16 ธ.ค. 2023 เวลา 02:56 • การเกษตร

“หมูเถื่อน” ปัจจัยทำลายห่วงโซ่การผลิตหมูไทยและเส้นทางสู่ครัวโลกที่ยั่งยืน

สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ
4 บริบทอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยที่ถูก “หมูเถื่อน” เบียดบังและบิดเบือน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอด 50 ปีที่ผ่านมา จากการเลี้ยงในเล้าหลังบ้านไว้บริโภคในครัวเรือนโดยให้เศษอาหารที่เหลือเป็นอาหารของหมู สู่การเลี้ยงเชิงพาณิชย์ ตามมาตรฐานสากล มีการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ให้เหมาะกับการเติบโตของสัตว์ทุกช่วงวัย
ตลอดจนนำเทคโนโลยีการเลี้ยงที่ทันสมัยมาใช้ในโรงเรือนระบบปิด ซึ่งช่วยในการป้องกันโรคสัตว์และควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาดสู่ภายนอก ควบคู่กับการดูแลสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ให้สัตว์สุขภาพดี ไม่ป่วย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ทำให้การเลี้ยงสุกรและคุณภาพเนื้อหมูของไทยทัดเทียมกับมาตรฐานโลก ปลอดภัย สร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแนวทาง “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” แต่ “หมูเถื่อน” กลับเป็นตัวทำลายสำคัญ
บริบทที่ 1 ในห่วงโซ่การเลี้ยงสุกรของไทย (Supply Chain) เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ตั้งแต่ชาวไร่ผู้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง ต้องมาจากแหล่งที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องดำเนินการตามมาตรฐานสากล ผู้ปรับปรุงพันธุ์สัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยง โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป และผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการทั้งหมด ต้องปฏิบัติตามมาตรการและกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การผลิตเนื้อหมูในระบบอุตสาหกรรมของไทยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ซึ่งทุกขั้นตอนยังมีการถ่ายทอดและส่งเสริมผู้มีส่วนได้เสียให้มีส่วนร่วมดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) สร้างหลักประกันความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของผู้บริโภคปลายทาง แต่การเข้ามาของหมูเถื่อนทำให้การตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่ทำได้ยาก
บริบทที่ 2 ระหว่างปี 2564-2566 นับเป็นช่วงเวลาวิกฤตของอุตสาหกรรมสุกรของไทย หลังรัฐบาลประกาศพบโรคระบาด ASF ในประเทศ ทำให้ผลผลิตหมูขุนและแม่พันธุ์สุกรหายไปจากระบบ 50% ราคาหมูปรับขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ หมูเนื้อแดงที่เคยราคาหน้าเขียงระดับ 120-150 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2565 พุ่งขึ้นไปสูงเกินกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม ตามกลไกตลาดอุปสงค์ (Demand) สูง แต่อุปทาน (Supply) ไม่เพียงพอ ราคาจึงจำต้องปรับ
นายทุน-พ่อค้า ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากประเทศบราซิล เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน เป็นต้น เพื่อทำกำไรส่วนต่างจากราคาที่แตกต่างกันกับหมูไทย เนื่องจากหมูเถื่อนจากประเทศเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าหมูไทยมาก เพราะอยู่ในแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์ ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มในประเทศเหล่านี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 35-45 บาทต่อกิโลกรัม มาถึงเมืองไทยราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 70-80 บาท เห็นกำไรสูงแน่นอนเมื่อเทียบกับหมูไทยในปี 2565 เฉลี่ยที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม
บริบทที่ 3 “หมูเถื่อน” จะเข้าประเทศไทยไม่ได้ หากไม่มีข้าราชการและนักการเมือง “นอกรีต” ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ทุจริตต่อหน้าที่ อำนวยความสะดวกให้มิจฉาชีพนำเข้าเนื้อเถื่อน กอบโกยผลประโยชน์เป็นของส่วนตน แต่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ที่สำคัญ
หมูเถื่อนมาจากประเทศที่ยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำลายสุขภาพคนไทย ขณะที่หมูไทยปลอดภัยสูงเพราะห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงเด็ดขาดมาหลายสิบปี อย่างไรก็ตาม แม้จะไล่ล่าตัวผู้กระทำผิดกันมานานเกือบ 2 ปี แต่ก็ยังไม่ได้ตัว “ผู้บงการ” ความเสียหายยังคงปรากฏให้เห็น คือ ราคาหมูตกต่ำ เกษตรกรขาดทุนสะสมนานกว่า 10 เดือน
ถึงวันนี้เกษตรกรยังขายหมูหน้าฟาร์มได้ราคาปริ่มๆ กับต้นทุนการผลิต คือเฉลี่ยที่ 68-74 บาทต่อกิโลกรัม (ราคาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ วันที่ 12 ธันวาคม 2566) โดยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 80-85 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เกษตรกรทั่วประเทศประกาศราคาที่อยู่ได้คือ 81-82 บาทต่อกิโลกรัม หลังเคยโดนหมูเถื่อนถล่มราคาตกต่ำมาอยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม จนต้องแบกขาดทุนสะสมกันยาว ผู้เลี้ยงจำนวนไม่น้อยถอดใจเลิกเลี้ยงหมู ที่เหลืออยู่ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะไปต่อได้อีกนานเท่าไร
บริบทที่ 4 ประสบการณ์หมูเถื่อนครั้งนี้ ควรนำไปสู่การปรับปรุงและสร้างมาตรฐานใหม่มีกฎหมายควบคุมการผลิตที่เข้มแข็งและการตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการจัดระบบตรวจสอบย้อนกลับในภาคปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร (From Farm to Table)
กล่าวคือ เริ่มจากพ่อแม่พันธุ์ สุกรขุนในฟาร์ม วัตถุดิบอาหารสัตว์ (ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาได้และมีเพียงพอต่อความต้องการ) การทำฟาร์มมาตรฐานเพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาด โรงฆ่าสัตว์ต้องได้มาตรฐานและมีการตรวจสอบสม่ำเสมอ อย่าให้เกิดช่องโหว่ก่อการทุจริต รับเงินใต้โต๊ะได้เช่นที่ผ่านมา
สำคัญที่สุดคือ ทุกประเทศล้วนมีกฎหมายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคของตน การนำเข้า-ส่งออกเนื้อสัตว์ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบสุขอนามัยและระเบียบปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่นำเข้า-ส่งออกได้ตามอำเภอใจ เพื่อยืนยันแหล่งที่มาปราศจากการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ประเทศไทยก็เช่นกันมีกฎและระเบียบการนำเข้า
เพื่อปกป้องคนไทยให้มีอาหารปลอดภัย และส่งเสริมให้ไทยเดินตามเป้าหมายสู่การเป็น “ครัวของโลก” ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งหมดทั้งปวงนี้ขอให้นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เดินหน้าการปราบปรามหมูเถื่อนอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องจนกว่าได้ตัว “ผู้บงการ” มาลงโทษตามกฎหมาย เพื่อหยุดหายนะของอุตสาหกรรมหมูไทยให้ได้
โฆษณา