Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สองหมีขยี้หนัง
•
ติดตาม
16 ธ.ค. 2023 เวลา 12:27 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
รู้หน้าไม่รู้ใจ / You can never truly know anyone
แจ้งก่อนเลยครับว่า บทวิเคราะห์นี้เปิดเผยเนื้อหาของหนัง 4 Kings II และ สมมติ จึงเหมาะกับผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง มาแล้วเท่านั้นนะครับ
มีประเด็นที่น่าสนใจจากหนังทั้ง 2 เรื่องนี้ ก็เลยจับเอามันมาวิเคราะห์เล่นๆ ตั้งใจจะเขียนมา 2-3 วันแล้ว แต่สัปดาห์นี้ติดอีเวนท์รอบสื่อฯ รอบปฐมทัศน์ มาทุกวัน เพิ่งจะมีวันนี้แหล่ะที่ว่าง
ประเด็นที่ว่าคือเรื่องของ ตัวตน ในหนัง 4 Kings ภาคแรก เราได้รู้จักกับตัวละคร ยาท เด็กบ้าน ที่มีดีกรีความบ้าคลั่งแบบไร้เหตุผลเป็นครั้งแรก โดยส่วนตัวมองว่าเป็นตัวร้ายที่น่าจดจำตัวหนึ่งของวงการหนังไทย หนังภาคแรกจบลงที่ตัวละครนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตัวละครหลักต้องเผชิญกับชะตากรรมและจุดจบในช่วงท้ายเรื่อง
เมื่อมีการทำ 4 Kings II ออกมาเป็นหนังภาคต่อ ทางผู้สร้างก็หยิบเอาตัวละคร ยาท เด็กบ้าน กลับมาใส่ไว้ในหนังอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เค้ากลับมาในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะหนังให้ภาพเบื้องลึกและเบื้องหลังที่เป็นข้อมูลที่ทำให้รู้สึกอึ้งในชีวิตและชะตากรรมของตัวละครตัวนี้ แล้วมันเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้เราเข้าใจถึงที่มาที่ไปว่าทำไมมันถึงได้โกรธแค้นเด็กในระดับที่บ้าคลั่งได้ถึงขนาดนั้น
แต่ในขณะเดียวกันหนังภาค 2 ได้ให้ภาพของตัวละครตัวนี้ในอีกมุมหนึ่งที่เป็นคนที่รักพวกพ้องและรักครอบครัวเป็นที่สุด เป็นพี่ใหญ่ที่ลูกน้องให้ความเคารพ เป็นลูกน้องที่นอบน้อมต่อเจ้านาย เป็นหลานที่รักตา และเพื่อนบ้านที่ดีมีน้ำใจช่วยเหลือ เรียกได้ว่าเป็นตัวตนในอีกด้านหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจ เห็นใจ และสงสารตัวละครตัวนี้ไปพร้อมกับความรู้สึกที่กลัวและรังเกียจเมื่อความบ้าคลั่งเข้าครอบงำในขณะที่เผชิญหน้ากับกลุ่มเด็กช่าง
ต้องขอบคุณผู้เขียนบทและผู้กำกับเลยจริงๆที่สามารถเพิ่มมิติให้กับตัวละครตัวนี้ได้แบบรอบด้าน ทำให้ตัวละครตัวนี้กลายเป็นตัวละครที่มีชีวิตจิตใจและมีความเป็นมนุษย์สูงกว่าตัวละครหลักฝั่งเด็กช่างทั้งจากภาค 1 และภาค 2 เลยด้วยซ้ำไป
ในขณะที่หนัง สมมติ ที่ว่าว่าด้วยเรื่องความคิดและมุมมองตลอดจนความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวในยุคสมัยปัจจุบันที่ต่างคนต่างก็สร้างตัวตนใหม่ที่ทั้งคู่ต่างก็รับรู้กันดีว่าที่รู้จักกันนั้นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของทั้งคู่เลย
หนังเปิดเรื่องมาด้วยตัวละคร นนท์ ที่เป็นหนุ่มหล่อเจ้าสำราญ มีความเป็นศิลปิน ทั้งที่ตัวตนที่แท้จริงนั้นเป็นพนักงานออฟฟิศของบริษัทหลักทรัพย์ที่ชื่อ หนุ่ม เค้าได้มาเจอกับหญิงสาวที่ชื่อว่า เดียร์ ผ่านโลกออนไลน์ แล้วจบลงด้วยความสัมพันธ์กันโดยที่ทั้งคู่ตกลงที่จะไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงระหว่างกัน
หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ นนท์ / หนุ่ม ก็เลยทำให้เราในฐานะคนดูได้รู้จักตัวละครตัวนี้ทั้ง 2 มุมมอง บทหนังฉลาดมากในการให้ภาพตัวละคร เดียร์ ที่จนแล้วจนรอด หนังจบแล้ว เราก็ไม่เคยได้รับข้อมูลอะไรที่เป็นจริงเลยว่า เดียร์ เป็นใคร บ้านอยู่ไหน ทำงานอะไร คุยกับใครกี่คน ฯลฯ สาเหตุก็เพราะ นนท์ ไม่รู้ เราก็เลยไม่รู้ตามไปด้วย
