20 ธ.ค. 2023 เวลา 05:30 • ไลฟ์สไตล์

“เที่ยวอย่างสบายใจ กลับมาทำงานได้ไม่พัง” 6 เรื่องที่ควรเคลียร์เพื่อป้องกัน Post-Vacation Blues

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ใครๆ ก็ชอบวันหยุดยาว” ชอบที่จะได้มีเวลาพักผ่อนจากการทำงานอันแสนหนักหน่วง ได้ไปเที่ยวในสถานที่ในฝัน ได้สังสรรค์พูดคุยกับคนในครอบครัว ได้ทำสิ่งที่ชอบเพื่อชาร์จพลังของตัวเองให้เต็ม แต่เพราะอะไร เราจึงมักจะมีอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวจนทำให้พลังที่ชาร์จมาในวันหยุดนั้น หมดไปอย่างรวดเร็วทันทีที่เรารู้ตัวว่า “พรุ่งนี้คือวันที่เราต้องกลับไปทำงานแล้ว”
วันหยุดยาวในช่วงปีที่ผ่านมา เราจะเห็นคำว่า Post-Vacation Blues ตามบทความและสื่อต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการเครียด ซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว หรือจะเป็นคลิป Tiktok ที่ระบายอาการ Post-Vacation Blues ของตัวเองเช่น ไม่อยากตื่นไปทำงาน ไม่อยากให้หยุดยาวจบลงหรือแม้แต่มีความรู้สึกอยากลาออกจากงาน
ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายเริ่มเคยชินกับการพักผ่อน สมองเริ่มเสพติดความสุขในการละทิ้งความคิดเรื่องงาน สุดท้ายเมื่อต้องกลับมาทำงานอีกครั้งก็จะเกิดความขี้เกียจและความทุกข์ขึ้น ซึ่งอาการ Post-Vacation Blues นี้ก็เหมือนกับเป็นของฝากจากวันหยุดยาวที่เราไม่ต้องการ เพราะมันจะคอยบั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงานของเราลง ทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถทำงานได้ดีเหมือนเก่าและอาจจะนำไปสู่ภาวะหมดไฟหรือ Burnout Syndromes ในที่สุด
เมื่ออาการ Post-Vacation Blues เป็นอาการทางใจที่เรารับมือได้ยาก การเตรียมพร้อมตัวเอง สะสางบางเรื่องเพื่อให้เราสามารถเที่ยวอย่างสบายใจและกลับมาทำงานได้โดยที่ใจไม่พัง จึงเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการแก้ไขอาการในปลายทาง
บทเรียนจากผลวิจัย เมื่อ “การจัดการงานไม่ได้” เป็นสาเหตุหลักของ Post-Vacation Blues
จากงานวิจัย The Unwanted Souvenir: Post-Vacation Blues ในปี 2023 ที่ทำการสำรวจพนักงานประจำในสหรัฐอเมริกามากกว่า 1,000 คนเกี่ยวกับอาการ Post-Vacation Blues นั้นได้บอกเล่าสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานมักจะมีอาการ Post-Vacation Blues ไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดภาวะซึมเศร้าหลังการเดินทางอันดับ 1 คือ ความกังวลเกี่ยวกับเงินที่ใช้จ่ายไปในการท่องเที่ยว (40%)
แต่ที่น่าสนใจคือสาเหตุอันดับ 2 อย่าง “ความลำบากในการปรับตารางการทำงาน” (39%) ที่คนส่วนใหญ่กำลังพบเจอและแพ้สาเหตุอันดับ 1 อย่างเงินไปเพียง 1% เท่านั้น
และที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น เมื่อพนักงานประจำเหล่านี้เกิดอาการ Post-Vacation Blues จะต้องใช้เวลานานถึง 1 สัปดาห์ในการปรับตัวให้ชินกับการกลับมาทำงาน ดังนั้นหากเราต้องการที่จะป้องกันอาการ Post-Vacation Blues เราอาจจะต้องกลับมาเตรียมความพร้อมในการทำงานก่อนวันหยุดยาวเพื่อให้รู้สึกสบายใจและมีความสะดวกในการทำงานหลังหยุดยาวมากขึ้น
6 เรื่องที่ควรเคลียร์ก่อนหยุดยาว เพื่อป้องกัน Post-Vacation Blues
การที่เรารู้สึกเครียดเมื่อต้องกลับเข้าสู่สภาวะปกติหลังจากวันหยุดยาวไม่ใช่เรื่องแปลก ลองนึกภาพว่าเราหยุดยาวเพื่อไปพักผ่อนเป็นระยะเวลานาน มีงานและความต้องการของคนอื่นๆ ที่ถูกอัดอั้นในช่วงเวลานั้นเต็มไปหมด เมื่อถึงวันที่เราต้องทำงาน งานเหล่านั้นก็จะถาโถมเข้าสู่ตัวเราอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว เราอาจจะรู้สึกว่าเราสามารถฝืนทำงานเหล่านั้นได้ แต่สุดท้ายเราก็จะรู้สึก “เหนื่อย” และ “เครียด” ในที่สุด
ดังนั้นเราจึงควรสะสางบางเรื่องเพื่อให้สามารถเที่ยวได้อย่างสบายใจ และเตรียมพร้อมการทำงานหลังวันหยุดยาวได้โดยที่ไม่ต้องรู้สึกเครียดไปก่อน ซึ่งมีทั้งหมด 6 เรื่องที่ควรเคลียร์ให้จบก่อนหยุดยาวคือ
[ ] เคลียร์ตารางการนัดหมายหลังวันหยุดยาว : เราต้องทำงานอะไร ต้องคุยกับใครบ้าง พยายามนัดการประชุมตั้งแต่ก่อนหยุดยาวเพื่อให้สามารถเตรียมตัวกับการประชุมได้
[ ] เคลียร์งานที่ “ต้องส่งวันแรกหลังหยุดยาว” ให้เสร็จก่อนไปเที่ยว : งานไหนที่มีกำหนดส่งภายในวันแรกหรือวันที่ 2 หลังจากการหยุดยาวให้เราพยายามทำให้เสร็จ เพื่อลดความเครียดในวันทำงานวันแรก
[ ] เคลียร์รายชื่อที่ต้องติดต่อหลังวันหยุดยาว : ทำรายชื่อและเบอร์โทรของคนที่เราต้องติดต่อสื่อสารหลังวันหยุดยาวให้เรียบร้อย เพื่อให้พร้อมติดต่อหลังวันหยุดยาวทันที
[ ] เคลียร์อีเมลที่ยังไม่ได้ตอบกลับให้เรียบร้อย : พร้อมทั้งแจ้งวันหยุดยาวให้ผู้ที่เราติดต่อประสานงานทราบ นอกจากนี้การตั้งอีเมลตอบกลับอัตโนมัติก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เราไม่ต้องตอบกลับอีเมลนอกเวลางาน
[ ] เคลียร์ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานะของงานให้ทุกฝ่ายทราบ : ตอนนี้งานของเราอยู่ที่ขั้นตอนไหน? มีปัญหาอะไรที่ทำให้งานไม่ราบรื่นบ้าง? ให้เราอัปเดตสถานการณ์เหล่านั้นให้หัวหน้างาน ลูกค้า หรือเพื่อนร่วมงานทราบเพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจที่ตรงกันและสามารถกลับมาทำงานได้อย่างไม่ติดขัด
[ ] เคลียร์บ้านให้พร้อมสำหรับการกลับมา : การกลับมาจากการท่องเที่ยวในวันหยุดยาวแล้วพบกับบ้านที่ไม่สะอาด สิ่งของเครื่องใช้วางไม่เรียบร้อย มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เราหมดพลังใจในการเริ่มต้นวันทำงานได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนวันหยุดยาวเราจึงควรที่จะจัดบ้านให้พร้อมสำหรับการกลับเข้ามาอยู่อาศัยอีกครั้ง
เตรียมทุกอย่างแล้วแต่ยังเครียดอยู่? “ทำงานจากที่บ้าน” ช่วยลดอาการ Post-Vacation Blues ได้
โดยงานวิจัย The Unwanted Souvenir: Post-Vacation Blues ก็เผยผลสำรวจอีกด้วยว่า 34% ของพนักงานประจำรู้สึกว่าการทำงานที่บ้านในช่วงหลังวันหยุดยาวจะช่วยลดความเครียดได้ ซึ่งถ้าหากเรายังรู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะกลับไปทำงานตามปกติ การ Work from home หรือการทำงานจากบ้านก็ช่วยลดอาการ Post-Vacation Blues ได้เช่นกัน
สาเหตุที่ผลสำรวจออกมาเป็นแบบนี้ก็เพราะว่าธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนนั้น เราต้องการช่วงเวลาในการปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงเสมอ จึงทำให้เรารู้สึกเหนื่อยเมื่อต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจากการพักผ่อนเข้าสู่การทำงานอย่างฉับพลัน การ Work from home จึงเป็นเหมือนพื้นที่เล็กๆ ที่ทำให้เราสามารถค่อยๆ ปรับตัวจากการพักผ่อนมาสู่การทำงานจากที่บ้าน ก่อนที่จะเข้าสู่การทำงานในออฟฟิศตามปกติ
แล้วถ้าหากงานที่เราทำไม่ได้เอื้ออำนวยให้เราสามารถทำงานจากที่บ้านได้ เราจะสามารถทำอย่างไรเพื่อให้สามารถปรับตัวเข้าสู่ช่วงเวลาของการทำงานได้อย่างปกติสุข?
[ ] ตื่นให้เช้าขึ้นและเริ่มต้นวันด้วยการ “ให้เวลากับตัวเอง” เพื่อยืดเส้นยืดสาย ทานอาหารอร่อยๆ หรือออกกำลังกายเพื่อเตรียมตัวเองให้สดชื่นพร้อมสำหรับการทำงานตลอดวัน
[ ] เริ่มจากการจัด Debrief meetings หรือการประชุมเพื่อซักถามเกี่ยวกับความเป็นไปของสมาชิกแต่ละคนในทีมว่ามีปัญหาอะไร มีอะไรที่อยากสื่อสารหรือให้ Feedback กับทีมบ้าง และมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในงานบ้าง
[ ] เขียนเป้าหมายประจำสัปดาห์ก่อนลงมือทำงาน โดยอาจจะเป็นเป้าหมายเล็กๆ ในระยะสั้นที่ทำให้เราไม่เครียดจนเกินไปและสามารถทำตามเป้าหมายได้สำเร็จเพื่อสร้างความภาคภูมิใจเล็กๆ ที่ทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
[ ] จัดลำดับความสำคัญของงาน ค่อยๆ จัดตารางงานที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนก่อนและจึงค่อยทำงานที่มีความสำคัญลดหลั่นลงมา
[ ] ทำงานวันแรกให้แค่ “ตามทัน” ไม่ควรเริ่มด้วยงานใหญ่ๆ แต่ควรเริ่มด้วยการสะสางงานเล็กๆ เพื่อปรับตัวให้พร้อมสำหรับการทำงานที่ใหญ่ขึ้นในวันถัดมา
[ ] ทำทีละชุดงาน ไม่ควรกระโดดไปทำงานต่างประเภทในวันเดียวกัน เช่น หากงานที่สำคัญที่สุดของวันแรกคือการตอบอีเมลและติดต่อลูกค้า ก็ควรใช้วันนั้นทั้งวันเพื่อติดต่อลูกค้า ไม่ควรสลับไปทำงานประเภทอื่นที่ทำให้เรารู้สึกสับสน
มนุษย์ต้องการการปรับตัวเมื่อเปลี่ยนจากสภาพแวดล้อมเดิมที่เคยชินสู่สภาพแวดล้อมใหม่อย่างฉับพลัน แต่เมื่อเราไม่สามารถปรับตัวจากการ “ทำงานจากที่บ้าน” ได้ การ “เริ่มต้นทำงานในออฟฟิศให้เครียดน้อยที่สุด” จึงเป็นคำตอบที่ทำให้เราค่อยๆ ปรับตัวเองจากอาการซึมเศร้า เครียด ไม่อยากทำงาน ให้สามารถเริ่มต้นการทำงานได้อย่างมีความสุข
เพราะแม้ว่าเราจะรู้สึกไม่อยากทำงาน แต่ “การทำงาน” นั้นก็สามารถพูดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องทำเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต และเราต้องใช้ชีวิตโดยมี “งาน” เป็นส่วนหนึ่ง
ดังนั้น นอกจากการปรับตัวเพื่อให้ภาวะของสมองที่ไม่อยากทำงานสามารถกลับมาทำงานตามหน้าที่เพื่อประคับประคองและรักษาคุณภาพของงานได้แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเราควรที่จะหาสิ่งที่ชอบ หาจุดมุ่งหมายของชีวิตกับงานเหล่านั้นเพื่อให้เรามีทัศนคติในการทำงานเหล่านั้นได้อย่างมีความสุข และออกจากวังวนของความทุกข์ในการทำงานเดิมๆ ได้ในที่สุด
ที่มา
- The Unwanted Souvenir: Post-Vacation Blues [2023 Study] : Max Woolf, Passport-photo Online - https://bit.ly/489Fy6c
- Back From A Long Vacation? Nine Tips For Getting Back Into Your Work Routine : Forbes - https://bit.ly/3NjsCCL
- 9 simple tasks you must complete to have a stress-free vacation from work : CARSON TATE, Fast Company - https://bit.ly/3Rx47EF
#worklife
#postvacationblues
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา