15 ธ.ค. 2023 เวลา 13:00 • การเมือง

เทียบขึ้นค่าแรงไทย-อังกฤษ ขับเคลื่อนด้วยแรงด่า สภาและพรรคการเมือง ???

ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังถกเถียงเรื่องการขึ้นค่าแรงของแรงงานไทยกันอย่างเมามัน สนั่นพระนคร ว่าประเทศไทยควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างไรดี การขึ้นค่าแรงนั้นเหมาะสมไหม นักลงทุนและนายจ้างจะมีเงินจ่ายให้กับแรงงานหรือไม่ เพราะการขึ้นค่าแรงอาจส่งผลกระทบให้นายทุนย้ายไปลงทุนที่ประเทศอื่นที่มีค่าแรงถูกกกว่า จนอาจทำให้เศรษฐกิจไทยนั้นมีปัญหา
มองแบบผิวเผินเหมือนรัฐจะห่วงนายทุนมากเกินไปจนมองข้ามผู้ใช้แรงงานที่ต้องอยู่อย่างกัดฟันด้วยเดือนชนเดือนในประเทศไร้รัฐสวัสดิการ ขณะที่ในต่างประเทศ อย่างอังกฤษ เสียงของแรงงานดูจะถูกรับฟังมากกว่า จากประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ดุเดือดสะเทือนบัลลังก์นายทุน จนต้องยอมขึ้นค่าแรงโดยไม่อิดออด
The Modernist พาย้อนชมและเปรียบเทียบวิธีการขึ้นค่าแรงของไทย-อังกฤษ เปรียบว่าทั้งสองประเทศมีกระบวนการอย่างไร ขับเคลื่อนด้วยอะไร แรงด่า สภาและพรรคการเมือง หรือไม่ จะได้รู้วิธีการและสามารถเอาอดีตมามองย้อนดูปัจจุบันได้ถึงรสถึงชาติ หาใช่แต่มองว่าเศรษฐกิจและการลงทุนจะพังโดยไม่สนใจชีวิตผู้ใช้แรงงาน
ชีวิตแรงงานอังกฤษ ขับเคลื่อนด้วยแรงด่า สภาและพรรคการเมือง
ปัจจุบัน อังกฤษประเทศขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีเงินเดือนสูงจนแรงงานไทยหรือแรงงานในประเทศอื่นๆ ต่างใฝ่ฝันจะไป เพื่อแลกมาซึ่งเงินในกระเป๋าที่กินใช้อย่างสบาย แต่ใครจะเชื่อว่าในอดีตนั้น แรงงานในอังกฤษก็เคยถูกกดขี่เรื่องค่าจ้างมาเหมือนกัน
ในศตวรรษที่ 18 ทั่วยุโรป รวมถึงในประเทศอังกฤษ ได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ค.ศ.1750 – 1850) สิ่งที่มาแทนแรงงานคนก็คือเครื่องจักร ซึ่งมีผลทำให้ค่าแรงของคนนั้นถูกลง ประกอบกับมีการอพยพเข้าสู่เมืองที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมณฑลแลงคาเชียร์ มณฑลวอริกเชียร์ การอพยพโยกย้ายเข้ามาในเมืองอุตสาหกรรมดังกล่าว แน่นอนว่าย่อมทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนไม่ได้รับการใส่ใจ ขณะที่นายทุนเริ่มกดขี่แรงงาน เนื่องจากมีคนต้องการทำงานมาก แต่อัตราการรับเข้าทำงานมีจำกัด
ประกอบกับกฎหมายอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 18 ยังล้าหลังอยู่ เช่น กฎหมายช่วยเหลือคนจน (Old Pool Law) ที่จำกัดการช่วยเหลือให้กับคนจนที่มีภูมิลำเนาในเขตนั้นๆ นั่นเท่ากับว่าแรงงานหน้าใหม่ที่เข้ามาในเขตหรือในเมืองที่ไม่ใช่ภูมิลำเนา ย่อมทำให้เขาไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล
นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยของแรงงานอังกฤษในยุคนั้นแม้จะมีราคาถูก แต่ก็มีสภาพย่ำแย่ ถึงขนาดต้องเช่าห้องพักที่แออัดสกปรกอยู่ร่วมกับครอบครัวอื่นๆ ที่พักบางแห่งมีสัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่ในที่พักร่วมกับคน อีกทั้งยังอับชื้น น้ำรั่วจากอาคารที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย
คุณภาพชีวิตของแรงงานอังกฤษยุคนั้นจึงเรียกว่ายากแค้นแสนเข็ญ ทำให้พวกเขาตัดสินใจรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มของตนไม่ว่าจะเป็น กลุ่มคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มช่างฝีมือ กลุ่มลูกจ้างในไร่ และต่อมานำไปสู่การตั้งสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ
แต่ใช่ว่าแรงงานอังกฤษจะรวมกลุ่มตั้งสหภาพกันได้อย่างสบายใจ เพราะอังกฤษในยุคนั้น กฎหมายอยู่ในมือกลุ่มทุนและขุนนาง เช่น กฎหมายต่อต้านช่างทำหมวก ช่างทำกระดาษ กฎหมายห้ามชุมนุมประท้วง กฎหมายห้ามชุมนุมของพลเมือง (ค.ศ.1799) แต่ก็ไม่อาจสกัดกั้นการจัดตั้งสหภาพแรงงานต่างๆ จนกระทั่งนำไปสู่ขบวนการชาร์ทิสต์ (ค.ศ.1838 – 1848) ที่เรียกร้องสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎรให้กับชนชั้นแรงงานในที่สุด
ใน ค.ศ.1867 ได้มีการลดเพดานถือครองทรัพย์สินลง ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเลือกผู้แทนราษฎรของตนเข้าในสภามากยิ่งขึ้น ประกอบกับใน ค.ศ.1871 มีกฎหมายรับรองการมีอยู่ของสหภาพแรงงานอย่างชัดเจน ทำให้พวกเขาสามารถชุมนุมประท้วงและนัดหยุดงานเรื่องค่าจ้าง ทำให้ชาวอังกฤษมีสหภาพที่เปรียบเสมือนเครื่องด่าเคลื่อนที่ สามารถต่อรองกับนายทุนได้อย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสหภาพเป็นปากเป็นเสียงต่อรองกับนายทุนนอกสภาอย่างเข้มแข็ง แต่กระนั้นกลุ่มผู้ใช้แรงงานของอังกฤษก็ยังไม่มีปากมีเสียงในสภาที่ทำหน้าที่ออกฎหมายอยู่ดี ส่งผลให้เขาต้องพึ่งพรรคอนุรักษ์นิยมหรือพรรคเสรีนิยม (ซึ่งค่อนข้างเอียงมาทางพรรคเสรีนิยมมากกว่า)
แต่ด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยในอังกฤษเอง ที่ได้รับผลพวงจากแนวคิดสังคมนิยมที่กำลังแพร่ไปทั่วยุโรป จึงได้มีการจัดตั้งสมาคมเฟเบียน สหพันธ์สังคมประชาธิปไตย หรือพรรคการเมืองอย่างพรรคแรงงานอิสระ นำโดย เจมส์ แคร์ ฮาร์ดี ที่สร้างความตกตะลึงในสภา เพราะมีผู้แทนจากสายแรงงานได้รับเลือกเข้ามาในสภาสามัญของอังกฤษ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต
กลุ่มแรงงานดังกล่าวได้เห็นพ้องกันว่า ไม่จำเป็นต้องพึ่งพรรคเสรีนิยมอีกต่อไป ประกอบกับคนจากพรรคเสรีนิยมอย่าง เจมส์ แรมเซย์ แมกโดนัลด์ ได้ลาออกจากพรรคเสรีนิยมมาเข้าร่วม กลายเป็นมือไม้สำคัญให้ฮาร์ดี ทำให้เขาสามารถประสานกลุ่มแรงงานต่างๆ จัดตั้งคณะกรรมาธิการผู้ใช้แรงงานได้สำเร็จใน ค.ศ.1900 และมีคนของกลุ่มคอยเข้าสภาทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง สนับสนุนนโยบายที่ให้ประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน ในปี ค.ศ.1906
เมื่อคนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้รับเลือกเข้าสภาถึง 29 คน จึงมีการก่อตั้งพรรคแรงงาน พร้อมกับมีคนจากพรรคเสรีนิยมตามมาสมทบเข้าพรรคแรงงานด้วย
ในที่สุด ใน ค.ศ.1924 พรรคแรงงานประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งแมกโดนัลด์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของพรรคได้สำเร็จ และเมื่อมีนโยบายต่างๆ ที่สนับสนุนผู้ใช้แรงงาน หนึ่งในนั้นคือการขึ้นเงินเดือน การสร้างสวัสดิการให้กับผู้ใช้แรงงาน พรรคแรงงานเองจะเป็นผู้สนับสนุนในสภา
ในหน้าประวัติศาสตร์อังกฤษเราจะเห็นการรวมกันประท้วงของสหภาพแรงงานของอังกฤษต่อรัฐบาล ซึ่งต่อมาพรรคแรงงานในสภาผู้แทนราษฎรจะรับเรื่อง ยิ่งมีฝ่ายบริหารหรือนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคแรงงาน ยิ่งสนับสนุนการขึ้นค่าแรงและสวัดิการให้กับแรงงานต่อมาเรื่อยๆ
ทำให้เราเห็นว่านอกสภาอังกฤษมีการขับเคลื่อนเรื่องค่าแรงด้วยการด่าจากสหภาพแรงงาน พร้อมกับฝ่ายการเมืองก็คือสภาและพรรคการเมืองของพวกเขาก็คือพรรคแรงงาน เรียกได้ว่าครบองค์ประกอบที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ใช้แรงงาน พร้อมงัดข้อกับนายทุนมากกว่าจะมองเรื่องการลงทุนหรือเศรษฐกิจ เพราะพวกเขาเกิดมาเพื่อแรงงาน และทำเพื่อชนชั้นแรงงาน
ขึ้นค่าแรงไทย ฝันไกล แต่ติดตอที่ชื่อนายทุน
เมื่อมองย้อนกลับมาประเทศไทย แดนสวรรค์ของนายทุน ที่มีสถิติออกมาว่าเศรษฐีไทยหรือกลุ่มคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศมีความสุขมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และเป็นประเทศที่อาจพูดได้ว่า สมการทางการเมือง คือการจับมือของกลุ่มอำนาจและกลุ่มทุน คอยผูกขาดผลประโยชน์ทางการเมือง ธุรกิจ และเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อเอกภาพของสหภาพแรงงานอย่างมาก
การต่อสู้ของแรงงานไทยนั้นมีมานานกว่า 100 ปี จากหลักฐานเอกสารพบว่า แรงงานไทยเริ่มมีการนัดหยุดงานของกรรมกรรถราง บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด (Siam Electrical Co. Ltd) ใน พ.ศ. 2465 (ค.ศ.1922) เพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรมจากนายจ้าง (ซึ่งเมื่อเทียบเคียงเวลาแล้ว ตรงกับช่วงที่แรงงานอังกฤษกำลังขับเคลื่อนก่อตั้งสหภาพแรงงานพอดี) และในสมัยนั้นยังมีการนัดหยุดงานของแรงงานจีนที่ทำงานในไทยอีกหลายครั้ง ที่สำคัญคือ ยุคนั้นยังอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียด้วย
ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1939) ซึ่งตรงกับสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การนัดหยุดงานของแรงงานเริ่มมีมากขึ้น มีการจัดตั้งสมาคมวิชาชีพต่างๆ ให้แรงงานรวมตัวกัน เช่น สมาคมกรรมกรโรงสีและข้าวสาร สมาคมกรรมกรโรงเลื่อย ฯลฯ ซึ่งมีการนัดประชุมเพื่อวางแผนในการดำเนินงาน ไม่ต่างกับสหภาพแรงงานในประเทศอื่น เป็นภาพสะท้อนว่าขบวนการเรียกร้องสิทธิแรงงานไทยเป็นไปตามปกติของสากลโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อการเมืองไทยเริ่มผันผวน คณะราษฎรหมดบดบาทลง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมค่อยๆ กลับมามีอำนาจ จนมาถึง พ.ศ.2500 (ค.ศ.1957) ถึงแม้จะมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานกว่า 154 แห่ง แต่เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร ได้มีการยกเลิก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ออกกฎหมายห้ามแรงงานนัดชุมนุม นัดหยุดงาน รวมกลุ่มกันในโรงงาน แรงงานโดนข่มขู่ คุกคาม
ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับสนับสนุนนายทุนและทุนนิยม ซึ่งสวนทางกับการสนับสนุนคุณภาพชีวิตของแรงงาน ทำให้แรงงานต้องทนอยู่กับการกดค่าแรง และการไม่มีสิทธิมีเสียงตลอด 15 ปี ของระบอบเผด็จการที่เอื้อนายทุน
พลังของแรงงานไทยกลับมาอีกครั้งเมื่อระบอบสฤษดิ์-ถนอม เสื่อมอำนาจลง ประกอบกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่มีการนัดหยุดงานทั่วประเทศถึง 501 ครั้ง มากกว่า พ.ศ. 2514 ที่มีการนัดหยุดงานเพียง 27 ครั้ง โดยแรงงานหลากหลายอาชีพได้ร่วมกันต่อสู้ เช่น กลุ่มกรรมกรโรงงานทอผ้านับหมื่นคนร่วมชุมนุมที่สนามหลวงใน พ.ศ. 2517 โดยกดดันนายจ้างจนต้องยอมปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 16 บาท เป็นวันละ 25 บาท ส่วนกลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจมีการประท้วงขอปรับเงินเดือนและสวัสดิการ จนเป็นผลสำเร็จเช่นกัน
สิทธิเสรีภาพของแรงงานไทยชะงักงันอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำไปสู่การรัฐประหารจัดตั้งรัฐบาลขวาจัด ของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เจ้าของฉายารัฐบาลหอย การประท้วงถูกสั่งห้าม ผู้นำกรรมกรถูกจับ ผู้มีแนวคิดสังคมนิยมเพื่อชนชั้นแรงงานต้องหนีเข้าป่า มีการทำลายกระบวนการประสานความร่วมมือระหว่างนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ค่าจ้างขั้นต่ำถูกกดไม่ให้ขึ้นมาอย่างยาวนาน สวนทางกับสถานการณ์โลก ที่มีภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น กว่าจะขึ้นอีก 3 บาท เป็น 28 บาทต่อวัน ต้องรอเกือบ 3 ปี
ต่อมาใน พ.ศ. 2534 เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำการยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
รสช. เล็งเห็นถึงการรวมกลุ่มประท้วงของสหภาพแรงงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจ จึงได้ออกกฎหมายแบ่งแยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ที่ครั้งในอดีตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม สามารถเรียกร้องสิทธิให้กับแรงงาน ที่มุ่งเน้นให้มีการเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เท่ากับว่านับตั้งแต่นั้นมา แรงงานเอกชนและแรงงานรัฐวิสาหกิจได้แยกออกจากกัน นำไปสู่การแบ่งชนชั้นกันระหว่างพนักงานเอกชนและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
จากอดีตที่เคยร่วมกันต่อสู้ แต่ปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการที่พนักงานรัฐวิสาหกิจได้สวัสดิการที่ดีกว่าพนักงานเอกชนเรื่อยมา สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งแยกและปกครองอย่างชัดเจน
แน่นอนว่าวิธีการกดแรงงานให้ต่ำลง ทั้งเรื่องการเรียกร้อง การรวมกลุ่ม เรื่องเงินเดือน และสวัสดิการ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือนายทุน และเป็นที่น่าสังเกตว่า หลายครั้ง การรัฐประหารมักจะตามมาด้วยการกดขี่แรงงาน นั่นหมายความว่า การรัฐประหารอาจเกิดขึ้นเพื่อรักษาอำนาจของคนบางกลุ่ม ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน
เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยต้องปรับขึ้นอีกครั้ง
และแล้วก็มาถึงยุคปัจจุบันการหาเสียงเป็นเรื่องสำคัญ นโยบายต่างๆ ที่ประกาศต้องทำให้ดึงดูดผู้คนให้มาเลือกพรรคของตนเข้าไปเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยเองก็มีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และผู้ที่จบปริญญาตรีต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 บาท
รัฐบาลเพื่อไทยเองก็พยายามผลักดันนโยบายนี้ โดยส่งเรื่องให้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ที่เห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 เพิ่มขึ้นวันละ 2-16 บาท หรือเฉลี่ย 2.37% แต่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น กระทรวงแรงงาน จึงขอเสนอกลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง คาดว่าจะนำกลับเข้ามาใน ครม. ก่อนสิ้นปี 2566 นี้
แสดงถึงนัยยะว่ายังตกลงกันไม่ได้เสียทีเดียว ทั้งๆ ที่ก่อนเลือกตั้งประกาศไว้อย่างสวยหรู ควรตั้งคำถามหรือไม่ว่าติดตอที่อะไร?
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีคณะกรรมการไตรภาคีในการพูดคุยเจรจาเสนอเรื่องสวัสดิการและการขึ้นค่าแรง แต่หากพิจารณาแล้ว คณะกรรมการไตรภาคีประกอบไปด้วยรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รัฐบาลมักจะสนับสนุนฝั่งนายจ้างหรือนายทุนมากกว่าฝ่ายลูกจ้างเสมอ และลูกจ้างแรงงานก็ไม่ได้มีสิทธิมีเสียงมากพอที่จะต่อสู้กับอำนาจดังกล่าว จึงไม่มีอะไรที่จะรับประกันว่า แรงงานยุคนี้จะได้รับสวัสดิการหรือค่าแรงที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ที่สถานการณ์สิทธิแรงงานไทยยังไม่ชัดเจน ภายใต้รัฐบาลเหล้าใหม่ในขวดเก่า ก็ต้องรอลุ้นว่าฝันเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของไทยจะไปได้แค่ไหน จะเป็นเช่นไร แต่เมื่อมองไปที่อังกฤษขึ้นได้ไม่หวั่นเรื่องการลงทุน หรือวาทกรรมนักลงทุนโดดหนีเป็นเพียงลมปากของนายทุนที่ไม่อยากเสียผลประโยชน์ในประเทศนี้กันแน่ แต่ที่แน่ๆ 15,000 ยุคนี้สมัยนี้ไม่พอกินแล้ว
เรื่อง : ณัฐชัย นาคสุข
ภาพ : กานต์ ราชวรรณดี
- การเมืองการปกครองไทย : พัฒนาการการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ.2475-2540) .ภูริ ฟูวงศ์เจริญ .มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย .คริส เบเกอร์ ,ผาสุก พงษ์ไพจิตร.มติชน.
- การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ .ทักษ์ เฉลิมเตียรณ .มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
- ชีวิตและสังคมชนชั้นแรงงานอังกฤษในคริสต์ศตวรรษษที่ 19 .ชาคริต ชุ่มวัฒนะ .ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
โฆษณา