26 ธ.ค. 2023 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

โอกาส 3 ต่อ เมื่อเริ่ม DCA กองทุนลดหย่อนภาษี ตั้งแต่วันนี้

ช่วงโค้งสุดท้ายของการลดหย่อนภาษีแบบนี้ แน่นอนว่านักลงทุนหลายคน ก็คงจะกำลังมองหากองทุนลดหย่อนภาษี ทั้งแบบ SSF, RMF หรือ ThaiESG เพื่อให้ทันสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อน ปี 2566 นี้อยู่เช่นกัน
ซึ่งสำหรับผู้ที่ลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษี ที่มักลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียวในช่วงสิ้นปีอยู่เป็นประจำ
รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว หากผู้ลงทุนปรับกลยุทธ์เป็นการเน้น “DCA” หรือ การทยอยลงทุนเป็นงวด ๆ ในจํานวนเงินที่เท่า ๆ กัน แทนนั้น นอกจากจะยังสามารถลดหย่อนภาษีได้เหมือนเดิมแล้ว ก็อาจสร้างโอกาสเพิ่มเติมในหลาย ๆ ด้านด้วย ไม่ว่าจะเป็น
1) โอกาสฝึกวินัยการลงทุน ไปพร้อมกับการลดความผิดพลาดจากการจับจังหวะตลาด
ด้วยคอนเซปต์ของการ DCA ที่เป็นการลงทุนในรูปแบบ การทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินเท่า ๆ กัน โดยไม่สนใจราคา หรือสภาพตลาด แน่นอนว่านี่จึงเป็นเหมือนกับการบังคับ ให้เราทยอยลงทุนในสินทรัพย์ไปอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนคอนเซปต์ของกองทุนลดหย่อนภาษีนั้น จะเปรียบเสมือนเป็นการลงทุน ที่เน้นให้ผู้ลงทุน ถือครองสินทรัพย์ในระยะยาวไม่ว่าจะเป็น
- ThaiESG ที่ต้องถือครองอย่างน้อย 8 ปี (ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี และไม่เกิน 100,000 บาท)
- SSF ที่ต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปี (ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท รวมทั้งเมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนอื่น ๆ ทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท)*
- RMF ที่ต้องซื้อต่อเนื่องแบบปีต่อปี (หรือปีเว้นปี) เป็นระยะเวลา 5 ปี เป็นอย่างน้อย และขายได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เป็นต้น (ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี และเมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนอื่น ๆ ทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท)*
*นับรวมกลุ่มเกษียณทั้งหมด ประกอบด้วย SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูฯ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเน้นวินัย และความสม่ำเสมอต่อการลงทุนในระยะยาว เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้นั่นเอง
2) โอกาสในการได้รับต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยที่ถูกกว่า
การลงทุนในกองทุน SSF, RMF หรือ ThaiESG แบบก้อนใหญ่ ก้อนเดียวไปเลยในช่วงสิ้นปีแบบนี้ อาจมีทั้งข้อที่ดีมากกับดีน้อย
กรณีดีมาก คือ หากจังหวะที่หน่วยลงทุนของสินทรัพย์กำลังย่อตัวอยู่พอดี ก็ถือเป็นจังหวะเข้าลงทุนต่อหน่วยราคาที่ไม่แพง แถมยังได้จำนวนหน่วยมากขึ้นในเงินลงทุนที่เท่าเดิม
กรณีดีน้อย คือ หากจังหวะสินทรัพย์เกิดมีราคาที่สูงขึ้น การลงทุนด้วยเงินก้อนเดียว ก็ทำให้เราได้หน่วยลงทุนที่น้อยลงนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ตอบโจทย์ในการลงทุนระยะยาว บนกองทุนลดหย่อนภาษีต่าง ๆ หากนักลงทุนเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการทยอยลงทุนซื้อในทุก ๆ เดือนแทน ก็จะสามารถสร้างโอกาสในการเข้าลงทุนบนต้นทุนราคาเฉลี่ย ที่ถูกกว่าการเก็บเงินซื้อเป็นก้อนในบางเดือนได้อีกด้วย
3) โอกาสในการสร้างสภาพคล่องทางการเงิน ไปพร้อมกับการใช้พลังผลตอบแทนทบต้น สำหรับผู้ที่มีงบน้อย
แน่นอนว่าการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในช่วงสิ้นปี ด้วยเงินก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียวนั้น ในบางครั้งก็อาจทำให้สภาพคล่องทางการเงินในช่วงสิ้นปีของนักลงทุน ลดน้อยลงจากการใช้เงินจำนวนมาก
ฉะนั้น สำหรับผู้ที่มีงบน้อย การใช้กลยุทธ์ DCA เพื่อทยอยลงทุนในทุก ๆ เดือน จึงเป็นเหมือนกับการช่วยรักษาสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อต้องลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในปีนั้น ๆ ไปพร้อมกับการช่วยสร้าง “ผลตอบแทนทบต้น” ในระยะยาว จากการลงทุนได้อีกด้วย
แน่นอนว่ากองทุนแต่ละประเภททั้งหมดนี้ ถือว่าเหมาะสำหรับการออมผ่านการลงทุนในระยะยาวเป็นอย่างมาก เพราะในกรณีของ SSF, RMF และ ThaiESG นั้น นักลงทุนสามารถทยอย DCA เพื่อสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าระยะเวลาถือครองจะครบแล้วก็ตาม หากนึกภาพไม่ออกว่าพลังของการ DCA ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการเติบโตของอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเป็นอย่างไร ลองไปดูตัวอย่างแบบง่าย ๆ กัน
ในกรณีที่นักลงทุน อายุ 30 ปี และต้องการออมเงินผ่านกองทุนลดหย่อนภาษี ด้วยงบ 6,000 บาทต่อเดือน (72,000 บาทต่อปี) โดยคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี ที่ 8% นั้น
- ในระยะเวลา 5 ปี (ตามข้อกำหนดขั้นต่ำของ RMF) นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนทบต้นที่ 456,186 บาท
- ในระยะเวลา 8 ปี (ตามข้อกำหนดขั้นต่ำของ ThaiESG) นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนทบต้นที่ 827,104 บาท
- ในระยะเวลา 10 ปี (ตามข้อกำหนดขั้นต่ำของ SSF) นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนทบต้นที่ 1,126,475 บาท
- ในระยะเวลา 25 ปี (ตามข้อกำหนดขั้นต่ำของ RMF ที่ 55 ปีบริบูรณ์) นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนทบต้นที่ 5,684,717 บาท
แต่ถ้าหากมองไปที่สถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยในช่วงนี้ ที่ค่อนข้างมีความผันผวน และอาจทำผลกำไรในระยะสั้นในระดับ 8% ได้ยากมากขึ้น แน่นอนว่าการ DCA บนกองทุนลดหย่อนภาษี ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธี ที่สามารถเป็นโอกาส ในการเอาชนะอัตราเงินเฟ้อแบบปีต่อปี ไปพร้อม ๆ กับการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่นกัน
เพราะอย่าลืมว่ากองทุนลดหย่อนภาษีแต่ละประเภท ก็มีหลากหลายนโยบายการลงทุน ที่น่าสนใจ และตอบโจทย์ผู้ลงทุนในหลาย ๆ รูปแบบให้เลือกสรร ซึ่งหากนักลงทุน ศึกษาและคัดสรรให้ดี ก็มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในช่วงที่มีความผันผวนระยะสั้นได้
เช่น ในกรณีที่นักลงทุน อายุ 30 ปี และต้องการลงทุนผ่านกองทุนลดหย่อนภาษี ด้วยงบ 6,000 บาทต่อเดือน (72,000 บาทต่อปี) โดยมีจุดประสงค์เพื่อการเอาชนะอัตราเงินเฟ้อต่อปี และคาดหวังผลตอบแทนโดยเฉลี่ยต่อปี ที่ 3% นั้น
- ในระยะเวลา 5 ปี (ตามข้อกำหนดขั้นต่ำของ RMF) นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนทบต้นที่ 393,725 บาท
- ในระยะเวลา 8 ปี (ตามข้อกำหนดขั้นต่ำของ ThaiESG) นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนทบต้นที่ 659,455 บาท
- ในระยะเวลา 10 ปี (ตามข้อกำหนดขั้นต่ำของ SSF) นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนทบต้นที่ 850,161 บาท
- ในระยะเวลา 25 ปี (ตามข้อกำหนดขั้นต่ำของ RMF ที่ 55 ปีบริบูรณ์) นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนทบต้นที่ 2,703,819 บาท
ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของโอกาสทางการลงทุน ที่นักลงทุนจะได้รับ เมื่อใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA กับกองทุนลดหย่อนภาษี
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นกองทุนลดหย่อนภาษี นักลงทุนควรตรวจสอบรายละเอียด และสิทธิในการลดหย่อนภาษีก่อนด้วยว่า กองทุนแต่ละรูปแบบ มีข้อกำหนดในเรื่องสิทธิลดหย่อนอื่น ๆ เพิ่มเติมเอาไว้อย่างไรบ้าง และควรลงทุนเท่าไรเพื่อไม่ให้เกินสิทธิที่กำหนด เช่นกัน
สุดท้าย ถ้านักลงทุนท่านใดที่สนใจในการเริ่มลงทุนกับกองทุนลดหย่อนภาษี ทั้งในรูปแบบ SSF, RMF และ ThaiESG ตั้งแต่ตอนนี้ ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบ หรือเลือกหากองทุนที่ใช่จากทาง KTAM ได้ที่ : https://www.ktam.co.th/rmf-ltf.aspx?fbclid=IwAR1FodTkf62G9xRbXv23NbQ41qhUxcTh_Dakn5u6QaBVF1shpbYTH6KYUVk
และสำหรับใครที่ลงทุนกับกองทุน SSF RMF หรือ ThaiESG กับทาง KTAM และ ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ก็สามารถ แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ที่ https://www.ktam.co.th/tax-request.aspx
ลงทุนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน KTAM Smart Trade ง่าย สะดวก ปลอดภัย
ดาวน์โหลด
สอบถามรายละเอียดหรือขอรับหนังสือชี้ชวนที่ ธนาคารกรุงไทย ผู้สนับสนุนการขาย หรือ บลจ.กรุงไทย โทร. 02-686-6100 กด 9
คำเตือน:
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม/กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ/กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ หากการลงทุนไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด อาจต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเสียเงินเพิ่ม
References:
โฆษณา