15 ธ.ค. 2023 เวลา 03:00 • ความคิดเห็น

ความกดดันของผู้ปกครองที่มีต่อเด็ก

สถานการณ์การก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง “สยามพารากอน” จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน อายุเพียง 14 ปี เป็นสิ่งสะเทือนใจทุกคนที่ได้รับทราบข่าว สะท้อนปัญหาว่าอะไรคือปัจจัยให้ก่อเหตุร้ายแรง สถานการณ์การก่อเหตุโดยมีผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชนเกิดขึ้นทุกพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
บทเรียนนี้สำคัญทุกภาคส่วนจะละเลยปัญหาไม่ได้ ควรที่จะนำไปสู่การขยายผลที่ว่าปัจจัยของการก่อเหตุเป็นเพราะสาเหตุใด เกิดจากความกดดันจากครอบครัว เพื่อน หรือปัจจัยอื่นใดในสังคมที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจ
ดังนั้น ขอนำบทสัมภาษณ์สะท้อนมุมมองแง่คิด โดย ดร.ตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ผ่านรายการ ทันข่าววุฒิสภา ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ผ่านทาง https://www.facebook.com /SenateThailand/ videos/ 201234942985172 มานำ เสนอในหัวข้อ “ความกดดันของผู้ปกครองที่มีต่อเด็ก”
ที่มาภาพ : https://www.freepik.com
Q หากกล่าวถึงความรุนแรงที่มีผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชน อายุ 14 ปี ก่อเหตุความรุนแรงกราดยิงในห้างสรรพสินค้า “สยามพารากอน” ทำให้มีสูญเสียและได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นเรื่องสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการก่อเหตุที่มีความรุนแรงในพื้นที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีความรู้สึกกับเหตุการณ์นี้อย่างไร
A ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสียและเสียชีวิต ขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวเยาวชนผู้ก่อเหตุ เหตุการณ์นี้ไม่มีใครประสงค์จะให้เกิดความรุนแรงจึงไม่ควรกล่าวซ้ำเติมกัน ผมเห็นว่าเป็นบทเรียนสำคัญต้องได้รับการแก้ไขปัญหาป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำเหตุการณ์เดิม
และเห็นว่าการปลูกจิตสำนึกที่ดีควรเริ่มต้นที่สถาบันครอบครัวในการให้ความรัก อบรม เลี้ยงดูเอาใจใส่ รับฟังด้วยเหตุผล ไม่สร้างความกดดันการบังคับเคี่ยวเข็ญให้เด็กทำตามใจผู้ปกครองเกินความพอดี โดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาควรที่จะพิจารณาถึงศักยภาพ ทักษะความรู้ ความสามารถของบุตรหลานเป็นสิ่งสำคัญ โดยเชิงจิตวิทยาแนะแนวการศึกษาได้นำทฤษฏีและปัจจัยในการสังเกตพบได้ ดังนี้
๑) ผู้ปกครอง บิดา มารดา บุคคลในครอบครัว สังเกตพฤติกรรมลูกหลานจากการกระทำในสิ่งที่สนใจใฝ่เรียนไม่ว่าจะเป็นทักษะวิชาการหรือกีฬา
๒) ครู อาจารย์ สังเกตพฤติกรรมของนักเรียน โดยให้คำปรึกษาแนะแนวทิศทางการศึกษาที่เด็กมีความถนัด
๓) จากพฤติกรรมของเด็กที่มีความสนใจทักษะวิชาการหรือค้นคว้าด้วยตนอง จากพฤติกรรมการย้ำคิดย้ำทำสม่ำเสมอ
ที่มาภาพ : www.freepik.com
จากที่กล่าวมาจัดได้ว่าเป็นข้อสังเกตที่ผู้ปกครอง ตลอดจนครู อาจารย์ นำไปประเมินพฤติกรรมเบื้องต้นได้ และเห็นได้ว่าความสนใจทักษะวิชาการหรือการกีฬาจะปรับเปลี่ยนไปตามวัยและระดับการศึกษา ในสาธารณรัฐประชาชนจีนได้นำเทคโนโลยีระบบ Artificial lntelligence หรือ (AI) มาสำรวจพฤติกรรมนักเรียนในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนว่าแต่ละคนมีความสนใจทักษะวิชาการใดเป็นพิเศษ
สำหรับกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เด็กมีการเล่นและสนใจกีฬาก็จัดได้ว่าเป็นวิชาเรียนแขนงหนึ่ง ด้านการพัฒนาสุขภาพร่างกาย จิตใจอารมณ์ การมีระเบียบวินัย การอยู่ร่วมในสังคมกับผู้อื่น การรู้แพ้ รู้ชนะ ซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า พรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นคำสอนที่เรียบง่ายสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข
เห็นว่าการส่งเสริมทักษะความรู้ไม่ใช้เฉพาะการสอนในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการสอนแบบผสมผสานทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนก็สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ การฝึกฝนใน สัมมาอาชีพที่ตนสนใจจนมีความเชี่ยวชาญก็นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพอย่างมั่นคงได้ ไม่จำเป็นว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจะต้องเรียนเก่งหรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา
ประการต่อมาผมเห็นว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ข้อที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายสำคัญในการที่ ครู อาจารย์ และสถาบันการศึกษา นำไปปฏิบัติภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว สมควรที่จะนำมาทบทวนปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการการศึกษาที่มีความก้าวหน้าขึ้นตามยุคสมัย ก็ขอฝากนำเรียนคณะรัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ รวมถึงการพิจารณางบประมาณเพื่อนำไปพัฒนายกระดับการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญ
ที่มาภาพ : www.freepik.com
Q สถานการณ์การก่อเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้า “สยามพารากอน” ซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน อายุ 14 ปี นับว่าเป็นคดีอุจฉกรรจ์ร้ายแรง การเพิ่มโทษสำหรับคดีเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ก็เป็นประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหา มีความคิดเห็นอย่างไร
A เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดก็ต้องได้รับโทษซึ่งกฎหมายกำหนดบทลงโทษแตกต่างจากผู้ใหญ่ ขั้นตอนการดำเนินคดีมีเจตนารมณ์ที่มีบทบัญญัติมุ่งฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิดตามหลักเกณฑ์และให้โอกาสไม่ให้กระทำความผิดอีก
ภาครัฐจึงจัดให้มีสถานที่รองรับไม่ใช่ทัณฑสถานแบบผู้ใหญ่ เด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิดจะมีสถานที่รองรับในรูปแบบบ้านพักพิง ดั่งเช่น บ้านเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การก่อเหตุความรุนแรงของเด็กหรือเยาวชนนับว่าเป็นการถอดบทเรียนสำคัญ ดังนั้นต้องแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในสถานที่จัดกิจกรรมและท่องเที่ยวที่มีผู้มาเข้าร่วมงานมาก พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือตรวจตราและสแกนอาวุธ
เห็นว่าควรที่จะนำรูปแบบตัวอย่างมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นำมาประยุกต์ใช้ซึ่งเป็นมาตรการเข้มงวดส่งผลดีแก่ทุกฝ่าย หากปราศจากการป้องกันละเลยปัญหาก็นำไปสู่ผลกระทบหลายประการรวมถึงด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้จำนวนมาก
ที่มาภาพ : www.freepik.com
ฝากนำเรียนคณะรัฐบาล ผู้ประกอบการ ตลอดจนทุกภาคส่วน รวมถึงสถาบันครอบครัว บิดา มารดา และครูอาจารย์ ร่วมกันสอดส่องดูแลบุตร หลาน หรือนักเรียนในปกครอง มอบความรักความเข้าใจ การเอาใจใส่อย่างมีเหตุผล พร้อมทั้งรับฟังชี้แนะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยปราศจากการบังคับเคี่ยวเข็ญหรือสร้างความกดดันก็จะช่วยให้สภาพจิตใจของบุตรหลานหรือนักเรียนในปกครอง เติบโตอย่างมีคุณภาพไม่ก่อปัญหาให้แก่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ครับ
*ที่มา : บทสัมภาษณ์ ดร.ตวง อันไชย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา จากรายการ ทันข่าววุฒิสภา ทาง https://www.facebook.com /SenateThailand/ videos/ 201234942985172
เรียบเรียงโดย : นางอรวรรณ วัชรีวงศ์ ณ อยุธยา วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์
ที่มาภาพ : www.freepik.com
โฆษณา