Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เหลาจนคม
•
ติดตาม
24 ธ.ค. 2023 เวลา 18:23 • ประวัติศาสตร์
สามราชธานี สี่วัดคาทอลิกในกรุงเทพ
การเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 การเผยแพร่ศาสนาก็หยุดชะงักลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง มาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เนื่องในโอกาสเทศกาลคริสต์มาส วันนี้เราจะแนะนำทำความรู้จักกับวัดคาทอลิกทั้งสี่แห่งในกรุงเทพมหานครที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม ซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละยุคสมัยนับตั้งแต่ที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกเข้ามาเผยแพร่สู่ประเทศไทย
วัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน
วัดคอนเซ็ปชัญ ตั้งอยู่ที่ซอยสามเสน 11 ประวัติความเป็นมาเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2217 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พระราชทานที่ดินในเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) ให้แก่พระสังฆราชลาโน เพื่อสร้างวัดสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก โดยได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล”
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวเขมรจำนวนหนึ่งที่นับถือศาสนาคริสต์และหลบหนีภัยเนื่องจากเกิดการจลาจลในกัมพูชาเข้ามาอาศัยรวมอยู่กับชาวโปรตุเกสที่บริเวณข้างวัดราชาธิวาส บริเวณนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “บ้านเขมร”
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงที่ไทยทำสงครามกับญวน มีชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์กลุ่มหนึ่งขอติดตามกองทัพไทยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่บ้านเขมร ต่อมาเมื่อผู้คนในหมู่บ้านเขมรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ชาวญวนจึงขยายออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัด
ครั้นเมื่อบาทหลวงปาลเลอกัวซ์เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ มีการสร้างโบสถ์ขึ้นใหม่ซึ่งก็คือโบสถ์หลังปัจจุบัน ทำพิธีเสกเมื่อ พ.ศ. 2380 นอกจากนี้ ในระหว่างที่เป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ ท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ และทรงผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาส โดยได้ถวายความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภาษาละติน และภาษาฝรั่งเศสด้วย
ใน พ.ศ. 2381 ได้มีการประกอบพิธีสังฆาภิเษกบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ขึ้นเป็นพระสังฆราช ปกครองดูแลคณะมิสซังในกรุงสยาม หลังจากนั้นท่านได้สร้างสำนักพระสังฆราชขึ้นที่วัดอัสสัมชัญ และย้ายออกจากวัดคอนเซ็ปชัญไปพำนักที่วัดอัสสัมชัญ อย่างไรก็ดีเมื่อท่านมรณภาพใน พ.ศ. 2405 ได้มีการอัญเชิญร่างของท่านจากอาสนวิหารอัสสัมชัญมาบรรจุไว้ใต้พื้นโบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญ
หลังจากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างหอระฆังที่โบสถ์หลังนี้เพิ่มเติมโดยมี โจอาคิม กรัสซี สถาปนิกชาวออสเตรีย เป็นผู้ออกแบบ ในส่วนของโบสถ์หลังเดิมตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของโบสถ์หลังปัจจุบัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นแทนโบสถ์หลังเก่าที่สร้างด้วยไม้ตั้งแต่สมัยอยุธยา ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคามุงกระเบื้อง ปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด
วัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฏีจีน
วัดซางตาครู้ส ตั้งอยู่ในซอยกุฎีจีน โบสถ์ในปัจจุบันนี้เป็นอาคารหลังที่สามซึ่งสร้างขึ้นเพื่อทดแทนโบสถ์หลังเดิมที่คับแคบและชำรุดทรุดโทรมมาก โดยมีคุณพ่อกูเลียลโม กิ๊น ดา ครู้ส เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2459 (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2539 โดยมีคุณพ่อศวง ศุระศรางค์ เป็นผู้ริเริ่มเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป
อาคารวัดซางตาครู้สเป็นอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกเช่นเดียวกับอาสนวิหารอัสสัมชัญ มีจุดเด่นที่ยอดโดมแบบอิตาลีซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับโดมแห่งมหาวิหารฟลอเรนซ์หรือโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม ภายในเป็นอาคารชั้นเดียว มีจุดเด่นอีกประการคือ การใช้เสาลอยรับน้ำหนักของฝ้าเพดานแบบโค้ง รวมถึงกระจกสีที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา
วัดซางตาครู้สเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่อยู่คู่กับชุมชนกุฎีจีนเก่าแก่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยบริเวณที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้กับพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พระราชทานที่ดินให้แก่ชาวโปรตุเกสซึ่งร่วมทำการศึกต่อต้านพม่าจนได้รับชัยชนะ นักบวชชาวโปรตุเกสจึงได้เริ่มก่อสร้างอาคารวัดหลังแรกที่สร้างด้วยไม้ทั้งหมดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2313
ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในชุมชนในปี พ.ศ. 2376 ทำให้อาคารวัดพังเสียหายทั้งหมด จึงต้องก่อสร้างใหม่ด้วยอิฐถือปูน และได้ก่อสร้างใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2459 ซึ่งคืออาคารวัดหลังที่เห็นในปัจจุบัน
วัดกาลหว่าร์ ตลาดน้อย
วัดกาลหว่าร์ หรือ วัดแม่พระลูกประคำ ตั้งอยู่ที่ซอยวานิช 2 ย่านตลาดน้อย เดิมทีเป็นที่ดินของวัดเป็นของชาวโปรตุเกสซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยากลุ่มเดียวกันกับย่านกุฎีจีน แต่เนื่องจากไม่ยอมรับการปกครองของพระชาวฝรั่งเศส จึงแยกตัวมาตั้งชุมชนใหม่บนที่ดินผืนนี้
ต่อมารัชกาลที่ 1 (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้พระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์หลังแรกขึ้นในปี พ.ศ. 2329 ชื่อว่า โบสถ์กาลวารีโอ ตามชื่อภูเขาที่พระเยซูถูกตรึงไม้กางเขน และในสมัยต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กาลหว่าร์
ส่วนโบสถ์ที่เห็นในปัจจุบัน เป็นโบสถ์หลังที่ 3 ที่สร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) โดยสร้างขึ้นใหม่ตามเจตนารมณ์ของคุณพ่อ เอเตียน บาร์เทโลมี แดส์ซาลส์ เจ้าอาวาสชาวฝรั่งเศส หลังจากโบสถ์ 2 หลังแรกทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ปัจจุบันโบสถ์หลังนี้มีอายุรวมกว่า 130 ปี และได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์เป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร
โดยโบสถ์แห่งนี้มีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบกอทิก คือส่วนหน้าเป็นยอดแหลงพุ่งสูง ประดิษฐานไม้กางเขนขอบซุ้มประตูหน้าต่างใช้เส้นโค้งหรือยอดแหลมคล้ายโดม ภายในประดับด้วยกระจกสี อีกทั้งได้เก็บรักษารูปพระศพของพระเยซู และรูปแม่พระลูกประคำ ที่เป็นสมบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก
อาสนวิหารอัสสัมชัญ ตั้งอยู่ในซอยโอเรียนเต็ล ย่านบางรัก ประวัติความเป็นมาของอาสนวิหารอัสสัมชัญ เริ่มจากบาทหลวงฌ็อง บัปติส ปาสกัล ผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส ได้รวบรวมเงินจากบรรดาคริสตศาสนิกชนคาทอลิกนำไปมอบให้แก่บาทหลวงเอสปรีต์ ฟลอรังส์ เพื่อสร้างวัดถวายเกียรติแด่พระแม่มารี บาทหลวงฟลอรังส์จึงได้นำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณฝั่งตรงข้ามวัดซางตาครู้สเพื่อเตรียมสร้างวัด
ภายหลังเมื่อบาทหลวงฟลอรังส์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช และเดินทางไปเยี่ยมคริสตศาสนิกชนที่ปีนัง ได้มีผู้บริจาคเงินเพื่อสมทบทุนสร้างวัดพระแม่มารี ท่านจึงได้ซื้อที่ดินแปลงที่สองแล้วเริ่มดำเนินการก่อสร้างวัดอัสสัมชัญขึ้น โบสถ์หลังแรกสร้างด้วยอิฐ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ “วิลันดา” อันเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมสยามและสถาปัตยกรรมตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อาคารหลังนี้สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2364 และทำพิธีเสกในวันฉลองแม่พระลูกประคำ ใน พ.ศ. 2365
พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังประเทศสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้บันทึกถึงโบสถ์หลังนี้ไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า
“มีสำนักคริสตจักร หรือชมรมพวกคริสตังอยู่ห้าแห่งด้วยกันในพระนครหลวง แห่งแรกชื่อชมรมอัสสัมชัญ ซึ่งวิทยาลัยเสมินาร์ตั้งอยู่ที่นั่น ใกล้กับตัวโบสถ์อันงามก่ออิฐถือปูน สร้างมาได้เกือบสี่สิบปีแล้ว ตัวโบสถ์นั้นมีสวนอันกว้างล้อมอยู่โดยรอบ มีบ้านเรือนของพวกคริสตังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ห่างจากชายฝั่งแม่น้ำ (Me-nam) ลึกไปประมาณหนึ่งร้อยเมตร จะเห็นทำเนียบอันสูงเด่นของมุขนายกมิซซังซึ่งสิ้นค่าก่อสร้างไปถึงสามพันฟรังก์เศษ ชั้นล่างของอาคารหลังนั้นประกอบด้วยห้องนอนสองห้องกับห้องรับแขกอันกว้างใหญ่”
ต่อมาบาทหลวงเอมีล กอลมเบต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญระหว่าง พ.ศ. 2418 - 2476 มีความเห็นว่าโบสถ์หลังเดิมคับแคบ ไม่สามารถรองรับคริสตศาสนิกชนซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงได้หารือกับบาทหลวงปิแอร์ ฌ็อง-หลุยส์ โรมิเออ เหรัญญิกของคณะมิสซังสยามซึ่งรับผิดชอบโรงพิมพ์อัสสัมชัญอยู่ในขณะนั้น และตกลงว่าจะดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ทดแทนหลังเดิม โดยจำลองรูปแบบภายนอกอาคารมาจากอาสนวิหารแม่พระแห่งเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ส่วนอาคารหลังเดิมได้ถูกรื้อถอนใน พ.ศ. 2447
อาสนวิหารหลังใหม่เริ่มวางฐานรากเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 แต่การก่อสร้างใช้เวลาหลายปีเนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้การคมนาคมไม่สะดวก และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ขาดแคลน อย่างไรก็ดี อาคารหลังใหม่นี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเปิดใช้ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2461 แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาสนวิหารอัสสัมชัญได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด จึงต้องซ่อมแซมโดยใช้เหล็กยึดโยงกลางวัด
ภายในอาสนวิหารหลังปัจจุบันตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนโดย โจวานนี สกวานชิ จิตรกรจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ภาพที่มีความโดดเด่นที่สุดคือ ภาพเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติพระแม่มารีซึ่งอยู่เหนือพระแท่นบูชา ส่วนสิ่งของที่ใช้ประดับตัวอาคาร รวมถึงรูปพระต่าง ๆ มีทั้งของเก่าที่นำมาจากอาสนวิหารหลังเดิม และของใหม่ที่บาทหลวงกอลมเบต์สั่งมาจากประเทศฝรั่งเศสและประเทศอิตาลี รวมทั้งสิ่งของที่มีผู้บริจาคด้วย
อาสนวิหารอัสสัมชัญเคยได้รับเกียรติเป็นสถานที่ต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศไทยใน พ.ศ. 2527 นอกจากนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันยังได้เสด็จมาประกอบพิธีมิสซาเพื่อเยาวชน ในคราวเสด็จเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ด้วย ซึ่งได้มีการเผยแพร่ภาพข่าวพิธีมิสซาดังกล่าวไปทั่วโลก
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
https://www.silpa-mag.com/history/article_90012
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA
https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/103462
https://www.finearts.go.th/literatureandhistory/view/22365-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B9%87%E0%B8%9B%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%8D-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2
.
https://www.finearts.go.th/fad10/view/22397-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%8D
ประวัติศาสตร์ไทย
ศาสนาคริสต์
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย