19 ธ.ค. 2023 เวลา 05:49 • ท่องเที่ยว

อัฟกานิสถาน EP 07 – พนมกรน้อมเกล้าวันทา องค์พระปฏิมาแห่งบามิยัน

เรานั่งเครื่องบินลงใต้จากมาซาร์ย้อนกลับไปคาบูล ขั้นตอนตรวจค้นตัวผู้โดยสารและกระเป๋าสัมภาระที่สนามบินมาซาร์เริ่มตั้งแต่ประตูรั้วด้านนอกสุดทีเดียว เมื่อผ่านการตรวจรวม 4 ครั้งแล้ว ยังต้องนำกระเป๋าเข้าไปวางเรียงในห้องสุดท้ายให้สุนัขดมกลิ่น ไม่แน่ใจว่าดมกลิ่นยาเสพติดหรือวัตถุระเบิด
รถตู้สองคันขับล่วงหน้าจากมาซาร์ตั้งแต่วันวาน มารอรับที่สนามบินคาบูลราวเที่ยงวัน แวะกินข้าวกลางวันที่ภัตตาคารพาร์ค เป็นตึกแถวกว้าง 5-6 คูหาทีเดียว ตกแต่งทันสมัย สะอาดสะอ้าน ลูกค้าชาวอัฟกันในร้านสนใจนักท่องเที่ยวกลุ่มเรา ยิ้มทักทาย บ้างมาเป็นครอบครัว บางโต๊ะชวนให้กินด้วย อาหารอร่อย(อีกแล้ว)ทั้งข้าว pilaf ขนมปังอบใหม่อุ่นๆเหนียวหนึบๆ ไก่ย่าง แพะย่างและซี่โครงแกะย่าง
เมื่ออิ่มหนำสำราญ จึงออกเดินทางสู่บามิยันประมาณบ่ายสามโมง ระยะทางประมาณ 180 ก.ม. ปกติน่าจะใช้เวลา 3 ช.ม.กว่า แต่ถนนจากชานเมืองคาบูลหลายสิบ ก.ม.กำลังซ่อมแซม ที่นี่เวลาซ่อมถนนจะแซะผิวการจราจรเก่าออกทั้งหมด รถต้องระเห็จลงมาวิ่งข้างทาง ทั้งขรุขระทั้งฝุ่น รู้สึกเหมือนว่าระยะทางไกลแสนไกล แต่เมื่อถนนซ่อมเสร็จ คงเดินทางสบายขึ้นแน่นอน
ถนนตัดลัดเลาะไปตามเทือกเขา ระหว่างทางมีสวนแอปเปิ้ล บางสวน แอป เปิ้ลกำลังออกลูกดกเรียงเป็นตับเต็มกิ่งเต็มก้านทั้งต้น มีทั้งแอปเปิ้ลเขียว เหลือง แดง แวะระหว่าง 1 จุด กว่าจะถึงตัวเมืองบามิยันก็เกือบสองทุ่ม ตลาดร้านค้าสองข้างทางปิดไฟมืด ความไม่คุ้นเคยกอปรกับข่าวคราวการสังหารหมู่คนพื้นเมืองชาวฮาซาราในหุบเขานี้เมื่อหลายสิบปีก่อน ทำให้รู้สึกวังเวง
ที่พักในบามิยันคือ โรงแรมโกลกอล่ะ (Gholghola Hotel แปลว่าโรงแรมแห่งเสียงกรีดร้อง ชื่อหลอนๆเหมือนชื่อป้อมปราการโบราณที่เราจะแวะเที่ยวเลย) กำแพงสูง มีรั้วรอบขอบชิด ปิดประตูรั้วตลอดเวลา รปภ. มีอาวุธสงครามประจำกาย รถที่จะเข้าโรงแรมต้องส่องใต้ท้องรถก่อน แต่ไม่ต้องสแกนกระเป๋าหรือสัมภาระ
ที่พักสะอาดสะอ้าน มีลิฟต์ด้วย แต่ได้เรียนรู้ในวันรุ่งขึ้นว่า ลิฟต์จะเปิดใช้เมื่อต้องขนกระเป๋าของแขกเท่านั้น เราต้องเดินขึ้นและลงบันได 2-3 รอบทุกวัน การนับชั้นอาคารเริ่มจากชั้นกราวนด์ แล้วขึ้นไปชั้น 1 เราพักชั้น 3 ก็เท่ากับชั้น 4 ในบ้านเรา แม้ว่าที่นี่มีปัญหาไฟตกเหมือนในเมืองมาซาร์ แต่ต้องถือว่าดีและเกินความคาดหมาย หากคิดถึงสภาพที่ผ่านภาวะสงคราม กลางเมืองมาเกือบศตวรรษ
โรงแรมหันหน้าไปทางทิศเหนือ หันเข้าหาหน้าผาบามิยัน มองเห็นถ้ำคูหาที่เคยมีพระพุทธรูปใหญ่ประดิษฐานอยู่ มีถนนและทุ่งโล่งคั่นกลาง น่าจะห่างจากหน้าผาเป็นกิโล เรานัดเจอกันบนดาดฟ้าโรงแรมตอนตี 5 วันรุ่งขึ้นเพื่อเก็บภาพวิวหน้าผาบามิยันยามอาทิตย์อุทัย ขึ้นไปเก็บภาพตามเวลานัดแม้อากาศจะหนาว อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส และลงมาเก็บภาพเพิ่มเติมจากระเบียงห้องพักซึ่งเห็นวิวหน้าผาบามิบันและถ้ำคูหาพระพุทธรูปใหญ่ชัดเจนเช่นกัน
จุดหมายแรกในวันนี้คือ ถ้ำคูหาบามิยัน รถตู้แล่นไปจอดทางตะวันตกด้านล่างของแนวหน้าผาหินทรายที่ทอดตัวจากทิศตะวันตกไปทางตะวันออกยาวประมาณ 1.3 ก.ม. ลานด้านตะวันตกของหน้าผาระดับต่ำกว่าด้านตะวันออก ทางเดินเชื่อมต่อกันจึงเป็นเนินสูงขึ้นเรื่อยๆ หน้าผานี้เกิดจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็งที่เคยปกคลุมในอดีต
พระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ด้านตะวันตกของหน้าผา มีชื่อว่าซัลซัลหรือซอลซอล (Salsal / Solsol แปลว่าแสงสาดส่องทั่วจักรวาล / light shines through the universe) ซูซาน ฮันติงตัน นักประวัติศาสตร์ศิลปะสันนิษฐานจากมุทรา การห่มจีวรและรายละเอียดอื่นๆว่าเป็นรูปสลัก พระพุทธไวโรจนะ ส่วนอีกองค์ทางทิศตะวันออกของหน้าผามีขนาดเล็กกว่าคือพระศรีศากยมุนี คนท้องถิ่นเรียกขานว่า ชาห์มามา (Shah Mama แปลว่าพระชนนี)
ทั้งสององค์สลักอยู่ห่างกันน่าจะเกือบ 1 ก.ม. ผู้รู้ว่าทั้งสององค์สร้างด้วยศิลปะคันธาระ เป็นการสลักแบบนูนสูง เว้นพื้นที่ว่างรอบพระบาทสำหรับการทักษิณาวรรตซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติปกติของชาวพุทธ และมีระเบียงด้านหลังเศียรพระ
พนมกรน้อมเกล้าวันทา องค์พระปฏิมาแห่งบามิยัน
  จากลานจอดรถ พวกเราเดินตะกุยขี้นลานด้านบนเพื่อชมถ้ำคูหาพระพุทธไวโรจนะหรือซัลซัล (พระพุทธรูปองค์ใหญ่ สูง 55 ม. ถ้ำคูหาสูง 58 ม.) ประตูรั้วด้านหน้าล็อกกุญแจไว้ ไกด์เดินตามหาคนเปิดประตู ครู่ใหญ่ลุงตาลีบันพร้อมอาวุธมาเปิดให้และอยู่รอจนพวกเราไปชมเสร็จ จึงล็อกประตูรั้วตามเดิม (ล่าสุดมีข่าวเมื่อ ต.ค.หรือ พ.ย.ว่า ปิด/ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมด้านในแล้ว)
พระพุทธไวโรจนะองค์นี้สร้างระหว่างปี ค.ศ. 591 - 644 บ้างว่าปี ค.ศ. 618 โดยสกัดหน้าผาเป็นถ้ำคูหา และโกลนรูปทรงพระพุทธรูปเพียงคร่าวๆไว้ตรงกลาง ก่อนเก็บรายละเอียดให้งดงามด้วยปูนปั้นแล้วทาสีทับ
พระเสวียนจั้งหรือพระถังซำจั๋งจาริกมาที่นี่เมื่อ ค.ศ. 643 คนรุ่นหลังอีกกว่าพันปีรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธรูปใหญ่บามิยัน รายละเอียดของสภาพสังคมและแว่นแคว้นต่างๆตามเส้นทางการจาริกของท่านจากบันทึกการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตก (大唐西游记 ต้าถังซีโหยวจี้) หรือไซอิ๋ว ซึ่งนำไปสู่การตามรอยการเดินทางและขุดค้นจนพบแหล่งโบราณคดี และข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากมาย
พระถังซำจั๋งบันทึกถึงพระพุทธรูปใหญ่ทาสีทอง ประดับด้วยอัญมณี รวมถึงชุมชนที่เฟื่องฟูในภูมิภาคและการติดต่อสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง
สิ่งที่เราเห็นอยู่เบื้องหน้าคือ ซากองค์พระขนาดใหญ่มาก เสียหายเกือบหมด มีนั่งร้านปิดเต็มองค์ เศษหินขนาดใหญ่กองระเกะระกะคือชิ้นส่วนองค์พระที่ถูกทำลายด้วยแรงระเบิด โครงฝ่าเท้าที่เหลืออยู่น่าจะสูงราวสองเมตร เห็นสภาพความเสียหายแล้วเกิดคำถามว่า จะมีการบูรณะหรือสร้างขึ้นใหม่มั้ย ไกด์บอก นานาชาติได้ศึกษาหนทางการบูรณะพระพุทธรูปกันหลายครั้ง แต่ข้อสรุป ณ ช่วงเวลานี้คือ เป็นไปไม่ได้
บริเวณผนังที่ฐานโดยรอบองค์พระพุทธไวโรจนะ สกัดเป็นถ้ำทรงกลมหลายแห่งเพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ผนังถ้ำสกัดสูงต่ำ เพดานโค้ง ฟังว่าเดิมเคยมีภาพวาดบนผนังด้วยแต่เลือนรางไปตามกาลเวลาและการทำลายจากมนุษย์ แต่ละถ้ำมีความประณีตบรรจงและทรุดโทรมแตกต่างกัน ไกด์บอก ช่วงสงครามกลางเมือง ถ้ำแถบนี้เคยเป็นฐานของพันธมิตรฝ่ายเหนือสลับกับฝ่ายตาลีบัน บางช่วงก็เป็นที่หลบภัยของชาวบ้าน
เมื่อเดินสำรวจ เก็บภาพจนพอใจ และถ่ายรูปกับลุงตาลีบันเป็นที่เรียบร้อย จึงพากันเดินขึ้นเนินไปยังถ้ำคูหาพระศรีศากยมุนี หรือชาห์มามา หรือพระชนนี (พระพุทธรูปองค์เล็กสูง 35 ม. ถ้ำคูหาสูง 38 ม.) เรารับรู้จากข่าวสารว่าพระพุทธรูปใหญ่ 2 องค์ถูกกลุ่มตาลีบันระเบิดทำลาย แต่ที่จริงบนหน้าผาระหว่างองค์พระทั้งสอง ยังมีถ้ำคูหาขนาดเล็กกว่าสกัดในระดับที่สูงจากพื้นราว 5-6 ม. ในคูหาสลักพระพุทธรูปขนาดกลางประทับบนบัลลังก์ ถูกทำลายด้วยเช่นกัน แต่ยังเหลือเค้าโครงแขนซ้ายวางบนตัก
เด็กหญิงท้องถิ่น 4 - 5 คนเดินตามกลุ่มเราแจ แม้ถูกลิดรอนโอกาสในการศึกษาและสังคม แต่มีคนหนึ่งพอจะสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นคำๆได้ หนูน้อยว่าซัลซัล(พระพุทธไวโรจนะ)คือพ่อ ชาห์มามา(พระศรีศากยมุนี)คือแม่ เธอชี้ให้ดูพระองค์กลางนี้และบอกว่าคือลูกสาว เธอบอกชื่อ แต่เราจำไม่ได้เอง เหมือนจะบอก ว่ามีพระลูกชายด้วย แต่ฟังไม่เข้าใจว่าอยู่ที่ไหน
นอกจากที่นี่แล้ว ยังพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปยืนสูงประมาณ 10 ม.และคูหาที่มีจิตรกรรมฝาผนังที่วาดด้วยศิลปะซัสซาเนียนในหุบเขาคาครัคซึ่งห่างจากบามิยันราว 3 ก.ม. พวกเราไม่ได้ไปที่นั่น
การจดจำประติมากรรมในศาสนาพุทธว่าเป็นพ่อ แม่ ลูกสาว ลูกชาย น่าจะมีที่มาจากตำนานพื้นเมืองซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธเลย แต่เป็นเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวังของหนุ่มสาว ทำให้คู่รักต้องพรากจากกัน ถ้ำคูหาและภาพจำหลักพระพุทธรูปคือมรดกที่บรรพบุรุษสร้างไว้พร้อมกับตำนานเล่าขานเรื่องราวต่างๆ
ถ้ำคูหาพระศรีศากยมุนี หรือชาห์มามา หรือพระชนนีบนหน้าผาด้านตะวันออก สร้างราวปี ค.ศ. 544 - 595 บ้างว่าปี ค.ศ. 570 พระพุทธรูปทั้งสององค์สร้างสมัยที่จักรวรรดิเฮฟธาไลต์หรือ White Hun (ราว ค.ศ. 440 – 560) ล่มสลายแล้วเพราะพ่ายแพ้ต่อกองทัพผสมระหว่างเติร์กตะวันตกและจักรวรรดิซัสซาเนียน แต่ราชวงศ์หรือเผ่าเฮฟธาไลต์ยังคงมีอำนาจปกครองหลายแว่นแคว้น(ในบางพื้นที่แถบอุซเบกิสถานและทางเหนือของอัฟกาฯปัจจุบัน)ในฐานะเมืองประเทศราชจนถึงราว ค.ศ. 710
โครงพระศรีศากยมุนีที่เหลืออยู่ยังเห็นริ้วจีวร มีรูกลมๆเยอะมาก เจาะไว้ตอกหมุดไม้เพื่อยึดปูนปั้นที่ใช้ตกแต่งรายละเอียด นักวิชาการชื่อ เดบราห์
คลิมเบิร์ก-ซอลเตอร์เชื่อว่าพระพักตร์ของพระพุทธรูปทั้งสององค์ทำจากหน้ากากไม้และปิดทับด้วยแผ่นสำริดบางๆ แต่นักวิชาการรุ่นหลังๆเห็นพ้องกับบันทึกของพระถังซำจั๋งว่า เดิมพระพุทธรูปทาหลายสีทับด้านนอกเพื่อให้ดูเหมือนว่าสร้างจากโลหะและวัสดุอื่นๆ
เดิมเพดานเหนือเศียรพระศรีศากยมุนี/ชาห์มามาเคยมีภาพจิตรกรรมที่มีการบันทึกภาพไว้ เป็นภาพพระสุริยเทพทรงรถเทียมม้า ถืออาวุธ(หอก) สวมอาภรณ์และรองเท้าแบบเผ่าเฮฟธาไลต์แห่งแคว้นโทคาริสถาน (เสื้อตัวยาว ปกเสื้อพับไปด้านขวา) ผู้รู้ว่าพระสุริยเทพนี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากเรื่องเทพ เจ้าท้องถิ่นยุคโบราณ คนดูแลม้ามีปีกสวมใส่หมวกแบบคอรินเธียน ประดับขนนก มือถือโล่ ยังมีภาพเทวดามีปีกกำลังโบยบินโดยสองมือจับผ้าพันคอไว้
แถบภาพด้านล่าง เป็นภาพบุคคลสองแถว น่าจะเป็นกษัตริย์หรือคนในราชสำนักสวมมงกุฎ ผู้หญิงในชุดหรูหราแบบเฮฟธาไลต์ มีเครื่องประดับผม(ศีรษะ) มีรูปลักษณ์และใบหน้ากลม ผู้ชายไม่มีหนวดเครา น่าจะเป็นผู้สนับสนุนการสร้างพระพุทธรูปใหญ่ ทั้งสองแถวเป็นภาพบุคคลสลับภาพอดีตพระพุทธเจ้า
ผู้รู้ว่า องค์ประกอบในภาพมีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่ไม่เหมือนศิลปะใดๆของคันธาระหรืออินเดีย แต่คล้ายคลึงกับจิตรกรรมบางภาพที่ถ้ำคิซิลหรือตุนหวง ตอนที่เราไปชม แทบจะไม่หลงเหลือภาพจิตรกรรมเหล่านี้แล้วเพราะการเสื่อมโทรมตามกาลเวลาและการทำลายพระพุทธรูปใหญ่บามิยันเมื่อ 2544
ผนังถ้ำคูหาพระศรีศากยมุนี/ชาห์มามามีโพรงบันได ถ้าขึ้นไปจนเจอสามแยก ขึ้นไปทางซ้ายจะเป็นระเบียงกว้าง ด้านในสกัดเป็นถ้ำกว้างพอควร เข้าไปเดินสำรวจได้
ขึ้นบันไดต่อไปทางซ้าย เจอระเบียงกว้างอีกระดับ มีสองถ้ำขนาดกว้างพอควร อยู่ระดับสูงกว่าเศียรพระศรีศากยมุนี/ชาห์มามา ทำประตูรั้วล็อกกุญแจไว้เพื่อป้องกันความเสียหาย ด้านในถ้ำด้านหน้ายังมีร่องรอยภาพวาดสี อีกห้องหนึ่งมีภาพวาดที่ยังเหลือร่องรอยอยู่มาก
ผู้รู้ว่าภาพวาดมีลักษณะร่วมสมัยกับที่พบในถ้ำคูหา มณฑลซินเจียง หน้าถ้ำติดตั้งประตูเหล็กใส่กุญแจ น่าจะเป็นภาพวาดสีน้ำมันที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุราวคริสตวรรษที่ 7 ที่นี่เป็นหนึ่งใน 50 ถ้ำที่เพิ่งสำรวจพบหลังการระเบิดทำลายองค์พระไปแล้วหลายปี ในจำนวนนี้มี 12 ถ้ำที่มีจิตรกรรมฝาผนังอายุราวคริสตวรรษที่ 5 – 9
ภาพวาดเหล่านี้สะท้อนอิทธิพลของศิลปะหลากหลาย เช่นศิลปะคุปตะ ศิลปะอิหร่านยุคซัสซาเนียน รวมทั้งศิลปะกรีก บทความเรื่อง Religions in the Kushan Empire โดย J.Harmatta, B.N. Puri, L.Lelekov, S.Humayun, D.C.Sircar พูดถึงอิทธิพลของความเชื่อท้องถิ่น ศาสนาต่างถิ่นและศิลปะที่ผสมผสานกันในภูมิภาคนี้ไว้น่าสนใจทีเดียว แหล่งโบราณคดีบริเวณหน้าผาบามิยันได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกตั้งแต่ปี 2003
ตลอดแนวหน้าผามีโพรงถ้ำ ณ ระดับความสูงต่างๆกันจำนวนมาก เท่าที่ปีนขึ้นไปดู ส่วนใหญ่สกัดไว้เรียบง่ายเหมือนเป็นที่จำวัดหรือปฏิบัติธรรม บางถ้ำมีโพรงทางเดินมืดๆเชื่อมต่อกันลึกเข้าไปด้านใน หรือสกัดเป็นบันไดสูงขึ้นไป พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธจำนวนมากตามถ้ำเหล่านี้
ในยุคที่ชาติตะวันตกตื่นตัวกับอารยธรรมตะวันออก ได้อาศัยความยากจนและความไม่รู้ของคนท้องถิ่น ว่าจ้างกลุ่มคนให้ค้นหาและนำมหาสมบัติแห่งอารยธรรมโบราณมาแลกเงิน เอกสารบางแห่งระบุว่า ชาติที่รับซื้อโบราณวัตถุจากอัฟกานิสถานมากที่สุดชาติหนึ่งคือ ประเทศยุโรปที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล
หุบเขาบามิยันเป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ความสมบูรณ์เห็นได้จากแปลงเพาะปลูกเขียวขจีทั่วหุบเขา มีผัก ผลไม้ขนาดใหญ่ สดๆวางขายเต็มตลาด ราคาย่อมเยา ลูกพรุนสดที่คุณเตียงซื้อให้เพื่อนๆชิม อร่อยฉ่ำ ลำธารในหุบเขามีผลผลิตปลาเทร้าต์สีน้ำตาล
บามิยันยังอยู่ในทำเลที่เชื่อมอนุทวีปอินเดียและเอเชียกลางในเครือข่ายเส้นทางสายแพรไหม จึงเป็นจุดแวะพักของพ่อค้าและนักบวชซึ่งส่วนใหญ่คือพระสงฆ์ในศาสนาพุทธที่ได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่งสมัยพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ ศาสนาพุทธเผยแผ่อย่างรวดเร็วช่วงคริสตวรรษที่ 1 – 5 สมัยจักรวรรดิกุษาณะ (กษัตริย์ต้นราชวงศ์นี้นับถือไศวนิกายผสมกับความเชื่อในท้องถิ่น) ราชวงศ์เฮฟธาไลต์ที่มีอำนาจในเวลาต่อมายังให้การอุปถัมภ์ บามิยันจึงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญทั้งทางการค้าและพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง
ชื่อบามิยันปรากฏในบันทึกของพระภิกษุฟาเสียนที่จาริกมาเมื่อ ค.ศ. 400 กล่าวถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและการประชุมใหญ่คณะสงฆ์ พระเสวียนจั้งหรือพระถังซำจั๋งเยือนบามิยันราว ค.ศ. 632 บรรยายถึงพระพุทธรูปใหญ่ทั้งสององค์อย่างละเอียด รวมถึงพระพุทธไสยาสน์ความยาวประมาณ 300 ม. นักสำรวจพยายามค้นหากันจนถึงปัจจุบัน แม้ยังคว้าน้ำเหลว แต่ทำให้ค้นพบพระพุทธไสยาสน์ยาว 19 ม. สภาพชำรุดเสียหายในถ้ำคูหาไม่ห่างจากหน้าผาบามิยันเมื่อปี พ.ศ. 2551 (7 ปีหลังจากตาลีบันระเบิดพระพุทธรูปใหญ่สององค์)
บันทึกอีกฉบับของพระภิกษุเกาหลีนาม Huichao (ฮุยเชา?) ซึ่งจาริกมาที่นี่เมื่อ ค.ศ. 727 บอกว่าบามิยันเป็นแคว้นอิสระ นับถือศาสนาพุทธ แต่นักประวัติศาสตร์เห็นว่า บามิยันน่าจะเป็นประเทศราชของจักรวรรดิซัสซาเนียน ราชวงศ์ชาวพื้นเมืองที่ปกครองดินแดนนี้น่าจะนับถือศาสนาพุทธจนถึงราว ค.ศ. 970 เมื่อจักรวรรดิกาซนาวิดพิชิตดินแดนบามิยันได้และประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนศาสนาของประชาชนในทัองถิ่น
การทำลายพระพุทธรูปใหญ่แห่งหุบเขาบามิยัน
    แม้ไม่มีหลักฐานว่าใครอุปถัมภ์การสร้างพระศรีศากยมุนี และพระพุทธไวโรจนะ หรือช่างเป็นใคร บ้างว่าช่างอาจเป็นนักเดินทางจากต่างแดน แต่การมีอยู่ของพระพุทธรูปใหญ่บอกถึงศรัทธาของผู้คนต่อพระพุทธศาสนาและความสำคัญของหุบเขาบามิยันในช่วงเวลานั้น พระพุทธรูปทั้งสององค์ประดิษฐานที่หน้าผาบามิยันเรื่อยมาแม้ว่าประชากรในหุบเขาหันไปนับถือศาสนาอิสลามราว ค.ศ. 970 แล้ว (ส่วนใหญ่นับถือนิกายชีอะห์)
ค.ศ. 1221 เมื่อมองโกลยกทัพเข้ามารุกราน ทำลายบ้านเรือนและป้อมปราการในหุบเขาบามิยันจนราบคาบ พระอารามพุทธหลายแห่งถูกปล้นทำลาย แต่พระพุทธรูปใหญ่ทั้งสององค์ไม่ได้รับความเสียหาย ประติมากรรมทั้งสองยังคงอยู่และโลดแล่นในจินตนาการของนักเขียนมุสลิมจนซัลซัลกลายเป็นยักษ์ร้ายในตำนานเผ่าเติร์กยุคกลาง
ประมาณร้อยปีต่อมาในสมัยจักรวรรดิติมูริดบ้านเมืองในหุบเขาบามิยันจึงฟื้นตัวอีกครั้ง ในคริสตวรรษที่ 17 จักรพรรดิออรังเซบแห่งมุฆัลผู้เคร่งศาสนายึดครองดินแดนบางส่วนของอัฟกานิสถานปัจจุบัน พยายามใช้ปืนใหญ่ยิงทำลาย จนพระพักตร์เสียหายบางส่วน ในคริสตวรรษที่ 18 นาเดอร์ อัฟชาร์ แห่งอิหร่านพยายามทำลายพระพุทธรูปด้วยปืนใหญ่ ทำให้องค์พระเสียหายบางส่วน
หลังสงครามแองโกล-อัฟกันครั้งที่ 2 อังกฤษเป็นฝ่ายมีชัย อังกฤษตัดสินใจแต่งตั้งอับดูร์ ราห์มัน ข่าน จากเผ่าปัชทูนเป็นกษัตริย์อัฟกานิสถาน (ปกครอง ค.ศ. 1880 – 1901 / พ.ศ.2423 – 2444 ตรงกับสมัย ร. 5) อัฟกานิสถานต้องลงนามกับเจ้าอาณานิคมในข้อตกลงดูแรนด์ไลน์เรื่องเขตแดนของอัฟกานิสถาน ทำให้สูญเสียดินแดนหลายแห่งโดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นถิ่นฐานของเผ่าปัชทูน เช่นบาโลจิสถาน หรือแถบเปชวาร์ตลอดไป
อับดูร์ ราห์มัน ข่าน มีนโยบายรวมชาติอัฟกันให้เป็นหนึ่งเดียว มีเป้าหมายผนวก 3 แคว้นที่ยังปกครองตนเองค่อนข้างอิสระเข้ามาอยู่ใต้การปกครองของอัฟกานิสถาน ได้แก่แคว้นนูริสถาน (แถววากันคอร์ริดอร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ) แคว้นฮาซาริสถาน (ภูมิภาคฮาซาราจัตตอนกลางของประเทศ ครอบ คลุมหุบเขาบามิยัน) และ เตอร์เกสถาน (บัลค์ ทางเหนือของประเทศ)
อับดูร์ ราห์มัน ข่านยกทัพมาปราบกบถชาวฮาซารานิกายชีอะห์และทำลายพระพักตร์ของพระพุทธรูปใหญ่จนเสียหายหมด ในปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ.2522) เมื่อสหภาพโซเวียตส่งกองทัพเข้าอัฟกานิสถานตามคำร้องขอของรัฐบาลนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ มีขบวนการต่อต้านโซเวียตและเกิดกองกำลังตาลีบันขึ้น สงครามกลางเมืองรอบนี้ยืดเยื้ออีกเกือบ 20 ปี
1
ตาลีบันเข้ายึดกรุงคาบูลและจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จในรอบแรกเมื่อ ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) ปกครองเข้มงวดตามการตีความหลักศาสนา มุลลอห์ โอมาร์ ผู้นำกองกำลังตาลีบันมีคำสั่งให้ทำลายพระพุทธรูปใหญ่เมื่อ พ.ศ.2544 อ้างว่าเป็นการรณรงค์ต่อต้านการบูชารูปบุคคล
มีข้อโต้แย้งว่าเหตุผลดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ว่า หุบเขาบามิยันหันไปนับถือ อิสลามตั้งแต่คริสตวรรษที่ 10 และพระพุทธรูปนี้ยังคงอยู่ที่นั่นตลอดมาจนถึงปี พ.ศ. 2544 บ้างว่าเกิดจากความขุ่นเคืองของตาลีบันต่อโลกตะวันตกรวมทั้งแหล่งเงินทุนที่เน้นการบูรณะปกป้องพระพุทธรูปใหญ่มากกว่า ในขณะที่อัฟกานิสถานต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างยิ่งยวด
พระพุทธรูปใหญ่แห่งหุบเขาบามิยันถูกทำลาย อาจจะเสียหายมากเกินกว่าจะบูรณะได้ ก่อนการระเบิดทำลาย พระพุทธไวโรจนะแห่งบามิยันเป็นพระพุทธรูปยืนที่สูงที่สุดในโลก (55 ม.) ส่วนพระพุทธรูปที่เล่อซานในเสฉวนแม้จะสูง 71 ม. แต่เป็นพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาท
การทำลายพระพุทธรูปแห่งบามิยันทำให้นึกถึงความเสียหายของเทวรูปและประติมากรรมในศาสนาฮินดูที่ถ้ำช้าง มุมไบ ซึ่งทหารของนักล่าอาณานิคมโปรตุเกสใช้เป็นเป้าซ้อมยิงปืน
หลังจากตาลีบันยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลครั้งใหม่ได้เมื่อปี 2564 ได้ขอความช่วยเหลือจากจีนในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ รัฐบาลจีนมีเงื่อนไขเรียกร้องให้รัฐบาลตาลีบันดูแลปกป้องมรดกทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณสถานต่างๆ
จาด ธีรวรรณ
ธันวาคม ๒๕๖๖
ถ้ำคูหาพระพุทธไวโรจนะ (ซัลซัล) หุบเขาบามิยัน
โฆษณา