3 ม.ค. เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์

มาจะกล่าวบทไปถึง...บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง

เมื่อกล่าวถึงรัฐบาล นอกจากจะหมายถึงผู้ที่ใช้อำนาจบริหารในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นทั้งหัวหน้าคณะรัฐมนตรี และหัวหน้ารัฐบาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว สิ่งที่ทุกท่านต้องนึกไม่ลำดับใดก็ลำดับหนึ่งนั้น ก็คือสถานที่ปฏิบัติงานของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดจนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีอย่างทำเนียบรัฐบาล
สำหรับทำเนียบรัฐบาลของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกัน หากท่านใดที่ได้มีโอกาสรับชมซีรีส์เรื่อง เดอะ คราวน์ (The Crown) แล้ว คงจะจำกันได้ถึงเหตุการณ์สำคัญบางส่วนช่วงที่เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรนั้น ก็จะมีเรื่องราวทางการเมืองการปกครองเข้ามาพันเกี่ยวด้วย แล้วเมื่อกล่าวถึงการเมืองการปกครองในประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักรแล้ว คงไม่พ้นไปจากหมุดหมายสำคัญอย่าง “บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง”
  • กว่าจะมาเป็น “บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง”
ย้อนกลับประมาณ 1,000 ปีก่อน บริเวณรอบ ๆ ถนนดาวนิง (Downing street) ในนครเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักรนั้น เคยเป็นที่ตั้งรกรากของชาวโรมัน แองโกล-แซกซอน และนอร์มัน ที่เข้ามาในอังกฤษ ตั้งแต่ช่วง 55 ปีก่อนคริสตกาลมาก่อน ตามคำสั่งของจูเลียส ซีซาร์ เมื่อเวลาผ่านไปสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นแหล่งโรคระบาดและมีจำนวนคนยากจนที่มากขึ้น
ใน ค.ศ. 785 (พ.ศ. 1328) สมเด็จพระเจ้าออฟฟาแห่งเมอร์เซีย มีพระบรมราชโองการโปรดฯ ให้คานุต ซึ่งต่อมาเป็น สมเด็จพระเจ้าคนุตมหาราชแห่งอังกฤษ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ (Canute the Great) สร้างพระราชวังขึ้นที่บริเวณนี้ แล้วโดยทั้งสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี (Edward the Confessor หรือ Saint Edward the Confessor) และสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ หรือวิลเลียมผู้พิชิต (William the Conqueror) ก็เคยประทับอยู่ ณ ที่แห่งนั้น
ต่อมาเมื่อนครเวสต์มินสเตอร์ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของรัฐบาลและคริสตจักรที่มั่นคงขึ้น รวมถึงมีการสร้างพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster) และมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) ในบริเวณนั้น ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี
นครเวสต์มินสเตอร์ในปัจจุบัน (ภาพ : Wikipedia)
อาคารหลังแรกสุดที่ตั้งอยู่บนถนนดาวนิงนั้น ทราบว่าเป็นโรงเบียร์ที่มีชื่อว่า “เดอะ แอ๊กซ์” (The Axe brewery) ของมหาวิหารแห่งอบิงดอน (Abbey of Abingdon) ในช่วงยุคกลาง ต่อมาโรงเบียร์แห่งนั้นก็ได้เลิกกิจการไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 1500
ค.ศ. 1530 (พ.ศ. 2073) สมเด็จพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ (Henry VIII) โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังไวต์ฮอล (Palace of Whitehall) ขึ้นเพื่อเป็นเป็นที่ประทับของสมาชิกพระราชวงศ์แห่งทิวดอร์และสจวต แล้วได้มีการขยายพื้นที่ออกไป ตั้งแต่สวนสาธารณะเซนต์เจมส์ไปจนถึงแม่น้ำเทมส์ ปัจจุบันที่ตั้งของถนนดาวนิงนั้น ตรงกับริมพระราชวังไวท์ฮอล จนกระทั่งได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1698 (พ.ศ. 2241)
ภาพวาดพระราชวังไวต์ฮอล ที่ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ มากกว่า 2,000 ห้อง กินพื้นที่ยาวถึงหลายสิบเอเคอร์ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร ก่อนจะได้รับความเสียหายจากอัคคีภัย เมื่อ ค.ศ. 1698 (พ.ศ. 2241) (ภาพ : The Royal Collection Trust)
ค.ศ. 1581 (พ.ศ. 2124) ได้มีการสร้างบ้านขึ้นบนถนนดาวนิง โดยเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (Elizabeth I) ได้พระราชทานให้แก่เซอร์โธมัส ไนเวต์ หนึ่งในคนโปรดของพระองค์ หลังจากที่เซอร์โธมัส ไนเวต์ และภรรยาได้ถึงแก่กรรม บ้านหลังนี้ก็ได้ตกทอดไปยังหลานสาวของพวกเขา คือ เอลิซาเบธ แฮมป์เดน
จนมาถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ก็ได้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นบริเวณบ้านหลังนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางการเมือง เผชิญกับสงครามกลางเมืองภายในอังกฤษ รวมถึงการประหารชีวิตของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (Charles I) ใน ค.ศ. 1649 (พ.ศ. 2192)
ภาพการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ บริเวณหน้าพระราชวังไวต์ฮอล ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1649 (พ.ศ. 2192) (ภาพ : The Royal Collection Trust)
จน ค.ศ. 1654 (พ.ศ. 2197) เซอร์จอร์จ ดาวนิง ได้ซื้อที่ดินทางตะวันออกของสวนสาธารณะเซนต์เจมส์ติดกับบ้านด้านหลังและสามารถเดินไปยังรัฐสภาได้ พร้อมกับวางแผนที่จะสร้างทาวน์เฮาส์ขึ้นแถวหนึ่ง แต่ยังคงมีสัญญาเช่าอยู่กับครอบครัวแฮมป์เดนอยู่ จึงไม่สามารถก่อสร้างได้เป็นเวลา 30 ปี
เมื่อหมดสัญญาเช่า เซอร์จอร์จ ดาวนิง จึงได้รับอนุญาตให้รื้อถอน และสร้างเป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ในระหว่าง ค.ศ. 1682-1684 (พ.ศ. 2225-2227) ซึ่งได้รับการออกแบบโดย เซอร์คริสโตเฟอร์ เรน มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบจอร์เจียน (Georgian architecture) เป็นอาคารสี่เหลี่ยมที่มีความสมมาตร
ภาพร่างของทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ซึ่งได้กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ในเวลาต่อมา (ภาพ : The National Archives)
แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่และสวยงามเพียงใด แต่ก็ถูกปลูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วบนที่ดินที่มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำ ซึ่งไม่เหมาะแก่การก่อสร้าง จึงมีการขายในราคาที่ถูก ประกอบกับพื้นด้านหน้า แทนที่จะปูด้วยอิฐจริง ๆ กลับมีการวาดพื้นเลียนแบบเป็นลายอิฐแทน จึงกลายเป็นความเดือนร้อนให้กับนายกรัฐมนตรีในแต่ละสมัยที่ได้มีโอกาสเข้ามาพำนัก แม้แต่เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรี เองก็เคยกล่าวถึงบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ไว้ว่า
Shaky and lightly bulit by the profiteering contractor
whose name they bear.
(อาคารที่สั่นเทาและสร้างขึ้นอย่างเบาบาง โดยผู้รับเหมาจอมเอาเปรียบ)
เมื่อสร้างแล้วเสร็จ ก็ได้มีบรรดาผู้ลากมากดี มีบรรดาศักดิ์ และชื่อเสียงทั้งหลาย ตั้งแต่ระดับเอิร์ลถึงลอร์ด มาพักอาศัยกันหลายต่อหลายคน แรกเริ่มบ้านถนนดาวนิงแห่งนี้ก่อนจะมาเป็นหมายเลข 10 นั้น เคยเป็นหมายเลข 5 มาก่อน และถูกจัดลำดับใหม่ใน ค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330)
หลังจากนั้น ค.ศ. 1824 (พ.ศ. 2367) บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ที่เดิมมีอาคาร 3 หลังก็ได้ถูกซื้อไปโดย สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่ (George II of Great Britain) แล้วได้พระราชทานแก่เซอร์โรเบิร์ต วอลโพล ขุนคลังในพระองค์ ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งบริเตนใหญ่ ปัจจุบันชื่อ “First Lord of the Treasury” ยังคงสลักอยู่บนช่องไปรษณีย์ทองเหลืองที่หน้าประตูบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง
ช่องไปรษณีย์ทองเหลืองที่สลักว่า “First Lord of the Treasury” บนบานประตูบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง (ภาพ : The Independent)
ต่อมาเมื่อเซอร์โรเบิร์ตอ วอลโพล เข้ามาพำนักในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1735 (พ.ศ. 2278) ก็ได้มอบหมายให้สถาปนิกที่ชื่อ วิลเลียม เคนต์ ทำการเชื่อมอาคารทั้ง 3 หลังเข้าด้วยกัน และตกแต่งภายในใหม่ทั้งหมด จึงทำให้มีขนาดใหญ่และกว้างขวางขึ้น ถือเป็นวาระแรกแห่งบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ในฐานะสำนักงานใหญ่ของรัฐบาลในสมเด็จฯ (HM Government) และที่พำนักของนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร จนกระทั่งบัดนี้
บรรยากาศของบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ก็จะมีความคล้ายคลึงกับทำเนียบขาวของสหรัฐอเมริกา เป็นพื้นที่ทางการเมืองการปกครองที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เบื้องหลังประตูสีดำที่มีหมายเลข 10 สีขาวติดอยู่กลางประตูนั้น นอกจากจะเป็นทั้งพำนักและทำงานของนายกรัฐมนตรีในแต่ละสมัยแล้ว
ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ภายในบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง (ภาพ : Wired UK)
ยังเป็นสถานที่สำคัญที่เคยก้าวผ่านเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ มามากมายหลายเหตุการณ์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นที่รับรององค์พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ตลอดจนสมาชิกพระราชวงศ์ทุกพระองค์ ให้การต้อนรับทั้งพระราชอาคันตุกะและอาคันตุกะจากนานาประเทศที่ได้เสด็จพระราชดำเนิน เสด็จ หรือเดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการ เป็นพื้นที่แห่งการลงนามและเคยได้รับความเสียหายมาแล้วในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 รวมถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักร
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับบรรดาอดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ เนื่องในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (Golden Jubilee) เมื่อ ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ณ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง (ภาพ : Wikipedia)
ทั้งการสิ้นสุดของจักรวรรดิอังกฤษ การสร้างระเบิดนิวเคลียร์ของอังกฤษ การจัดการวิกฤติเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำถึงภาวะถดถอยครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) และการสร้างรัฐสวัสดิการก็ได้เกิดขึ้นที่นี่เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม บ้านเลขที่ 10 แม้จะทำหน้าที่เป็นสำนักนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร แต่ก็ไม่ได้ถูกใช้งานในฐานะบ้านพักหลังหนึ่งของนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่เท่าไรนัก เนื่องจากนายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่ที่ทาวน์เฮาส์ส่วนตัว เพราะสะดวกสบายกว่า
จนมาถึง ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411) เมื่อเบนจามิน ดิสราเอลี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น บ้านก็อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ไม่มีใครอาศัยอยู่ที่นั่นมานานถึง 30 ปีแล้ว ซึ่งเบนจามิน ดิสราเอลีถึงกับเคยกล่าวว่า
มันสกปรกและผุพัง
ปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 จึงได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง พร้อมกับเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ซึ่งแวดล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย แล้วเบนจามิน ดิสราเอลีเองได้ทำการยื่นเรื่องให้รัฐบาลมอบงบประมาณสนับสนุนในการตกแต่ง แม้ว่าเขาจะจ่ายค่าปรับปรุงห้องส่วนตัวด้วยตัวเองก็ตาม เขาได้อาบน้ำร้อนและเย็นครั้งแรกในบ้านโดยติดตั้งในราคากว่า 150 ปอนด์
แล้วเมื่อครั้งที่วิลเลียม แกลดสโตน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) ได้มีการติดตั้งไฟไฟฟ้าและโทรศัพท์เครื่องแรก เครื่องทำความร้อนส่วนกลางได้รับการติดตั้งใน ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) รวมถึงห้องใต้หลังคาก็ได้รับการแปรสภาพเป็นแฟลตสำหรับนายกรัฐมนตรีด้วย
อนึ่ง ณ บ้านหลังนี้ได้มีอดีตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่เสียชีวิต คือ เซอร์เฮนรี แคมป์เบลล์-แบนเนอร์แมน นายกรัฐมนตรีตั้งแต่ ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) จนกระทั่งลาออกเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) แต่เขาป่วยหนักเกินกว่าจะย้ายออกจากบ้านหลังนี้ได้ ซึ่งได้เสียชีวิตในอีก 19 วันต่อมา คือ วันที่ 22 เมษายน 1908
  • ผู้จับหนูแห่ง “บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง”
ที่บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง เอง นอกจากตำแหน่งต่าง ๆ ในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของพื้นที่แล้ว ก็ยังมีตำแหน่ง “ผู้จับหนูประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรี” (Chief Mouser to the Cabinet Office) ด้วย โดยตำแหน่งนี้เป็นของ “แลร์รี” (Larry) แมวเพศผู้ ขนสั้นสีขาว ลายสลิด ของนายเดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับอุปการะมาจากบ้านสุนัขและแมวแบทเทอเรีย (Battersea Dogs and Cats Home) ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
แลร์รี ผู้จับหนูประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรี (ภาพ : Nettavisen)
แลร์รี มารับตำแหน่งเป็นผู้จับหนูประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) ร่วมกับเฟรยา (Freya) แมวลายสลิดเพศเมีย ที่รับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 2012 ถึง 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2555-2557)
เฟรยา (ภาพ : Daily Mail)
โดยหน้าที่ในแต่ละวันของแลร์รีนั้น นอกจากการจับหนูในบ้านแล้ว ยังได้ทำหน้าที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนบ้านเลขที่ 10 ตรวจสอบระบบป้องกันความปลอดภัย รวมถึงตรวจสอบถึงคุณภาพของเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละชิ้น เพื่อค้นหาพื้นที่ที่ดีสุดสำหรับการหลับนอน ตามสไตล์ของแมวเหมียว
หรือแม้แต่การออดอ้อนผู้คนที่ผ่านไปมา และการแย่งซีนในทุก ๆ ครั้งที่มีสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ มาปักหลักขอสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี ตลอดจนคณะรัฐบาล จึงไม่แปลกใจเลยที่แลร์รีจะเป็นแมวขวัญใจของทุก ๆ คน ถึงกับมีการส่งของขวัญมาให้ทุกวันเลยทีเดียว คิดแล้วก็ช่างน่าอิจฉาเจ้า “แลร์รี” เสียจริง ๆ
แลร์รี ขณะปฏิบัติหน้าที่ออดอ้อนเจ้าหน้าที่ตำรวจ บริเวณบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง (ภาพ : NPR)
จากเรื่องราวทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง มีความสำคัญอย่างมากต่อสหราชอาณาจักร ทั้งในด้านคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง การเป็นที่อยู่อาศัย ตลอดจนจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการนำพาสหราชอาณาจักรไปในทิศทางต่าง ๆ ของคณะรัฐบาลแต่ละสมัย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดนิ่งในแต่ละวัน
อ้างอิง:
#AdminField
โฆษณา