้องทำอย่างถูกวิธีแล้ว ยังต้องอาศัยวินัยส่วนตัวด้วย แต่หากทำอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยทำให้เราไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของค่าเงิน และมีเวลาไปจัดการเรื่องอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เรื่อง : รังสิมา ศรีสวัสดิ์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส และนวมน อรรถไกวัลวที ผู้วิเคราะห์ ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท.
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ค่าเงินบาท
อัตราแลกเปลี่ยน
2 บันทึก
9
2
2
9
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย