19 ธ.ค. 2023 เวลา 01:56 • สิ่งแวดล้อม

ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก

ผมว่างเว้นจากการเขียนบทความใน Blockdit ไปช่วงหนึ่ง สาเหตุเพราะไปทำตัวเป็นมือปืนรับจ้าง ทำรายงานให้โครงการกึ่งวิจัยกึ่งพัฒนาชนบทที่ได้รับเงินทุนจากองค์กรระหว่างประเทศ
หัวข้อที่ไปทำรายงานนั้นเป็นเรื่องว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง
การได้กลับมาจับงานแบบนี้อีกครั้งทำให้ได้สัมผัสกับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและให้ความรู้สึกว่าใกล้ตัวกว่าการอ่านบทความหรือผลงานเขียนของผู้อื่น
เรื่องน่าตกใจนิดหน่อยที่พบคือ อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นที่ศึกษาใกล้เคียงหรือในบางเดือนสูงกว่าการคาดการณ์ในอีก 15 ปีข้างหน้าไปเรียบร้อยแล้ว
มันทำให้นึกถึงบทความที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ว่าด้วยการที่ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกถูกทะลุทะลวงไปเรียบร้อยแล้ว
มาเริ่มกันตรงขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกก่อนว่ามันคืออะไร
คำนี้ออกจะเป็นคำใหม่ในภาษาไทยและฟังดูแล้วมันน่ากลัว ทั้งที่ในความเป็นจริงต้นฉบับภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Earth system boundaries หรือในบางครั้งก็ใช้สลับกับคำว่า Planetary boundaries ซึ่งฟังดูออกจะงงๆ ไม่เข้าใจความหมาย แต่ไม่ได้น่ากลัวเท่าไร
คำนี้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2009 โดยนักวิทยาศาสตร์จาก Stockholm Resilience Centre และ Australian National University ซึ่งตีพิมพ์ผลงานร่วมกัน [1] ในผลงานฉบับนั้นได้ระบุสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวชี้วัดขีดจำกัดความมปลอดภัยของโลกไว้ 10 เรื่องด้วยกัน คือ
1 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
2 การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
3 การปนเปื้อนของไนโตรเจนในสภาพแวดล้อม
4 การปนเปื้อนของฟอสฟอรัสในสภาพแวดล้อม
5 การสูญเสียโอโซนในชั้นบรรยากาศสตาร์โทสเฟียร์
6 การที่ชั้นผิวน้ำของมหาสมุทรเป็นกรดมากขึ้น
7 อัตราการใช้น้ำจืดทั่วโลก
8 การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน
9 ปริมาณอนุภาคแอโรโซลในชั้นบรรยากาศ
10 การปนเปื้อนของสารเคมีจากภาคอุตสาหกรรมในสิ่งแวดล้อม
เอกสารวิชาการฉบับนี้ไม่ได้พิมพ์แล้วพิมพ์เลย แต่ได้ถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกและมีการปรับปรุงเงื่อนไขตัวชี้วัดต่างๆ ให้สอดคล้องกับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันอยูาเสมอ
ซึ่งเมื่อต้นปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็ได้มีเอกสารอีกฉบับหนึ่งที่สรุปสถานการณ์ล่าสุดออกมา[2] ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่สถานการณ์สภาพแวดล้อมหรือขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกจะถูกทะลุทะลวงจนย่ำแย่กว่าเดิม
ในเอกสารฉบับล่าสุดนี้ ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกผ่านการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเหลือเพียง 8 ข้อด้วยกัน คือ สภาพภูมิอากาศ, มลพิษในอากาศ, การปนเปื้อนของไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในแหล่งน้ำ ซึ่งสองข้อนี้ถูกรวมเป็นข้อเดียวกันเพราะมีที่มาหลักเดียวกันคือจากภาคการเกษตร, ปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งน้ำผิวดินและใต้ดิน, การทำงานหรือ function ของระบบนิเวศตามธรรมชาติ และระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยทั้งหมดคือปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพชีวิตของประชากรโลก
ในหัวข้อสภาพอากาศ ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสจากเมื่อก่อนยุคอุตสาหกรรมที่ถูกใช้เป็นฐานอ้างอิงเรียบร้อย ผลที่ตามมาคือความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างที่เราประสบกันอยู่ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตของเราท่านทุกคน
นอกจากนี้แล้วปริมาณอนุภาคขนาดเล็กในอากาศซึ่งเป็นตัวการหนึ่งในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เพิ่มมากขึ้น เร่งรัดกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้รวดเร็วขึ้น ไม่นับว่าในปัจจุบันประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 85 ต้องหายใจในสภาพอากาศที่มี PM 2.5 มากกว่าค่ามาตรฐาน 15 ไมโครดกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจจนมีอายุสั้นลง
การปนเปื้อนของไนโตรเจนและฟอสฟอรัสโดยเฉพาะในแหล่งน้ำ เป็นการเติมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของแพลงค์ตอนและสาหร่าย ซึ่งหากมากเกินไปจะพืชสองจำพวกนี้สามารถขยายพันธ์จนการสังเคราะห์แสงของมันลดปริมาณออกซิเจนในน้ำลง ส่งผลให้กุ้งหอยปูปลาที่หายใจเอาออกซิเจนในน้ำต้องล้มตาย นอกจากนี้การปนเปื้อนของไนเตรตในแหล่งน้ำสำหรับการบริโภคยังเป็นภัยต่อสุขภาพด้วย[3]
จากการประเมินล่าสุด การปนเปื้อนของไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในแหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินของทั้งโลกอยู่ในระดับปริ่มๆ จวนจะทะลุขีดจำกัดความปลอดภัยแล้ว
ในแง่ของปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ได้มีการตั้งตัวเลขขึ้นมาว่า สำหรับน้ำผิวดิน ไม่ควรมีการดึงน้ำจากลำน้ำมาใช้เกินกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณน้ำที่มีในแต่ละเดือน ซึ่งเท่ากับ 7,630 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปีทั้งโลก หาไม่แล้วจะก่อความเสียหายต่อระบบนิเวศทางน้ำบนแผ่นดินและอาจลุกลามไปสู่ระบบนิเวศบกด้วย
ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเลขปัจจุบันยังน้อยกว่าค่าผลรวมนี้ แต่เมื่อแตกย่อยลงไปดูในแต่ละลุ่มน้ำ (ใหญ่ๆของโลก) พบว่าร้อยละ 44 ของลุ่มน้ำทั้งโลกมีการดึงน้ำมาใช้เกินกว่าขีดจำกัดร้อยละ 20 ในขณะที่ประชากรโลกเกินกว่าครึ่งหนึ่งมีปริมาณน้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ส่วนน้ำใต้ดินเองมีบทบาทสำคัญในการหล่อเลี้ยงการมีน้ำในลำน้ำในช่วงฤดูแล้ง หล่อเลี้ยงระบบนิเวศชายฝั่งน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ ตราบเท่าที่เรายังสูบน้ำบาดาลในอัตราไม่เกินอัตราการเติมน้ำตามธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรน้ำบาดาลให้เป็นประโยชน์ก็ย่อมดีกว่านั่งทับไว้เฉยๆ เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ในอัตราที่เราใช้น้ำบาดาลกันอยู่ทั้งโลก แหล่งน้ำบาดาลร้อยละ 47 อยู่ในภาวะที่ขาดดุล คือน้ำที่ถูกดึงขึ้นมาใช้น้อยกว่าน้ำที่เติมลงไปในแต่ละปี
สองข้อสุดท้ายซึ่งดูจะเป็นเรื่องไกลตัวคือระบบนิเวศธรรมชาติและระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น เนื่องจากระบบนิเวศทั้งสองแบบมีบทบาทโดยตรงต่อความเป็นดีอยู่ดีของมนุษย์เราทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการเก็บกักหรือควบคุมการหมุนเวียนของคาร์บอน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสภาพอากาศ การหมุนเวียนของน้ำในวัฎจักรทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ความเสถียรของระบบการเกษตรที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเราอยู่ ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนแล้วขึ้นกับการทำงานของระบบนิเวศทั้งสิ้น ในเอกสารฉบับที่อ้างถึงได้กำหนดว่าพื้นแผ่นดินทั้งโลกควรมีพื้นที่ที่เป็นระบบนิเวศธรรมชาติอย่างน้อยร้อยละ 50-60 ซึ่งเราใช้ที่ดินเพื่อการอื่นเกินตัวเลขนี้ไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนในระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างนั้น ได้กำหนดให้มีพื้นที่ชีวมณฑลเล็กๆ ที่ควรจะมีองค์ประกอบของพันธ์ไม้ท้องถิ่นเป็นหลักอย่างน้อยร้อยละ 20-25 ต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงเอาการอยู่เมื่อพิจารณาสภาพท้องไร่ท้องนาที่กว้างขวางสุดลูกหูลูกตา หรือเมืองขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการประเมินพบว่าระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างนี้ไม่ได้ทำหน้าเกื้อกูรความเป็นดีอยู่ดีของเราอย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งหมดนี่จะไม่ถึงกับทำให้โลกแตกดับลงในระยะเวลาอันสั้น แต่น่าสนใจว่าเราจะทิ้งโลกแบบไหนไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน
 
อ้างอิง
1. "A safe operating space for humanity". Nature. 461 (7263): 472–475. Bibcode:2009 Nature.461..472R. doi:10.1038/461472a. ISSN 0028-0836. PMID 19779433. S2CID 205049746.
2. Rockström, J., Gupta, J., Qin, D. et al. Safe and just Earth system boundaries. Nature 619, 102–111 (2023). https://doi.org/10.1038/s41586-023-06083-8
3. Ward MH, Jones RR, Brender JD, de Kok TM, Weyer PJ, Nolan BT, Villanueva CM, van Breda SG. Drinking Water Nitrate and Human Health: An Updated Review. Int J Environ Res Public Health. 2018 Jul 23;15(7):1557. doi: 10.3390/ijerph15071557. PMID: 30041450; PMCID: PMC6068531.
โฆษณา