13 ธ.ค. 2023 เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

📌ญี่ปุ่น เผย ความเชื่อมั่นบริษัทรายใหญ่ Q4/66 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บ่งชี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (13 ธ.ค.) ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทรายใหญ่ในญี่ปุ่น (ทังกัน) ในไตรมาส 4/2566 ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 12 จากระดับ 9 ในไตรมาส 3 นับเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นการบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง พร้อมส่งสัญญาณเชิงบวกไปยังธนาคารกลางญี่ปุ่น ก่อนเริ่มต้นการประชุมนโยบายที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า
ดัชนีความเชื่อมั่นของของบริษัทรายใหญ่ในญี่ปุ่นหรือทังกัน (Tankan) ในไตรมาส 4/2566 ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 12 จากระดับ 9 ในไตรมาส 3 นับเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน และสูงกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าอยู่ที่ระดับ 10
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิต ซึ่งรวมถึงภาคบริการ เพิ่มขึ้นแตะระดับ 30 ในไตรมาส 4 จากระดับ 27 ในไตรมาส 3 นับเป็นการปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 32 ปี และสูงกว่าคาดการณ์นักเศรษฐศาสตร์
นอกจากนี้ ผลสำรวจทังกันยังบ่งชี้ว่า บริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่น วางแผนที่จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านทุนอีก 13.5% ในปีงบการเงินที่สิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2567 ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 12.4%
ข้อมูลดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งชี้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะนำไปใช้ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นในการประชุมนโยบายครั้งต่อไป ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 ธ.ค.นี้ โดยที่ประชุมจะเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เนื่องจากจะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ที่บริษัทต่างๆ จะดำเนินการปรับขึ้นค่าจ้างจำนวนมากต่อไป ซึ่งธนาคารกลางญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะเป็นหนทางที่ดีเพื่อนำไปใช้ปรับนโยบายการเงิน
Shinichiro Kobayashi หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Mitsubishi UFJ Research and Consulting กล่าวว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทรายใหญ่ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัว” พร้อมกล่าวเสริมว่า “รายงานทังกันจะช่วยสนับสนุนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น กลับเข้าสู่ภาวะนโยบายทางการเงินอย่างปกติ”
ข้อมูลดังกล่าว เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในไตรมาสปัจจุบัน หลังจากที่ลดลงอย่างมากในช่วงก่อนหน้า โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี หดตัวที่อัตรา 2.9% ต่อปีในไตรมาส 3 เนื่องจากครัวเรือนต่าง ๆ หันมาควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ นาย ทาโร คิมูระ นักเศรษฐศาสตร์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า “รายงานทังกันดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าผลผลิตและการลงทุนอาจช่วยพยุงจีดีพีของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 เอาไว้ได้ แม้การเติบโตทั่วโลกที่ซบเซาจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกก็ตาม”
*************************************
หนังสือ e-book “เสี่ยงอย่างเทพ รวยอย่างเซียน”
***********************************
กด Follow & See First
ไว้เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสำคัญกันนะคะ
***********************************
โฆษณา