26 ธ.ค. 2023 เวลา 09:16 • การเมือง

การเมืองโลกหากทรัมป์กลับมาคว้าชัย - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

การเลือกตั้งใหญ่สหรัฐฯ จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของปีใหม่ แต่ถ้าการเลือกตั้งสหรัฐฯ มีขึ้นในวันนี้ ผลโพลทุกโพลชี้ว่า ทรัมป์จะกลับมาชนะไบเดน หลายคนงงว่า คนสหรัฐฯ ยังจะเลือกทรัมป์ได้อย่างไรท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายในยุคของเขา แต่ฐานเสียงของทรัมป์เหนียวแน่นมาก ขณะที่ฐานเสียงไบเดนนับวันยิ่งแตกหรือถดถอยลง
4
หากทรัมป์กลับมาชนะได้จริงในเดือนพฤศจิกายน การเมืองโลกจะเปลี่ยนเพียงใด สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแน่นอนก็คือการที่สหรัฐฯ เป็นปฏิปักษ์ต่อจีนและมองจีนเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ อันนี้ใครเป็นรัฐบาลใครเป็นประธานาธิบดีก็คงไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว สองยักษ์ไม่กลับมารักกันอีก
แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนและจะมีผลมหาศาล คือ สงครามยูเครน และความสัมพันธ์กับรัสเซีย มีโอกาสสูงที่รัฐบาลทรัมป์ 2 จะกดดันให้ยูเครนจำต้องเจรจาหาทางลงกับรัสเซีย เช่นอาจต้องถอยยอมรับดินแดนที่รัสเซียยึดไปแล้ว เพราะหากสหรัฐฯ หยุดการช่วยเหลือยูเครนในเรื่องอาวุธ ยูเครนย่อมไม่เหลือทางเลือกมากในการต่อสู้อีก
สาเหตุที่ทรัมป์อาจจะเลือกแลกยูเครน เพราะทรัมป์ต้องการหนุนอิสราเอลเต็มที่ในสงครามอิสราเอล-ฮามาส (ทรัมป์น่าจะเป็นประธานาธิบดีที่เป็นมิตรกับอิสราเอลมากที่สุดคนหนึ่ง) และคงต้องการกลับมาจัดการจีนอย่างเต็มที่ด้วย เขาไม่ต้องการเปิดศึกสามด้านพร้อมกัน และสามด้านนี้ ในมุมมองฐานเสียงรีพับลิกัน ยูเครนอาจสำคัญน้อยที่สุด
4
มีนักยุทธศาสตร์ของรีพับลิกันบางกลุ่มที่มองว่า สหรัฐฯ ควรต้องผนึกกำลังกับรัสเซียเพื่อต่อสู้จีน หรืออย่างน้อยก็ต้องพยายามแยกรัสเซียและจีนออกจากกัน ไม่ใช่ทำแบบไบเดนที่ผลักให้รัสเซียและจีนกลายเป็นคู่หูคู่ซี้กันเช่นนี้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯ
2
แนวคิดนี้คล้ายกับในยุคของนิกสันที่สหรัฐฯ พยายามแยกจีนกับสหภาพโซเวียตออกจากกัน โดยยอมประสานความเห็นต่างกับจีนในเรื่องไต้หวัน เพราะตอนนั้นสหรัฐฯ มองขาดว่าสหภาพโซเวียตคือภัยคุกคามและคู่แข่งอันดับ 1 มารอบนี้ สหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ 2 อาจยอมปิดตาข้างหนึ่งเรื่องยูเครน เพื่อประสานรอยร้าวกับรัสเซีย และพยายามแยกรัสเซียออกจากจีน
ทรัมป์กับไบเดนแตกต่างกันตรงที่ไบเดนเน้นการต่างประเทศเชิงคุณค่าและอุดมการณ์ สำหรับไบเดนแล้ว เรื่องสงครามยูเครนเป็นเรื่องคุณค่า อุดมการณ์ และความถูกต้องที่ยอมถอยไม่ได้ ขณะที่ทรัมป์ไม่สนใจเรื่องคุณค่าแบบนั้น การต่างประเทศสำหรับทรัมป์เป็นเรื่องการต่อรองผลประโยชน์กับทั้งรัสเซียและยูเครนมากกว่า โดยเฉพาะในการต่อรองผลประโยชน์กับรัสเซีย ถ้าดีลกันได้ ยูเครนก็คงเป็นหมากที่ทรัมป์ยอมแลก
4
ส่วนความสัมพันธ์กับจีน จริงๆ แล้วความสัมพันธ์กับจีนในยุคไบเดนเรียกได้ว่าตกต่ำกว่าในยุคของทรัมป์เสียอีก ในส่วนของสงครามการค้านั้น ไบเดนไม่ได้ยกเลิกกำแพงภาษีใดๆ ที่ทรัมป์ตั้งขึ้นเลย ตรงกันข้าม เขายกระดับสงครามเทคโนโลยีเสียอีก ข้อจำกัดต่ออุตสาหกรรมชิปของจีนในยุคไบเดนแรงกกว่าสมัยทรัมป์มาก
3
ถึงทรัมป์กลับมา ภาพความสัมพันธ์กับจีนก็ยังคงเป็นภาพคู่แข่งกันไม่ต่างจากเดิม ปากทรัมป์อาจจะร้อนแรงและหวือหวากว่าไบเดนเสียด้วยซ้ำ ส่วนนโยบายที่เป็นรูปธรรมนั้น ของทรัมป์อาจมีขึ้นลงตามการต่อรองผลประโยชน์ มีความหวือหวาและเหวี่ยงไปมาให้เราตกใจเหมือนขึ้นรถไฟเหาะ เช่นยุคของทรัมป์ 1 มีทั้งการทำสงครามการค้าและการเจรจาข้อตกลงการค้า Phase 1 กับจีน แต่ในยุคไบเดนนั้น นโยบายต่อจีนค่อนข้างเสถียร ต่อเนื่อง แย่เสมอต้นเสมอปลายไม่มีการเปลี่ยนแปลง
2
ตลอดยุคไบเดน ทีมต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น รมว.ต่างประเทศ หรือที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ล้วนเป็นทีมเดิมตลอด 4 ปี ไม่มีการเปลี่ยนตัว ขณะที่ในยุคทรัมป์ 1 นั้นเปลี่ยนขุนพลบ่อยมาก นโยบายการต่างประเทศที่เป็นรูปธรรมก็ขึ้นอยู่กับขุนพลพอสมควร ตัวทรัมป์เองกำหนดทิศทางและปั่นกระแสความแข็งกร้าวต่อจีน แต่ในด้านนโยบายนั้น ระดับความแข็งกร้าวมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับตัวขุนพลของทรัมป์ที่รับไปปฏิบัติ
3
หากเป็นทรัมป์ 2 จึงยังต้องดูด้วยว่าใครจะมาเป็นขุนพลเรื่องการต่างประเทศและทีมนโยบาย มีคนชี้ว่าคนหน้าเดิมๆ หากไม่ทะเลาะกับทรัมป์ไปแล้ว ก็ผิดใจกันไปแล้วจากการแสดงความคิดเห็นในประเด็นการเมืองต่างๆ ที่อาจต่างจากทรัมป์ หลายคนจึงมองว่าหากทรัมป์กลับมาอีกครั้ง คงเลือกใช้คนใหม่ชุดใหม่ทั้งหมดในเรื่องการต่างประเทศ ไม่ใช่ชุดเดิมที่เคยทำงานกันมาในรัฐบาลทรัมป์ 1
2
ที่แน่ๆ รัฐบาลทรัมป์จะเป็นรัฐบาลที่พันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่ไว้ใจในความแน่นอนทางนโยบายและในการร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กันสู้เพื่อคุณค่า ยุคของทรัมป์จะกลับมาสู่ยุคตัวใครตัวมัน ในเรื่องของยูเครนนั้น หากทรัมป์ถอยจากการสนับสนุนยูเครนจริง ก็คงเกิดรอยร้าวกับพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปที่มองสงครามยูเครนเป็นเรื่องของคุณค่าและความถูกผิด ไม่ใช่เรื่องที่สามารถจะประนีประนอมกันได้
ตอนนี้คะแนนของทรัมป์ในพรรครีพับลิกันนำห่างคู่แข่งหลายช่วงตัว แต่หากเกิดพลิกโผ สุดท้ายได้คนอื่นมาเป็นตัวแทนรีพับลิกัน และรีพับลิกันสามารถทวงคืนทำเนียบขาวได้ เผลอๆ ตัวรีพับลิกันคนอื่นจะร้อนแรงกว่าทรัมป์เสียอีกในเรื่องจีน โดยเฉพาะในประเด็นไต้หวัน ซึ่งทรัมป์เองไม่เคยสนับสนุนไต้หวันในลักษณะที่ข้ามเส้นแดงของจีนมาก่อน หากเป็นทรัมป์ อาจแรงน้อยกว่าตัวแทนรีพับลิกันคนอื่นในเรื่องความสัมพันธ์ต่อจีน ในประเด็นไต้หวัน รวมทั้งความเสี่ยงที่จะผลักโลกเข้าสู่สงครามระหว่างมหาอำนาจเบอร์ 1 และเบอร์ 2
1
วันนี้ยังเร็วเกินไปครับที่จะประเมินผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้อย่างฟันธง แต่ที่เขียนมาเพื่อให้เราเข้าใจความสำคัญและเดิมพันของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนของปีใหม่ว่าจะมีผลมหาศาลต่อการเมืองโลก
โฆษณา