25 ธ.ค. 2023 เวลา 03:07 • ข่าว

มาเลเซียกับปฏิบัติการยึดหอคอยระฟ้า การปิดบัญชีแค้น 26 ปีของ อันวาร์ อิบราฮิม

Bockdit Originals - บทความพิเศษ
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวใหญ่บนหน้าสื่อท้องถิ่นของมาเลเซีย นั่นคือ การประกาศยึดอาคาร Menara ILHAM ตึกระฟ้าชื่อดังกลางย่านทำเลทองที่สุดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่นของมาเลเซีย (MACC)
3
ตึกระฟ้า Menara ILHAM เป็นหนึ่งในอาคารชื่อดังของมาเลเซีย ที่มีมูลค่าสูงถึง 580 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) ก่อสร้างในปี 2010 โดยว่าจ้างสถาปนิกชื่อดังที่สุดชาวอังกฤษ ที่มีค่าตัวแพงที่สุดในโลกอย่าง นอร์แมน ฟอสเตอร์ มาช่วยออกแบบให้
ปัจจุบันถือเป็นตึกที่มีความสูงเป็นอันดับ 7 ในมาเลเซีย ตั้งอยู่ไม่ไกลจากหอคอยคู่ ปิเปโตรนาสทาวเวอร์ มากนัก ซึ่งตึก Menara ILHAM แบ่งสัดส่วนพื้นที่เป็นอาคารสำนักงาน ร้านค้า ภัตตาคารและโรงแรมหรูระดับ 4 ดาว "Element Hotel" และยังเคยถูกใช้เป็นศูนย์กลางทางการเมืองในมาเลเซียอยู่ในปี 2018
3
แต่ทว่าวันนี้ ตึก Menara ILHAM ถูกยึดชั่วคราวโดยทีมคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่น (MACC) ที่ได้ออกมาเปิดเผยว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวตึก หรือผู้เช่า ดังนั้นทุกธุรกิจ และกิจการภายในตึก Menara ILHAM สามารถดำเนินต่อได้ตามปกติ แต่ปัญหาจริงๆอยู่ที่เจ้าของตึก ที่ทำให้ทาง MACC ต้องเข้ามายึดเพื่อระงับการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ หรือขายต่อไปยังบุคคลที่ 3 โดยทันที
2
ซึ่งเจ้าของตึกหรูแห่งนี้คือ "ดาอิม ไซนุดดิน" อดีตรัฐมนตรีคลังหลายสมัย ขุนคลังคนสนิทของ ดร. มหาเธร์ มูฮัมหมัด รัฐบุรุษในตำนานของมาเลเซีย
4
แม้เจ้าของตึกจะเคยเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองในมาเลเซีย แต่ MACC ก็จำเป็นต้องงัดดาบอาญาสิทธิ์ก้นหีบออกมาใช้ โดยอ้างว่าได้ยื่นหนังสือมาแปะไว้ที่หน้าตึก ถึงครอบครัวของ ดาอิม ไซนุดดิน ให้ส่งรายการบัญชีทรัพย์สินอย่างครบถ้วนมาให้ MACC ตรวจสอบภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2023 ที่ผ่านมาแล้ว แต่อดีตขุนคลังแห่งมาเลเซียบ่ายเบี่ยง จนเลยเส้นตาย จึงนำไปสู่การใช้อำนาจยึดทรัพย์ เป็นตึก Menara ILHAM ในวันนี้
4
และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของคดีความอื่นๆที่จะตามมาอีกยาวเหยียด ทั้งคดียักยอก ฟอกเงิน รับสินบน เลี่ยงภาษี คอร์รัปชัน ฯลฯ ในความผิดที่ย้อนหลังไปไกลถึง 26 ปี กับดีลหุ้นครั้งมโหฬารมูลค่า 2.3 พันล้านริงกิต (1.7 หมื่นล้านบาท) ที่ชาวมาเลเซียเรียกว่า คดี "Renong-UEM Deal" จุดแตกร้าวใหญ่ภายในรัฐบาลของ ดร. มหาเธร์ ที่เปลี่ยนชีวิตของ "อันวาร์ อิบราฮิม" นักการเมืองดาวรุ่ง ในสมัยนั้นเลย ก็เป็นได้
7
เรื่องราวดราม่าระหว่าง ดาอิม ไซนุดดิน/ อันวาร์ อิบราฮิม/ มหาเธร์ มูฮัมหมัด กับคดีดีลหุ้น Renong-UEM 1997 เมื่อ 26 ปีก่อน ที่ตอนนี้มีตึก Menara ILHAM เป็นตัวประกัน เกี่ยวพันกันได้อย่างไร วันนี้มาย้อนอดีตกันดีกว่า
1
ต้องยอมรับว่า มีนักการเมืองหลายคน ที่สามารถเติบโต ได้ดิบ ได้ดี บนเส้นทางการเมืองในมาเลเซียได้เพราะการสนับสนุนของดร. มหาเธร์ มูฮัมหมัด ซึ่ง ดาอิม ไซนุดดิน คือหนึ่งในจำนวนนั้น ที่ผันตัวจากการเป็นทนาย และนักธุรกิจโรงงานผลิตเกลือ และพลาสติก เข้าสู่วงการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกพรรค UMNO จากการชักชวนของ
มหาเธร์ มูฮัมหมัด จนก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีคลังได้ในปี 1984
4
ซึ่งนอกเหนือจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังแล้ว ดาอิม ไซนุดดิน ยังพ่วงตำแหน่งเหรัญญิก ดูแลทรัพย์สินของพรรค UMNO ด้วย ซึ่งในยุคสมัยนั้น ไม่มีพรรคการเมืองไหนยิ่งใหญ่กว่า พรรค UMNO ในมาเลเซียอีกแล้ว ที่สามารถผลักดันนโยบายก่อสร้างงานโปรเจคใหญ่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมาเลเซียมากมาย ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่รับงานก่อสร้างที่สำคัญของรัฐบาล คือ United Enginees Malaysia (UEM) รองลงมาคือ Renong Bhd
2
การควบรวมกิจการของทั้ง UEM และ Renong เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วในปี 1997 ซึ่ง ดาอิม ไซนุดดิน ได้ส่งไม้ต่อนำแหน่งรัฐมนตรีคลังให้กับ อันวาร์ อิบราฮิม หนึ่งในลูกศิษย์คนโปรดของ ดร.มหาเธร์ อีกเหมือนกัน แต่ ดาอิม ไซนุดดิน ยังคงทำหน้าที่ยังคงดูแลทรัพย์สินของพรรค UMNO เช่นเดิม
2
โดยในปีนั้น ตรงกับปีที่เกิดวิกฤติ "ต้มยำกุ้ง" ในบ้านเราก่อนลุกลามไปทั่วภูมิภาคอาเซียน และกระทบกับตลาดหุ้นมาเลเซียอย่างหนัก ส่งผลให้หุ้นของ ทั้ง UEM และ Renong ร่วงลงเป็นประวัติการณ์
2
แต่ท่ามกลางวิกฤติการเงินอันโกลาหล ก็เกิดดีลประหลาดขึ้น เมื่อมีตัวแทนจาก UEM เข้ามาช้อนซื้อหุ้นของ Renong คราวเดียวถึง 33% คิดเป็นมูลค่าถึง 2.3 พันล้านริงกิต กลายเป็น Renong-UEM Deal ที่แม้แต่ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียยังมองว่าเป็นการเข้าครอบครองหุ้น เพื่อเข้าควบกิจการที่ผิดปกติ
1
เพราะเมื่อมีการสืบสาวเบื้องหลัง พบว่าเป็นการซื้อขายหุ้นผ่านนอมินีของพรรค UMNO และมีการกดดันจากคนวงในรัฐบาลให้ ผู้ก่อตั้งบริษัท Renong ขายหุ้นจำนวนมากให้แก่ UEM ซึ่งเอื้อผลประโยชน์ต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทั้ง 2 บริษัทถืออยู่ ตามนโยบายของ รัฐบาล ดร.มหาเธร์
2
และคนที่ดูแลทรัพย์สินของพรรค UMNO ที่นำไปใช้ในการซื้อหุ้น Renong ผ่านนอมินีของพรรคในช่วงเวลานั้นก็คือ ดาอิม ไซนุดดิน นั่นเอง
และความผิดปกติของการควบกิจการ 2 บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ในจังหวะวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้ อันวาร์ อิบราฮิม ที่เป็นขุนคลังตอนนั้นไม่อาจปล่อยผ่านได้ จึงขอใช้อำนาจในการตรวจสอบ และเป็นจุดหนึ่งที่สร้างความบาดหมางระหว่างศิษย์รัก กับอาจารย์ มหาเธร์
ต่อมาหลังจากนั้นเพียง 1 ปี ในปี 1998 อันวาร์ อิบราฮิม โดนกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศผู้ช่วยชาย ที่ทำให้เขาถูกปลดจากทุกตำแหน่งทางการเมือง และต้องโทษจำคุกถึง 9 ปี ดับอนาคตนักการเมืองดาวรุ่งของเขาในพริบตา ซึ่งคนที่มารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังแทนเขาจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ดาอิม ไซนุดดิน นั่นเอง
1
ความมั่งคั่งของดาอิม ไซนุดดิน เป็นที่รู้กันดีในมาเลเซีย ที่เพิ่มพูนขึ้นมากตั้งแต่เข้าทำงานการเมือง แต่ไม่อาจประเมินได้แน่ชัดว่ามีมากขนาดไหน แต่ก็สามารถลงทุนสร้างตึกระฟ้าที่เคยสูงที่สุดในมาเลเซีย ในทำเลที่ดีที่สุดอย่าง Menara ILHAM ได้อย่างราบรื่นในปี 2010
2
และยังคงสนับสนุน ดร.มหาเธร์ มูฮัมหมัด ในการร่วมเป็นพันธมิตรพรรค Pakatan Harapan เอาชนะเลือกตั้งกับ นาจิบ ราซัค จากพรรค UMNO ได้ในปี 2018 ซึ่งตึก Menara ILHAM ก็ยังถูกใช้เป็นที่ประชุมของทีมบริหารของ Pakatan Harapan อยู่บ่อยๆ
แต่ความมั่งคั่งของ ดาอิม ไซนุดดิน และครอบครัว เริ่มถูกตั้งคำถามหนักขึ้นเมื่อมีการเปิดเผยเอกสารลับที่เรียกว่า Pandora Papers โดย International Consortium of Investigative Journalists (ICJ) ออกมาในปี 2021 ที่ปรากฏชื่อ ดาอิม ไซนุดดิน และบุตรชาย เกี่ยวพันกับบริษัทอังกฤษในประเทศที่เอื้อประโยชน์ด้านภาษีถึง 5 บริษัท ที่เป็นจุดสตาร์ทให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นในมาเลเซียออกมาขยับ ขอตรวจสอบแหล่งที่มาเงินทุน และทรัพย์สินของครอบครัวไซนุดดิน
3
และมีการขุดคดีเก่า Renong-UEM Deal ที่ถูกฝังไปแล้วถึง 26 ปีขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่า ดาอิม ไซนุดดิน จะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเดียวข้องกับดีลมหาศาลนี้ เป็นเรื่องของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัทตกลงกันเอง แต่เมื่อมีการจี้ให้ครอบครัว ไซนุดดิน แจกแจงบัญชี และแหล่งที่มาของทรัพย์สินย้อนหลัง ก็ไม่มีคำตอบจาก ดาอิม ไซนุดดิน จนกระทั่งมีคำสั่งยึดให้ตึก Menara ILHAM ในวันนี้นั่นเอง
1
จากคดีครอบครองหุ้นที่ถูกกลบฝั่งสนิทจากอิทธิพลของพรรคการเมืองใหญ่อย่าง UMNO และ รัฐบุรุษที่เป็นไอคอนทางการเมืองระดับตำนานขึ้นหิ้งอย่าง ดร.มหาเธร์ มูฮัมหมัด มานานเกือบ 3 ทศวรรษ มาวันนี้ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาอีกครั้ง ราวเวรกรรมที่ยังไม่ถูกชำระ ในจังหวะการเมืองของมาเลเซียที่เหลือเชื่อว่า วันนี้แกนนำรัฐบาลไม่ใช่ UMNO และนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียมีชื่อว่า "อันวาร์ อิบราฮิม"
6
It's "Now" or "Never" - ถ้าไม่ปิดบัญชีกันในวันนี้ ก็ไม่มีโอกาสไหนเหมาะกว่านี้อีกแล้ว
6
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
3
แหล่งข้อมูล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา