แนวโน้มอุตสาหกรรม รถยนต์ไฟฟ้า ทั่วโลกในอนาคต หนทางสู่ยานพาหนะพลังงานสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อม

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมียอดจดทะเบียนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปี 2023 กว่า 70,000 คัน มากขึ้นถึงเกือบ 400% จากปีที่แล้ว ด้วยมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐต่าง ๆ ส่งผลทางบวกต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเองก็มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน ซึ่งสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ International Energy Agency (IEA) ได้ศึกษาปัจจัยเกื้อหนุนของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ตีพิมพ์ในรายงาน Global EV Outlook 2023 โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
ภาพรวมแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ข้อมูลจากรายงานของ IEA
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตเกินเป้าและมีทิศทางบวกต่อเนื่องในปี 2023
ในปี 2022 ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 14% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด เติบโตจาก 9% ในปี 2021 โดยมีประเทศจีนเป็นผู้นำตลาด ครองส่วนแบ่งยอดขายถึง 60% ตามมาด้วยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่ครองส่วนแบ่ง 15% และสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับสาม โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียง 8% แต่ในด้านการเติบโตกลับพุ่งสูงถึง 55% จากตัวเลขการเติบโตของ 3 ประเทศข้างต้น IEA คาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ในปี 2023 จะอยู่ที่ 14 ล้านคัน เติบโตขึ้นถึง 35% ผลักดันให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกขยับขึ้นเป็น 18% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงติดอันดับสามประเทศข้างต้น แต่ยังถูกกล่าวถึงในรายงานร่วมกับอินเดียและอินโดนีเซีย ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตขึ้นเป็นสามเท่าในปี 2022 โดยที่ประเทศไทย มีสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 3% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งมากกว่าอีกสองประเทศที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 1.5%
ปี 2030 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์โลก จากนโยบายทางสิ่งแวดล้อมของหลายๆ ประเทศทั่วโลก
สถาบัน IEA คาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะมีสัดส่วนเป็น 35% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในปี 2030 โดยประเมินจาก Stated Policies Scenario (STEPS) หรือ นโยบายประกาศจริง ที่ประกาศโดยประเทศต่าง ๆ ที่สะท้อนและแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ในการกำหนดความต้องการในการใช้พลังงานประเภทต่าง ๆ ในปริมาณเท่าใดในแต่ละช่วงเวลาของอนาคต
จากการคาดการณ์ของ IEA ประเทศจีนจะยังคงเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2030 โดยส่วนแบ่งยอดขายจะลดลงไปอยู่ที่ 40% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ในขณะที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะมีส่วนแบ่งตลาดเติบโตขึ้นมาที่ 25% เนื่องด้วยปัจจัยเกื้อหนุนจากชุดนโยบายด้านกฎหมายพลังงานและสภาพภูมิอากาศ “Fit for 55” ที่กำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์ในปี 2030 ให้ลดลงอยู่ที่ 55% และ รถตู้ (vans) อยู่ที่ 50%
สำหรับสหรัฐอเมริกา แม้จะยังคงเป็นอันดับสาม แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นถึงสองเท่า โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 20% จากปัจจัยเกื้อหนุนของกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) หรือกฎหมายลดเงินเฟ้อ ที่มอบเครดิตภาษีเป็นมูลค่า 7,500 ดอลลาร์สำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามือหนึ่ง และ 4,000 ดอลลาร์สำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามือสอง
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับชาวอเมริกันที่มีรายได้ระดับปานกลาง (รายได้ก่อนหักภาษีไม่เกิน $150,000 ) อีกทั้งหาก กฎระเบียบ Advanced Clean Cars II (ACC2) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่วางเป้าหมายห้ามขายรถใช้น้ำมันภายในปี 2035 จะส่งผลให้สัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 50% จากตลาดรถยนต์ทั้งหมดของอเมริกา
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ปัจจัยเกื้อหนุนจากนโยบาย 30@30 โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี 2030 และมีการออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระยะที่สอง หรือที่เรียกว่า มาตรการ EV 3.5 โดยให้เงินอุดหนุน รถยนต์ไฟฟ้า 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยมีอัตราอุดหนุนตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท
ผู้ผลิตรถยนต์เร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ตอบสนองต่อการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น
ในปี 2022 มีจำนวนรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในตลาดอยู่ที่ 500 รุ่น เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากปี 2018 ซึ่งในประเทศจีนนั้น มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง นำเสนอรถยนต์ที่ราคาถูกลงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นหลักในประเทศกลุ่มยุโรปเริ่มเดินเครื่องเข้ามาในตลาดนี้อย่างจริงจัง ทำให้ในระหว่างปี 2022 ถึง 2023 ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายมีการประกาศข่าวเกี่ยวกับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ไปจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ ๆ
ในส่วนของพฤติกรรมผู้บริโภคของตลาดรถยนต์ไฟฟ้านั้น รถยนต์ SUV และรถยนต์ขนาดใหญ่ เป็นตัวเลือกยอดนิยมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2022 โดยที่รถยนต์กลุ่ม SUV คิดเป็น 60% ของตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในตลาดของประเทศจีนและกลุ่มยุโรป และยังมีสัดส่วนที่สูงยิ่งขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดย IEA ประเมินว่า จำนวนรถยนต์ SUV ในตลาด จะแทนที่การใช้น้ำมันกว่า 150,000 บาร์เรลต่อวัน
ในขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าประเภท 2 ล้อ และ 3 ล้อ เป็นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยที่ครึ่งหนึ่งของจำนวนยานยนต์สามล้อทั้งหมดที่จดทะเบียนในประเทศอินเดีย ในปี 2022 นั้น เป็นประเภทขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
นอกจากนี้ การขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังส่งผลให้ รถเพื่อการพาณิชย์ เริ่มมีการปรับมาใช้เป็นแบบไฟฟ้ามากขึ้น โดยมีจำนวนรุ่นในตลาดอยู่ที่ 220 รุ่น ในปี 2022
และในปีเดียวกัน ยอดขายของรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก (LCV) ที่ใช้ไฟฟ้าทั่วโลก มียอดขายเป็นจำนวนกว่า 310,000 คัน เติบโตขึ้นกว่า 90% เทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งในกลุ่มรถยนต์พาณิชย์ขนาดใหญ่ (HCV) ได้แก่ รถเมล์ไฟฟ้า มียอดขายอยู่ที่ 66,000 คัน คิดเป็นสัดส่วน 4.5% ของยอดขายรถประจำทางทั้งหมด และ รถบรรทุกหัวลากที่ใช้ไฟฟ้าทั่วโลก อยู่ที่ 60,000 คัน คิดเป็นสัดส่วน 1.2% ของยอดขายรถบรรทุกหัวลากทั้งหมด
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ความท้าทายในการผลิต เพื่อตอบสนองตลาดที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะถูกคาดการณ์ว่าจะแทนที่การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 5 ล้านบาร์เรล ในปี 2030 ลดการสร้างมลพิษทางอากาศได้ถึง 700 เมตริกตัน แต่การที่ผู้บริโภคตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นนั้น ส่งผลให้อุปสงค์ของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Li-ion) ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 550 GWh ในปี 2022 จาก 330 GWh ในปี 2021 เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 65%
อันเป็นผลให้อุปสงค์ของแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบหลัก (critical minerals) ของตัวแบตเตอรี่ Li-ion ประกอบไปด้วย ลิเธียม โคบอลต์ และนิกเกิล พุ่งสูงขึ้นเป็น 60% 30% และ 10% ตามลำดับ ดังนั้น ความต้องการแร่ธาตุ critical minerals ในตลาดโลกที่มากขึ้นโดยเฉพาะแร่ลิเธียม จะสร้างความท้าทายในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อจะตอบสนองต่อเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต ที่จะต้องลดการใช้แร่ธาตุดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ทางเลือกแทนที่การใช้ลิเธียมไอออน กำลังเริ่มปรากฏขึ้นในตลาด อย่างเช่นแบตเตอรี่ลิเธี่ยมฟอสเฟต (LFP) ที่เป็นแบตเตอรี่แบบดั้งเดิม และแบตเตอรี่โซเดียมไอออนที่เป็นเทคโนโลยี่ใหม่ที่กำลังถูกพัฒนาโดยประเทศจีน ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการผลิตแบตเตอรี่โซเดียมไอออนมากที่สุด โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 100 GWh
การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกยังคงจำกัดอยู่ภายในไม่กี่ประเทศ สร้างความตื่นตัวต่อนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้า
ประเทศจีนนอกเหนือจากจะเป็นผู้เล่นใหญ่ในตลาดค้าปลีกรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้หลาย ๆ ประเทศออกนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศ เพื่อลดการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า
อย่างเช่น Net-Zero Industry Act หรือ กฎหมายว่าด้วยอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่ถูกเสนอโดย คณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อเดือนมีนาคม 2023 และมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าภายในสหภาพยุโรป จะต้องมีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 550 GWh เพื่อเติมเต็ม 90% ของอุปสงค์สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
ทางด้านสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากกฎหมาย IRA จะมอบเครดิตภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีการระบุเงื่อนไขที่เข้มงวดเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านเครดิตภาษี ว่าจะต้องมีการประกอบอยู่ภายในแถบอเมริกาเหนือ ส่งผลให้ในช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนสิงหาคม 2022 จนถึงมีนาคม 2023 ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่หลายรายได้ประกาศว่า จะมีการลงทุนในการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในทวีปอเมริกาเหนือ มีมูลค่าลงทุนรวมถึง 52 พันล้าน USD
ในส่วนของประเทศไทยเอง นโยบาย 30@30 นอกเหนือจากจะมีการให้ให้เงินอุดหนุน รถยนต์ไฟฟ้า ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วนั้น ยังมีการให้เงินสนับสนุนสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์แก่บริษัทต่าง ๆ ไปกว่า 14 โครงการ เพื่อส่งเสริมการสร้างกำลังการผลิตให้ถึง 40 GWh ภายในปี 2030 เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของนโยบาย คือการผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ ภายในปี 2030 หรือประมาณ 7.25 แสนคัน
ถึงแม้ว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมจะมีทิศทางสดใส ทั้งในด้านยอดขายรถยนต์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และแรงสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับการให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และพลักดันอนาคตแห่งยานพาหนะพลังงานสะอาด ดังที่หลายนโยบายตั้งเป้าไว้ในปี 2030
แต่การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้านั้นยังมีอุปสรรคในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการสร้างความยั่งยืนให้กับวัตถุดิบแร่ธาตุ critical minerals ในการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า และการกระจายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นการแข่งขัน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆอุปสรรค ที่จะต้องคอยเฝ้าดูกันต่อไปว่า ประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลกจะมีการดำเนินการแก้ไขกันอย่างไร
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่
อ้างอิง
โฆษณา