15 ธ.ค. 2023 เวลา 07:17 • ความคิดเห็น

การป้องกันปัญหาการสวมสิทธิเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดของประเทศไทย

ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานให้แก่เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ส่งออกด้วยมูลค่ามหาศาล เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภคสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองชิงต่าว ระบุว่าในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ประเทศไทยส่งออกทุเรียนเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกทุเรียนเป็นจำนวน ๖๒๑,๐๐๐ ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจำนวน ๑๓๕,๐๐๐ ตัน เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยส่งออกทุเรียนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนคิดเป็นร้อยละ ๙๓ ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั่วโลก
เนื่องจากตลาดทุเรียนในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้น แม้ว่าปี พ.ศ. ๒๕๖๔ สาธารณรัฐประชาชนจีนจะสามารถปลูกทุเรียนได้แล้ว แต่ยังคงมีปริมาณผลผลิตน้อยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าทุเรียนสดจากต่างประเทศ ในขณะที่ทุเรียนก็ยังเป็นที่ต้องการในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนมีปริมาณความต้องการบริโภคทุเรียนคิดเป็นร้อยละ ๑๙ ของความต้องการบริโภคทุเรียนทั่วโลก
ประกอบกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอนุญาตให้ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ที่สามารถส่งออกทุเรียนสดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ ซึ่งทำให้ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากการวิเคราะห์อนาคตทุเรียนไทย : โอกาสหรือความเสี่ยง โดยเทียบสถานการณ์ ๑๐ ปี (ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๓) ที่ผ่านมา และแนวโน้ม ๕ ปี ข้างหน้า (ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๘) ของผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับสถาบันทุเรียนไทย พบว่า ทุเรียนไทยได้รับโอกาส ๕ ประการ คือ
๑) โอกาสส่งทุเรียนไปจำหน่ายในมณฑลชั้นในของสาธารณรัฐประชาชนจีน
๒) โอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
๓) ทุเรียนเฉพาะถิ่น และทุเรียนอัตลักษณ์ท้องถิ่นจะได้รับความนิยมมากขึ้น
๔) โอกาสพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืชตามมาตรฐานหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช (Good Manufacturing Practice : GMP) และมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตร
ที่ดีสำหรับพืช (Good Agriculture Practices : GAP)
๕) โอกาสในตลาดใหม่ คือ ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และประเทศอินเดีย
แต่ในขณะเดียวกันทุเรียนไทยก็มีความเสี่ยง ๙ ประการ คือ
๑) สาธารณรัฐประชาชนจีนอาจอนุญาตให้มีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศอื่นด้วย
๒) ประเทศไทยขาดระบบตรวจสอบย้อนกลับ
๓) ขาดเครื่องมือการตรวจสอบการนำทุเรียนอ่อนปะปนอยู่ในสินค้าส่งออก
๔) สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการตรวจเข้มงวดมากขึ้น
๕) สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการปลูกทุเรียนและพัฒนาสายพันธุ์ของตนเอง
๖) ประเทศไทยเน้นส่งออกทุเรียนสดมากกว่าทุเรียนแปรรูป
๗) ประเทศไทยขาดบรรจุภัณฑ์ในการยืดอายุทุเรียนสด
๘) มีการสวมสิทธิเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดของประเทศไทย
๙) ตลาดถูกควบคุมโดยโรงงานคัดบรรจุ (ล้ง)
ประเทศผู้ส่งออกทุเรียนที่สำคัญของโลก
สำหรับปัญหาการสวมสิทธิเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดของประเทศไทยนั้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชาสามารถผลิตทุเรียนได้มากขึ้น และมีความได้เปรียบทุเรียนไทย เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำกว่า อีกทั้งภูมิประเทศยังอยู่ใกล้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนทำให้ต้นทุนการส่งออกของประเทศดังกล่าวต่ำกว่าของประเทศไทย
ดังนั้น หากยังมีการสวมสิทธิทุเรียนไทยลักลอบส่งออกทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพหรือทุเรียนอ่อนไปยังตลาดต่างประเทศจะทำให้ภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยตกต่ำสูญเสียความน่าเชื่อถือ และในที่สุดอาจจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านได้
ทั้งนี้ วิธีการลักลอบนำทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิทุเรียนไทย มี ๓ กรณี คือ
๑) การลักลอบนำทุเรียนข้ามแดนมาในลักษณะผ่านช่องทางธรรมชาติหรือใช้วิธีการสำแดงเท็จผ่านด่านถาวร เมื่อเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว นำไปบรรจุกล่องปะปนกับทุเรียนของประเทศไทยสวมสิทธิใบรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) แล้วนำส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน
๒) นำทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังประเทศไทยแล้วนำไปรอไว้ที่ประเทศต้นทาง จากนั้นจึงลักลอบนำตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่มีสินค้าไปขอเอกสารการส่งออก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อได้เอกสารการส่งออกแล้วจึงนำไปสวมสิทธิตู้คอนเทนเนอร์ ที่เตรียมไว้และส่งออกสินค้าไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน
๓) ไม่มีทั้งทุเรียนและตู้คอนเทนเนอร์ มีเพียงใบรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ปลอม แล้วนำไปสวมสิทธิที่ประเทศเพื่อนบ้านโดยอ้างว่าเป็นทุเรียนของประเทศไทย
สำหรับแนวทางการป้องกันปัญหาการสวมสิทธิเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดของประเทศไทยนั้นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๖ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยว่า กรมศุลกากรได้ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริง กรณีมีการจับกุมการลักลอบนำเข้าทุเรียนจากชายแดน
ซึ่งต่อมากรมวิชาการเกษตรได้มีการประชุมร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนและกำหนดมาตรการป้องกันการสวมสิทธิอย่างชัดเจนและตรวจสอบได้ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑) ให้ผู้ตรวจประเมินมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืชตามมาตรฐานหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืชของหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยงานอื่นที่กรมวิชาการเกษตรมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจรับรองตามมาตรฐาน GMP ดำเนินการตรวจโรงคัดบรรจุทุเรียนให้เป็นไปตามหลักการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ (ผลไม้ที่ส่งออกทั้งผลและเปลือก) ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการตรวจรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืชตามมาตรฐานหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช พ.ศ. ๒๕๕๓
ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ที่มาภาพ https://www.freepik.com
๓) โรงงานผลิตสินค้าพืช (ล้ง) จะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. ๒๕๖๓ หากนำการขึ้นทะเบียนไปใช้หรืออ้างอิงถึงในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรืออาจทำให้เข้าใจผิดในการได้รับการขึ้นทะเบียนนั้น ๆ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งเตือนผู้ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ใบ DOA) และชี้แจงปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง
หากไม่ปฏิบัติตาม ให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาระงับใบ DOA จนกว่าผู้ได้รับใบ DOA จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและแจ้งการแก้ไขเป็นลายลักษณ์อักษร และในกรณีที่กรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่า การไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าความปลอดภัยอาหาร ซึ่งเป็นกรณีที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ หรือส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศเป็นส่วนรวม หรือมีข้อผูกพันทางการค้ากับประเทศผู้นำเข้า กรมวิชาการเกษตรจะสั่งระงับหรือยกเลิกใบ DOA ก็ได้
ทั้งนี้ ตามประกาศดังกล่าว ข้อ ๗.๓ และข้อ ๘.๑.๓ ประกอบข้อ ๘.๔ ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้แจ้งว่า หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ใบ DOA) ของโรงงานผลิตสินค้าพืช (ล้ง) ไม่สามารถเช่า หรือให้เช่าใบ DOA เพื่อใช้ส่งออกสินค้าพืชได้
๔) ดำเนินการแจ้งให้ด่านตรวจพืชทุกด่านที่ทำหน้าที่รับคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (แบบ พ.ก. ๗) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบใบรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชให้ถูกต้อง
หากตรวจสอบพบว่า ผู้ส่งออกหรือโรงงานผลิตสินค้าพืช (ล้ง) มีเจตนาแจ้งหรือให้ข้อมูลกับทางราชการในการขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate: PC) อันเป็นเท็จให้ดำเนินคดีกับผู้ส่งออกหรือโรงงานผลิตสินค้าพืชนั้น ฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
๕) ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ กรมวิชาการเกษตรได้มีการตั้งของบประมาณโครงการพัฒนาแอปพลิเคชันตรวจสอบปริมาณผลผลิตทุเรียน เพื่อจัดทำการเชื่อมโยงระหว่างฐานข้อมูล GAP กับระบบออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto) เพื่อให้เกษตรกรสามารถบันทึกข้อมูลการขายผลผลิต วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว และปริมาณผลผลิตทุเรียนในแต่ละฤดูกาล
ทำให้สามารถคำนวณปริมาณผลผลิตเพื่อประกอบการขอใบรับรองสุขอนามัยพืช PC กับด่านตรวจพืชได้แบบรายงานผลได้ทันที (Real Time) โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ยืนยันข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วยตนเอง โดยจะเป็นการตรวจสอบย้อนหลังระหว่างเกษตรกร โรงคัดบรรจุ และผู้ประกอบการ ทำให้สามารถป้องกันการสวมสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ นอกจากแนวทางการป้องกันการสวมสิทธิเป็นผู้ส่งออกทุเรียนของกรมวิชาการเกษตรแล้วในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศ โดยอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศได้รับแจ้งข้อมูลและได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรว่ามีกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีลักลอบนำเข้าผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากรสำหรับสินค้า ที่มีถิ่นกำเนิดและส่งออกจากประเทศไทยไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้รับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากร ศุลกากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน
ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมศุลกากร ที่ ๒๑๘/๒๕๖๔ เรื่อง หลักเกณฑ์
และพิธีการและการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ข้อ ๔ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการปลอมแปลงถิ่นกำเนิดส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทยเป็นอย่างมาก
โดยตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ จนถึงปัจจุบัน กรมการค้าต่างประเทศได้เฝ้าระวังการสวมสิทธิผลไม้ไทยที่ส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E สำหรับสินค้าผลไม้ จำนวน ๑๒ รายการ ได้แก่ มังคุดสด ทุเรียนสดและแช่แข็ง ส้มโอสดและแห้ง ลำไยสด มะพร้าว ขนุน น้อยหน่า สับปะรด มะม่วง กล้วย ชมพู่ และเงาะ
เนื่องจากสินค้าดังกล่าว อยู่ในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง (Watch-List) ของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งจะมีขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E ที่เข้มงวดและรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยผู้ยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E จะต้องแสดงเอกสารประกอบการพิจารณา ดังนี้
๑) ใบกำกับสินค้า (Invoice)
๒) ใบตราส่งสินค้าประเภทต่าง ๆ (B/L, AWB, Truck Bill ฯลฯ)
๓) แบบขอรับการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด เพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร (สินค้าพิกัดศุลกากรตอนที่ ๐๑-๒๔) ระบุข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
(๑) ข้อความยืนยันแหล่งที่มาของสินค้าในประเทศที่ขอรับหนังสือรับรองฯ
(๒) วันที่ส่งออก
(๓) ด่านที่ส่งออกของไทย
(๔) ประเภทยานพาหนะ เช่น เรือ เครื่องบิน รถบรรทุก ฯลฯ
(๕) ชื่อยานพาหนะ
๔) หนังสือรับรองว่าเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและผลิตถูกต้องตามหลักเกณฑ์การผลิต ภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศผู้ให้สิทธิ (หนังสือรับรองกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)
๕) เอกสารหลักฐานอื่นที่แสดงการได้มาซึ่งวัตถุดิบ/สินค้า ที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ เช่น ใบเสร็จซื้อขาย เป็นต้น ในที่นี้หมายรวมถึง
(๑) ใบเสร็จซื้อขาย ที่มีข้อมูลของการได้มาซึ่งวัตถุดิบ/สินค้าครบถ้วน เช่น ผู้ซื้อ ผู้ขาย ที่อยู่ ชื่อสินค้า ปริมาณ เป็นต้น
(๒) สลิปโอนเงิน / Mobile Banking ที่มีข้อมูลครบถ้วน
(๓) บิลเงินสด ที่เขียนด้วยลายมือ และมีข้อมูลครบถ้วน
(๔) ใบส่งสินค้า / ใบรับของ ที่แสดงข้อมูลครบถ้วน
(๕) ใบสำคัญจ่าย
(๖) PO (Purchase Order)
ทั้งนี้ หากเอกสารอย่างหนึ่งอย่างใดที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ตามข้อ ๑-๖ เพื่อแสดงถึงการได้มาซึ่งวัตถุดิบ/สินค้า มีข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ ผู้ประกอบการสามารถแนบเอกสารจากกรมวิชาการเกษตร อาทิ
• ใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP)
• หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA)
• รายงานการปฏิบัติงานตรวจผลไม้ส่งออก ณ โรงคัดบรรจุ
• ป้ายหรือฉลากแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์มาประกอบการยื่นขอหนังสือรับรองฯ Form E เพื่อแสดงถึงการเชื่อมโยงข้อมูลของแหล่งที่มาซึ่งวัตถุดิบ/สินค้า หรืออ้างอิงข้อมูลให้ทราบว่าเป็นการซื้อขาย/โอนเงิน จากสวนผลไม้หรือโรงคัดบรรจุ (ล้ง) นั้น เพิ่มเติมได้
ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกระทำผิด กรมการค้าต่างประเทศจะดำเนินการตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง มาตรการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าต่อผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๓ (๒) ง และวรรคท้าย โดยให้ผู้ส่งออกแสดงเอกสารหลักฐานการผลิตเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง
ตามหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าของสินค้าทุกชนิด ก่อนยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทุกประเภทที่ส่งออกไปยังทุกประเทศ
และหากผู้ส่งออกไม่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องของหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าได้ กรมการค้าต่างประเทศจะพิจารณาเพิกถอนการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าที่ผลิตไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า หรือเพิกถอนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ถูกตรวจสอบแล้วแต่กรณี
ที่มาภาพ https://www.freepik.com
นอกจากนี้ ในการส่งออกผลไม้ของประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. ๒๕๖๔ ข้อ ๙ (๑) ถึง (๓) ที่กำหนดให้ผลไม้ที่ส่งออกต้องมาจากสวนผลไม้หรือโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานศุลกากร ของประเทศจีน (General Administration of Customs of the People's Republic China: GACC) แล้วเท่านั้น
โดยเจ้าของสวนผลไม้จะได้รับใบรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agricultural Practices: GAP) ส่วนเจ้าของโรงคัดบรรจุ (ล้ง) จะได้รับหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ใบ DOA) ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร
เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. ๒๕๖๓ รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ เช่น รายงานการปฏิบัติงานตรวจผลไม้ส่งออก ณ โรงคัดบรรจุ ป้าย หรือฉลากแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์
โดยกรมวิชาการเกษตรได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนดังกล่าวกับสำนักงานศุลกากรจีน เพื่อยืนยันความถูกต้องของแหล่งที่มาของผลไม้ ดังนั้น หากผู้ส่งออกรับซื้อผลไม้จากสวนหรือโรงคัดบรรจุ (ล้ง) สามารถนำเอกสารดังกล่าวข้างต้นมาแนบประกอบการยื่นขอ Form E เพื่อแสดงความเชื่อมโยงของข้อมูลการได้มาซึ่งวัตถุดิบหรือสินค้าที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ตามที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนดแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าดังกล่าวเป็นการป้องกันการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าผลไม้
เพื่อให้ประเทศไทยได้รับความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่าผลไม้
ที่ส่งออกจากประเทศไทยเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยจริง อีกทั้งยังช่วยรักษาความเชื่อมั่นเกี่ยวกับมาตรฐาน ภาพลักษณ์ และชื่อเสียงของผลไม้ไทยในตลาดโลกอีกด้วย
ในส่วนของผู้เขียนมีความเห็นว่า เพื่อให้ประเทศไทยได้รับความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศคู่ค้าว่า ทุเรียนที่ส่งออกจากประเทศไทยเป็นทุเรียนที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศไทยอย่างแท้จริง ดังนั้น การสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดของทุเรียนไทย จึงเป็นปัญหาสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐตลอดจนภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดแก่เกษตรกรสวนทุเรียนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นแก่เกษตรกรสวนทุเรียนที่ส่งทุเรียนออกจำหน่ายในทุกภาคของประเทศไทย เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียนภายในประเทศ อันเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการที่สุจริต
นอกจากนี้ มาตรการต่าง ๆ ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ยังจะช่วยรักษาภาพลักษณ์สร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานและส่งเสริมชื่อเสียงของทุเรียนไทยในตลาดโลกต่อไป
บทความโดย
นางสาวพันธุ์ทิพา หอมทิพย์ วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานกฎหมาย ๒ สำนักกฎหมาย
อ้างอิง
ชนิฎา ช่วยนะ และอติ ไทยานันท์, “การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการส่งออกทุเรียนสดของไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน A Study of Factors Influencing the Export of Durians from Thailand to the People’s Republic of China,”
การประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๐, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๒, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๖, https://app.gs.kku.ac.th/gs/th/publicationfile/item/20th-ngrc-2019/HMO39/HMO39.pdf.
กระทรวงพาณิชย์ (DITP), “ศุลกากรจีนเผยปี ๒๐๒๑ จีนนำเข้าทุเรียนสูงเป็นประวัติการณ์,” สืบค้นเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖, https://www.ditp.go.th/contents_attach/761525/761525.pdf.
กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร “ระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการตรวจรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืชตามมาตรฐานหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม,” สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖, https://www.doa.go.th/psco/wp-content/uploads/2020/12/gmp.pdf.
ระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการรับรองผลิตพืชตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช พ.ศ. ๒๕๖๖, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑๕๓ ง (๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๖), ๑-๖, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖, https://gap.doa.go.th/web_manual/manual_1/GAP2566.pdf.
ประชาชาติธุรกิจ, “ทุเรียนไทย เตรียมขึ้นแท่นเบอร์ ๑ ผู้ผลิตป้อนตลาดโลกทะลุ ๒ ล้านตัน ปี ๖๘,” สืบค้นเมื่อวันที่
๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖, https://www.prachachat.net/economy/news-640039.
กรมส่งเสริมการเกษตร, “แนวทางการดำเนินการป้องกันแก้ไขทุเรียนอ่อนในภาพรวม ระดับภาค ปี ๒๕๖๔,” สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๖, https://xn--42ca1c5gh2k.com/wp-content/uploads/2021/08/10.-01-รูปเล่มโมเดลทุเรียนอ่อนภาคตะวันออก.pdf.
PPTV Online, “ชำแหละขบวนการสวมสิทธิ-สอดไส้ทุเรียนไทย,” ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖, สืบค้นเมื่อวันที่
๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖, https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/199987.
ระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการตรวจรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืชตามมาตรฐานหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๗, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๖, https://www.doa.go.th/psco/wp-content/uploads/2020/12/gmp-41.pdf.
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑, ราชกิจจานุเบกษา, ๑๓๔ ตอนพิเศษ ๒๒๑ ง (๘ กันยายน ๒๕๖๐), น. ๕๑, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๖, https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/221/51.PDF
พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๓๗ ก (๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑), น. ๑-๒๕, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๖, https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=686091&ext=pdf.
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๖๓, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๑๙๕ ง (๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๓), น. ๑-๖,สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๖, https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/195/T_0001.PDF.
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. ๒๕๖๓, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๙๓ ง (๒๒ เมษายน ๒๕๖๓), น. ๕๒, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๖, https://www.doa.go.th/psco/wp-content/uploads/2020/05/T_0052.pdf.
คำขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (แบบ พ.ก. ๗), สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๖, https://www.doa.go.th/covid-19/document/ard/%E0%B8%9E%E0%B8%817.pdf.
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๙๕ ฉบับพิเศษ (๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙), น. ๔๑, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๖, https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=443287&ext=pdf.
กรมวิชาการเกษตร “ระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ประกอบการ,” สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๖, https://e-phytoexporter.doa.go.th/Home/Register.
GCC, “กรมการค้าต่างประเทศ เดินหน้าป้องกันการสวมสิทธิและลงโทษผู้ส่งออกที่ลักลอบนำเข้าผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้าน,” สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๖, https://www.gcc.go.th/?p=109855.
สำนักบริการการค้าต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ (DFT), “คู่มือการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับเจ้าหน้าที่,” น. ๒๗-๓๓, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๖, https://www.dft.go.th/Portals/0/คู่มือประชาชน/คู่มือ%20(เจ้าหน้าที่)01072563.pdf.
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๓๒๐ ง, (๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔), น. ๙๐, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๖, https://www.customs.go.th/data_files/70b31bc6bcfb5f69586d724cba929620.pdf.
กรมการค้าต่างประเทศ “การขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E สินค้าผลไม้ที่อยู่ในบัญชีสินค้าเฝ้าระวัง (Watch List) ๑๒ รายการ,” สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖, https://www.dft.go.th/th-th/DetailHotNews/ArticleId/18180/18180.
โฆษณา