หนังหยิบเอาประเด็นเรื่องของความสัมพันธ์ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนส่วนหนึ่งยึดถือปฏิบัติกันจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว รูปแบบความสัมพันธ์อย่างนี้ถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ได้มารับรู้ก็คงขนหัวลุกไปกับความใจถึงและกายถึงของคนสมัยนี้
การมีอยู่ของ social networking ที่เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนสามารถสร้างตัวตนใดๆขึ้นมาก็ได้ แล้วนำเสนอตัวตนนั้นขึ้นมาในโลก แล้วโลกก็จะรับรู้ถึงการมีอยู่และรู้จักตัวตนนั้นโดยที่ไม่เคยได้รู้เลยว่าเจ้าของตัวตนที่ว่าแท้จริงแล้วเป็นใคร
นนท์/หนุ่ม รู้จัก เดียร์ ในแบบที่เธอต้องการให้เขารู้จัก เมื่อฝ่ายชายพยายามรุกล้ำเส้นแบ่งระหว่างตัวตนสมมติและตัวตนที่แท้จริงของเธอ ปฏิกิริยาตอบสนองในการป้องกันตัวตนที่แท้จริงก็ทำงาน เธอถอยห่าง ตัดความสัมพันธ์ และหายไปจากชีวิต นนท์/หนุ่ม ทันที ในขณะที่เดียเองก็รู้จัก นนท์ เท่านั้น เธอไม่เคยรับรู้ว่า หนุ่ม เป็นใคร และดูเหมือนว่าเธอเองก็ไม่ได้อยากจะรู้ด้วยซ้ำไป เธอตั้งมั่นอยู่ในฝั่งของเธอ โดยไม่ได้คิดจะข้ามเส้นแบ่งตัวตนที่ทั้งคู่ตกลงกันไว้เลยแม้แต่น้อย
หนังจบลงด้วยความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้น นนท์/หนุ่ม ยืนเดียวดายเคว้งคว้างอยู่ริมทะเล ในขณะที่ เดียร์ ก็หายไปจากโลกของเค้าอย่างไร้ร่องรอย เมื่อ end credits ขึ้นมา ก็เพิ่งรู้สึกตัวตอนนั้นเองว่า เราในฐานะคนดู ไม่มีโอกาสที่จะได้รู้จัก เดียร์ เลยว่า ที่จริงแล้วเธอเป็นใคร
ตัวละคร ยาท เด็กบ้าน ที่เรารู้จักในหนังภาคแรก มีเพียงมิติแห่งความบ้าคลั่งเพียงมิติเดียว แต่เมื่อหนังภาคสองจบลง เรากลับเข้าใจ สงสาร เห็นใจและเกลียดมันไม่ลงเหมือนตอนจบของภาคแรก ในมุมมองของตัวละครด้วยกัน คุณตาของยาท ก็คงมองว่าหลานเป็นคนดี กตัญญูรู้คุณ ตัวละคร บุ้ง พี่สาวของ บ่าง หนึ่งในตัวละครหลัก ก็คงเห็น ยาท เป็นคนที่เอื้ออาทร มีจิตใจดี ให้ความช่วยเหลือ แต่ถ้ามองจากมุมมองของตัวละครเด็กช่างจากทั้ง 2 ภาค ยาท เด็กบ้าน คือตัวละครที่ถ้ากำจัดทิ้งได้ พวกเขาคงทำโดยไม่ลังเล
ตัวละคร นนท์/หนุ่ม และ เดียร์ จากหนัง สมมติ คือภาพสะท้อนที่ของค่านิยมของคนในยุคปัจจุบันที่ชัดเจนที่สุด นนท์ คือ หนุ่มเจ้าสำราญ หนุ่ม คือ พนักงานออฟฟิศ ทีถ้าตัวละคร 2 ตัวแยกกัน ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อตัวละคร นนท์ จะเป็นจะตายกับการล้ำเส้นตัวละคร เดียร์ ตัวละคร หนุ่ม ก็เลยเดือดร้อนไปด้วย เพราะการงานได้รับผลกระทบ
ในขณะที่ตัวละคร เดียร์ ก็ลอยลำไปในมุมมองของ นนท์/หนุ่ม เพราะล้ำเส้นเข้าไปไม่สำเร็จแล้วเธอก็หายหน้าไปจากชีวิตเขา แต่ถ้าเอามาคิดต่อ เดียร์ เองก็คงมีปัญหาของเธอด้วยเช่นกัน แต่ในเมื่อหนังมันไม่ได้เล่าผ่านมุมมองของเธอ เราก็เลยรู้จักเธอเท่ากับที่ นนท์/หนุ่ม รู้จัก
รู้หน้าไม่รู้ใจ / You can never truly know anyone. คือประเด็นสำคัญที่มีอยู่ในหนัง 4 Kings II และ สมมติ ที่บังเอิญเข้าฉายไล่เลี่ยกันและยังอยู่ในโรงทั้งคู่ เรื่องแรกกระแสแรงกว่าและยังมีรอบให้ดูอยู่ได้ทั้งวัน ส่วนเรื่องที่สอง สเกลเล็กกว่าและอาจจะไม่ได้อยู่ในกระแสเลยด้วยซ้ำไป รอบฉายในหลายวันที่ผ่านมาคือมีน้อยมาก ไม่แน่ใจนะว่าวันนี้ยังมีรอบเหลือให้ดูหรือเปล่า ทั้ง 2 เรื่องมีความดีงามอยู่ในตัวมันเองทั้งคู่ ถ้ามีโอกาสก็ลองไปสัมผัสกันดูนะครับ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย