26 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • การตลาด

เทรนด์การตลาดออนไลน์จับใจคนกัมพูชา

ถ้ากล่าวถึงเรื่องการค้าขายออนไลน์ ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้ตลาดออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง และมีแอปพลิเคชันตลาดออนไลน์ชื่อดังระดับโลกหลายเจ้า ส่งผลให้การแข่งขันในแถบนี้มีความดุเดือดอย่างมาก นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต้องคิดวิธีขายสินค้าที่หลากหลายเพื่อดึงดูดผู้บริโภค ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาไปเป็นกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการตลาดออนไลน์
อย่างในปัจจุบันจะมีชื่อเรียกการทำการตลาดออนไลน์มากมาย อาทิ การทำการตลาดแบบผสมผสานทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ (Omni Channel), การไลฟ์ขายสินค้า (Live-Streaming E-commerce) หรือการซื้อขายสินค้าแบบข้ามพรมแดน (Cross-Border E-commerce) รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างกัมพูชาเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลของ We Are Social พบว่าชาวกัมพูชามีการเข้าถึงสื่ออินเตอร์เน็ตกันอย่างกว้างขวาง ในเดือนมกราคม 2565 ชาวกัมพูชามีการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตจำนวน 13.44 ล้านรายหรือคิดเป็น 78.8% ของจำนวนประชากร เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการที่ชาวกัมพูชาใช้เวลาไปกับสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นกว่าเดิมในช่วงที่ Covid-19 มีการระบาด เนื่องจากช่วงเดือนมกราคมปี 2562 มีจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 10.6 ล้านคน
ในขณะที่เดือนมกราคม ปี 2565 มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น รวมจำนวนทั้งสิ้นอยู่ที่ 13.4 ล้านคน โดยแอปพลิเคชันยอดนิยมที่ใช้กันอย่างมากในเดือนมกราคมปี 2565 ห้าอันดับแรก คือ Facebook, Youtube, Pinterest, Twitter และ Instagram จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายหันมาใช้เงินไปกับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เพื่อลงโฆษณาหรือการเลือกลงโฆษณาผ่านผู้ที่มีชื่อเสียง (Influencer Marketing) เนื่องจากเชื่อว่าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดกว่าการใช้สื่อออฟไลน์แบบเดิม
จึงทำให้ในปัจจุบันมีอินฟลูเอนเซอร์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและแบ่งหมวดหมู่ตามความเชี่ยวชาญหรือไลฟ์สไตล์ของบุคคลนั้น ตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์ชาวกัมพูชาชื่อดัง (สำรวจในเดือนกรกฎาคม 2566) ได้แก่
- ประเภทนักแสดง นางแบบและนักร้องชื่อดัง เพจ Aok Sokunkanha มียอดผู้ติดตามบน Facebook จำนวน 1,400,000 คน
- ประเภทท่องเที่ยว อาทิ ช่อง ChavmeanupSamedy มียอดผู้ติดตามบน Youtube จำนวน 200,900 คน
- ประเภทอาหาร อาทิ เพจ TepBoprek มียอดผู้ติดตามบน Facebook จำนวน 2,300,000 คน
- ประเภทเกมออนไลน์สตรีมเมอร์ อาทิ เพจ Krita มียอดผู้ติดตามบน Facebook จำนวน 1,300,000 คน
นอกจากนี้การทำการตลาดออนไลน์อีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการขายสินค้าออนไลน์ในคือการไลฟ์ขายสินค้า ชาวกัมพูชามีการซื้อขายสินค้า ทำธุรกิจและทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของ Covid-19 โดย 3 แอปพลิเคชันตลาดออนไลน์ขนาดใหญ่ที่ชาวกัมพูชาใช้ซื้อขายสินค้ากันมากที่สุด ได้แก่ Tinh Tinh E-commerce, AliExpress และ Facebook
โดยทั้ง 3 ตลาดสินค้าออนไลน์ดังกล่าว ได้เพิ่มประสบการณ์การซื้อสินค้า (Customer Experience) ให้ดีขึ้นผ่านการผสมผสานความเป็น Social Commerce ลงไปอย่าง Facebook ที่มีตลาดให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ภายในแอปพลิเคชัน หรืออย่าง Tinh Tinh E-commerce และ AliExpress ที่ได้เรียกตนเองว่าเป็นแพลตฟอร์มคลิปสั้น (Short-video platform) พร้อมกับการออกฟีเจอร์ไลฟ์ขายสินค้า (Live Commerce) ซึ่งช่วยแสดงคุณสมบัติของสินค้าได้ชัดเจนกว่าการใช้รูปภาพเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ข้อมูล Statista พบว่าในปี 2565 การขายในรูปแบบไลฟ์ทำรายได้ในประเทศจีนไปทั้งหมด 2.2 ล้านล้านหยวนและคาดว่าจะสามารถทำรายได้แตะ 4.9 ล้านล้านหยวนภายในปี 2566 ทางฝั่งประเทศไทย ข้อมูลจาก Lazada Thailand เปิดเผยว่ามีผู้ชมดูไลฟ์ขายสินค้าผ่าน Laz Live จำนวน 300 ล้านกว่าครั้งในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันทางกัมพูชาก็สามารถเพิ่มยอดขายออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์และไลฟ์ขายสินค้าเพื่อทำการตลาดเช่นกัน
ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก: ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ (Cambodia Commercial Bank – CCB) https://www.scb.co.th/ccb/corporate-banking.html
โฆษณา