26 ธ.ค. 2023 เวลา 05:04 • การตลาด

เม็งกะลาบา เมียนมาร์ จับใจ

26 ธันวาคม 2566
จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ไตรมาสที่ 1/2566 กระทรวงแรงงาน ระบุตัวเลขแรงงานต่างชาติในไทยมีจำนวน 2,743,673 คน แบ่งเป็น เมียนมา 1.86 ล้านคน, กัมพูชา 4.14 แสนคน, ลาว 2.10 แสนคน และเวียดนาม 2,230 คน และแรงงานสัญชาติอื่นๆ 3 แสนคน ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวในไทยคิดเป็น 6.92 % ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในไทย
แต่ข้อเท็จจริงยังมีแรงงานต่างด้าวอยู่ในประเทศไทยไม่น่าจะน้อยกว่า 10 ล้านคน และ เป็นเมียนมาร์ถึง 6-7 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วประเทศแต่คาดว่าน่าจะมากสุดที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม และ ธุรกิจการประมงเป็นหลัก ซึ่ง Media Intelligence Group ได้ประเมิณมูลค่าทางเศรษฐกิจของชาวเมียนมาร์ในประเทศไทยสูงถึง 0.85-1.25 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่มีนัยะสำคัญทางเศรษฐกิจ
หากเราเอาตัวเลขกลมๆก็ 1.0 ล้านล้านบาท คือเป็นสองเท่าของงบประมาณที่รัฐบาลท่านนายกเศรษฐา เตรียมที่จะแจกคนไทยคนละ 10,000 บาทในปีหน้า
แต่ว่ายอดเงิน 1.0 ล้านล้านบาทนี้ไม่ได้หมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย เพราะไม่ทราบแน่ชัดว่าเงินรายได้ของแรงงานเมียนมาร์ในไทยนั้นถูกส่งกลับไปประเทศบ้านเกิดเท่าใด เพราะไม่ได้ผ่านระบบธนาคาร แต่ถ้าตั้งบนสมมุติฐาน 50 เปอร์เซนต์ (แต่ข้อเท็จจริงน่าจะส่งกลับไปมากกว่านั้น ) ก็จะประมาณการว่ามีเงินหมุนเวียนในประเทศไทยสร้างจีดีพีไทยถึง 0.5 ล้านล้านบาท หรือ 5 แสนล้านบาทนั่นเอง
แล้วเราจะหาทางดึงรายได้ของชาวเมียนมาร์เหล่านี้ให้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร ก็คงต้องเฝ้ามองพฤติกรรมของแรงงานเหล่านี้ว่ามีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อจะดึงให้เขาได้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจาก 5 แสนล้านเป็นอย่างน้อยที่ประเมินว่าส่งกลับบ้าน หากดึงได้ 1-2 แสนล้านก็มีนัยสำคัญต่อจีดีพีประเทศไทยแล้วครับ
การกระตุ้นการบริโภคของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้สามารถทำได้อย่างไม่ยาก หากหน่วยงานรัฐเห็นความสำคัญและเม็ดเงินนี้ก็สามารถทำได้ด้วยการเพิ่มกิจกรรมของแรงงานต่างด้าว ซึ่งรวมถึงชาว ลาว กัมพูชาด้วย ก็ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆให้คนเหล่านี้ออกมาใช้สอย โดยกิจกรรมนั้นจะต้องสอดรับกับพฤติกรรม ของชนชาตินั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีทางศาสนา ทางการบันเทิง โดยอาจจะมีพรีเซนต์เตอร์ หรือ ดารา นักร้อง ที่เป็นขวัญใจของแรงงานแต่ละชาตินั้นๆ เป็นจุดดึงดูด
ผมเคยแนะนำทีมฟุตบอล หรือ ฟุตซอล หรือ วอลเล่ย์บอล สมุทรสาครให้มีนักกีฬาบิ๊กเนมของชาวเมียนมาร์มาเป็นนักกีฬาในทีมนั้นๆ แต่ก็ต้องเอาที่มีฝีมือและช่วยทีมได้ในระดับหนึ่ง เพื่อดึงดูดแฟนคลับให้ติดตาม และซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันเพราะแรงงานเหล่านี้หยุดงานวันอาทิตย์วันเดียว ไปไหนไกลไม่ได้เพราะทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ดังนั้นการจัดกิจกรรมใดๆที่โดยกับจริตของแรงงานเหล่านี้ โดยจัดในวันอาทิตย์และในแหล่งรวมแรงงานเพื่อไม่ต้องเดินทางไกล ก็จะเป็นการตอบโจทย์
หรืออย่ากระนั้นเลยจัดงาน “เมียนมาร์แฟร์อินมหาชัย” ไปเลย จัดแบบว่า ปีละ 2 ครั้ง เชื่อได้ว่าคนจะมาร่วมงานเป็นแสนๆ คนต่ออีเวนต์อย่างแน่นอน ซึ่งในสมุรสาครจำนวแรงงานในระบบที่ขึ้นทะเบียนไว้มี 2.6 แสนคน เป็นแรงงานเมียนมาร์ 1.4 แสนคน ใช่ครับที่ไม่ได้ลงทะเบียนน่าจะอีกเท่าตัวหนึ่งเป็นอย่างน้อย
ซึ่งแน่นอนการใช้ภาษาท้องถิ่นของชาตินั้นๆย่อมเป็นเครื่องแบรนด์จะดึงดูดลูกค้าชาตินั้นๆให้จดจำ และเป็นที่ชื่นชอบในแบรนด์นั้นๆ ต้นแบบในเรื่องนี้ก็คื่อสินค้าในอเมริกาที่กลุ่มเป้าหมายเป็นฮิสปานิค คือกลุ่มชาติที่ใช้ภาษาสเปนเพื่อการสื่อสาร ก็จะมีพรีเซนเตอร์ แนวคิดโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และภาษาที่ใช้สอดรับกับชาติเหล่านั้น ที่เราเห็นอย่างชัดเจนจับต้องได้สำหรับประเทศไทยคือ น่าจะ 30 ปีที่แล้วเอทีเอ็มในจังหวัดสมุทรสาครจะมีภาษาเมียนมาร์ให้เลือกด้วย
และปัจจุบันนี้หลายๆแบรนด์ก็ได้ใช้แนวคิดนี้มาเพื่อสื่อสารกับลูกค้าต่างชาติเหล่านี้ โดยในเว็บ หรือ ในแอป จะมีภาษต่างๆให้เลือกมากขึ้นจากเดิมที่มีแต่ ไทย จีน อังกฤษ หรือ ญี่ปุ่น ก็จะมีลาว เขมร เมียนมาร์ มาเป็นตัวเลือกอีกด้วยขึ้นอยู่กับลูกค้าเป็นชาติใดๆ ที่ชัดเจนที่สุดคือ ค่ายมือถือเอไอเอสได้เริ่มทำมาหลายปีแล้ว ธนาคาร รวมทั้งสินค้าอื่นๆก็ต้องปรับตัว ปรับภาษา ให้สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง
โฆษณา