Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เหลาจนคม
•
ติดตาม
20 ธ.ค. 2023 เวลา 15:31 • ประวัติศาสตร์
ศรีปราชญ์ กวีเอกปริศนา อดีตชาติของพ่อริดที่ถูกลืม (ในละคร)
หากเราพูดถึงกวีเอกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อของ "ศรีปราชญ์" ก็จะขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆ ศรีปราชญ์ผู้นี้เป็นกวีเอกที่มีเรื่องราวที่เป็นปริศนามากมาย บ้างก็ว่ามีชีวิตอยู่ในช่วงสมเด็จพระนารายณ์ บ้างก็ว่ามีชีวิตอยู่ในช่วงพระเจ้าเสือ บ้างก็ว่าไม่มีมีตัวตนจริง เป็นแค่ในนิทานพื้นบ้าน ฯลฯ รวมถึงผลงานกวีต่างๆ ที่เชื่อกันว่าเป็นผลงานของศรีปราชญ์อย่าง อนิรุทธ์คำฉันท์
อย่างไรก็ตาม หากใครเคยเป็นแฟนจักรวาลออเจ้า (บุพเพสันนิวาส - พรหมลิขิต) จะทราบกันดีกว่า รอมแพง (ผู้เขียนนวนิยายชุดนี้) ได้กำหนดให้ศรีปราชญ์ เป็นพี่ชายของออกขุนศรีวิสารวาจา (เดช) ทั้งสองเป็นลูกชายของพระโหราธิบดีกับคุณหญิงจำปา และหลังจากที่ศรีปราชญ์ถูกประหารชีวิต ก็ได้กลับชาติมาเกิดเป็นหลานชายตัวเองก็คือ "พ่อริด" ตัวเอกในเรื่องพรหมลิขิต แต่ในละครก็ไม่ได้กล่าวถึงจุดนี้แต่อย่างใด จนเกิดเป็นดราม่ากันที่เห็นๆ อยู่นี้
เรื่องราวของศรีปราชญ์ปรากฏในเอกสารพม่าซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้มาจากหอพระสมุดแห่งมัณฑะเลย์เมื่อ พ.ศ. 2454 ทรงเชื่อว่า เขียนขึ้นจากการสอบปากคำชาวกรุงศรีอยุธยาที่ถูกจับไปเป็นเชลยเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จึงให้แปลออกเป็นภาษาไทยและใช้ชื่อว่า คำให้การชาวกรุงเก่า เอกสารนี้ระบุว่า ศรีปราชญ์เป็นบุคคลที่พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) ทรงชุบเลี้ยงไว้ เพราะเขารอบรู้ทางศาสนาและโหราศาสตร์ ทั้งยังเก่งทางโคลงกลอน เขาแต่งร้อยกรองถวายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีเป็นที่พอพระทัยเสมอ
แต่เขาแอบแต่งเพลงยาวหาสนมนางหนึ่งของพระองค์ เมื่อทรงจับได้ ก็มิได้ฆ่า เพราะเสียดายความสามารถ ทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราชแทน แต่ศรีปราชญ์เป็นคนเจ้าชู้ ไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ไปแต่งเพลงยาวหาภรรยาเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงให้ฆ่า คนทั้งหลายห้ามไว้เจ้าเมืองก็ไม่ฟัง ก่อนตายศรีปราชญ์แช่งไว้ว่า "ดาบที่ฆ่าเรานี้ภายหลังจงกลับฆ่าคนที่ใช้ให้ฆ่าเราเถิด"
ต่อมา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงรำลึกถึงศรีปราชญ์ ทรงให้เรียกตัวกลับกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารแล้ว ก็มีท้องตราออกไปให้ประหารเจ้าเมืองด้วยดาบเดียวกับที่ใช้ประหารศรีปราชญ์
เอกสารอีกฉบับที่ปรากฏเรื่องศรีปราชญ์ คือ คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อว่า มีที่มาเดียวกับ คำให้การชาวกรุงเก่า แต่ คำให้การขุนหลวงหาวัด เป็นภาษามอญ และรัชกาลที่ 4 ทรงให้แปลออกเป็นภาษาไทย เอกสารนี้ระบุว่า พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีโปรดมหาดเล็กคนหนึ่งเพราะมีฝีมือทางร้อยกรอง จึงประทานนามให้ว่า ศรีปราชญ์ แต่ศรีปราชญ์แต่งโคลงหานางใน จึงทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์ไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ไปแต่งโคลงหาอนุภรรยาของเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงให้เอาไปฆ่า ก่อนตายศรีปราชญ์แช่งไว้ว่า
"เรานี้เป็นปราชญ์หลวง แล้วก็เป็นลูกครูบาอาจารย์ แต่องค์พระมหากษัตริย์ยังไม่ฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย ผู้นี้เป็นเจ้าเมืองนคร จักมาฆ่าเราให้ตาย เราก็จักต้องตายด้วยดาบเจ้าเมืองนคร สืบไปเบื้องหน้าขอให้ดาบนี้คืนสนองเถิด" แล้วเขียนโคลงแช่งลงพื้นดินไว้ให้ประจักษ์ ต่อมา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงให้เรียกตัวเขากลับ แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารเสียแล้ว ก็มีรับสั่งให้เอาดาบที่ใช้ประหารศรีปราชญ์นั้นประหารเจ้าเมืองตามไป
เรื่องราวของศรีปราชญ์ได้รับการดัดแปลงและขยายความเป็นอันมากในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในงานเขียนของพระยาตรัง กวีเอกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และงานเขียนของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ข้าราชการสมัยรัชกาลที่ 6
เรื่องราวที่ดัดแปลงนี้ระบุว่า ศรีปราชญ์มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชื่อเดิมว่า ศรี เป็นบุตรชายของพระโหราธิบดี เกิดราว พ.ศ. 2196 ประมาณ 3 ปีก่อนสมเด็จพระนารายณ์ทรงขึ้นครองราชย์ วันหนึ่งในราว พ.ศ. 2205 สมเด็จพระนารายณ์ทรงนิพนธ์โคลงค้างไว้ 2 บาทว่า
อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย ลอบกล้ำ (บางฉบับว่า ลอบย้ำ)
แล้วทรงให้พระโหราธิบดีกลับไปแต่งต่ออีก 2 บาทให้เต็มบท พระโหราธิบดีคิดไม่ออก ศรีจึงแต่งต่อว่า
ผิวชนแต่จะกราย ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน
พระโหราธิบดีนำขึ้นถวาย สมเด็จพระนารายณ์พอพระทัยมาก จึงโปรดให้ศรีเข้าเป็นมหาดเล็ก พระโหราธิบดีรู้ว่า ลูกชายเป็นคนอุกอาจ จึงทูลขอพระราชทานโทษไว้ว่า วันใดลูกชายทำผิดถึงตาย ขออย่าได้ทรงประหาร เป็นแต่เนรเทศก็พอ สมเด็จพระนารายณ์ก็โปรดให้ตามนั้น
ต่อมา สมเด็จพระนารายณ์เสด็จประพาสป่าแก้ว ฝูงลิงร่วมประเวณีอยู่บนต้นไม้ ตรัสถามศรีว่า ลิงทำอะไรกัน ศรีทูลด้วยโวหารว่า "นั้นคือเสียงมักกโฏ...มันทำสมัครสังวาสผิดประหลาดกว่าธรรมดา" บางฉบับก็ว่า ลิงในป่าแก้วถ่ายมูลรดศีรษะขุนนางผู้ใหญ่ ทุกคนหัวเราะจนสมเด็จพระนารายณ์ตื่นบรรทม ทรงถามว่า เกิดอะไรขึ้น ศรีทูลด้วยโวหารว่า "พยัคฆะ ขอเดชะ วานระ ถ่ายอุจจาระ รดศีรษะ พระยาเดโช" สมเด็จพระนารายณ์เห็นว่า ศรีมีสติปัญญา จึงพระราชทานนามให้โดยตรัสว่า "ศรีเอ๋ย เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ตั้งแต่บัดนี้"
วันหนึ่ง ศรีปราชญ์ได้เข้าไปล่วงเกินนางในคนหนึ่ง นางในคนนั้นก็คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) สนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ โดยเชื่อมโยงกับ กำสรวลศรีปราชญ์ ที่เชื่อว่า เขาแต่งให้หญิงนาม ศรีจุฬาลักษณ์ การล่วงละเมิดนางในเป็นความผิดถึงตาย แต่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราชแทน ตามที่ทรงรับปากไว้กับบิดาของเขา เขาถูกเนรเทศไปในเดือนยี่ที่นครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์ถูกกล่าวหาว่า มีสัมพันธ์กับอนุภรรยาของเจ้าเมือง และถูกประหารชีวิตใน พ.ศ. 2226 ก่อนตายเขาเขียนโคลงสาปแช่งไว้บนพื้นดินว่า
ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง
บางแหล่งระบุ 2 บาทแรกของโคลงดังกล่าวไว้แตกต่างออกไปดังนี้
ธรณีภพนี้เพ่ง ทิพญาณ หนึ่งรา
เราก็ลูกอาจารย์ หนึ่งบ้าง
ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ทรงรำลึกถึงเขา จึงรับสั่งให้เรียกตัวเขากลับกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารแล้ว จึงรับสั่งให้เอาดาบที่ใช้ประหารเขานั้นประหารเจ้าเมืองตายตกตามกันสมดังคำสาปแช่งของเขา มีผู้เชื่อว่า ที่ประหารศรีปราชญ์ ปัจจุบันคือ โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช "ณ นครอุทิศ" และสระล้างดาบที่ใช้ประหารนั้น ปัจจุบันคือ โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช
ตำนานศรีปราชญ์ทำให้เกิดข้อสงสัยและปัญหาขึ้นในวงวิชาการวรรณคดีหลายข้อด้วยกัน ดังนี้
1. ศรีปราชญ์มีตัวจริงหรือไม่ ถ้ามีตัวจริงมีกี่คน เกิดและตายในรัชกาลใดแน่ ความแคลงใจในข้อนี้ เกิดจากการที่ประวัติศรีปราชญ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับตำนานประวัติกวีพม่าอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งอยู่ที่ตำนานและคำให้การทั้งสองฉบับระบุเวลาไม่ตรงกัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในคำนำอนิรุทธ์คำฉันท์ กล่าวกันว่าศรีปราชญ์เป็นบุตรของพระมหาราชครู แต่บางหลักฐานกล่าวว่าศรีปราชญ์เป็นบุตรพระโหราธิบดีซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นคนเดียวกับพระโหราธิบดีทายหนูหรือไม่ ส่วนศรีจุฬาลักษณ์ในโคลงกำสรวล นั้น มีจดหมายเหตุฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่าเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระเพทราชา
2. ศรีปราชญ์เป็นผู้แต่งโคลงกำสรวลและอนิรุทธ์คำฉันท์ จริงหรือ น่าสังเกตว่าในโคลงกำสรวลนั้น ผู้แต่งออกชื่อตนเองว่าศรี และออกชื่อนางที่รักว่า (บา) ศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งพระสนม แต่เนื้อความที่กล่าวถึงความสัมพันธ์อย่างเปิดเผย แสดงว่าผู้แต่งมีศักดิ์สูงมิใช่นักโทษเนรเทศประการหนึ่ง
แต่คำว่าศรีจุฬาลักษณ์นั้น ยังปรากฏอยู่ในวรรณคดีโคลงดั้นอีกเรื่องหนึ่งคือ ทวาทศมาส ซึ่งภาษาโวหารใกล้เคียงทัดเทียมกับโคลงกำสรวล จึงน่าจะอยู่ในสมัยเดียวกัน
จากปัญหาและข้อสงสัยข้างต้น ประวัติของศรีปราชญ์จึงยังไม่เป็นที่ยุติ
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B9%8C
https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/cre_det.php?cr_id=157
ประวัติศาสตร์ไทย
วรรณคดีไทย
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย