Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บันทึก-นึก-เล่า
•
ติดตาม
27 ธ.ค. 2023 เวลา 09:14 • ท่องเที่ยว
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
17 ข้อควรรู้ เมื่อมาวัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา
วัดเก่าแก่ในเขตพระนครศรีอยุธยาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง เหนือบริเวณป้อมเพชร จอดรถสะดวก เดินสบาย ทางเดิน สนามหญ้าสะอาดสะอ้าน มีป้ายบอกเล่าความสำคัญของสิ่งก่อสร้าง ประวัติความเป็นมา แต่ละจุดอย่างชัดเจน สัมผัสแจ่มแจ้งถึงความสงบ สงัด ศักดิ์สิทธิ์ พลังงานดีงาม
1.ตัววัดดั้งเดิมชื่อ “วัดทอง” มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นพระอารามของบรมราชวงศ์จักรีฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คู่กับวัดอัมพวันเจติยาราม แขวงบางช้าง อำเภออัมพวัน จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี (นาค) พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสร้างขึ้น
2.พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก ได้เอาไฟเผาพระราชวัง วัดวาอารามต่าง ๆ ตลอดจนบ้านเรือนภายในกำแพงเมืองเสียหายย่อยยับ วัดทองนี้ก็ถูกรื้อทำลายเช่นเดียวกัน ปล่อยรกร้างมาประมาณ 18 - 19 ปี
3.ในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้เสวยราชสมบัติและสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ปี พ.ศ. 2328 โปรดให้จัดการปฏิสังขรณ์วัดทองที่พระปฐมบรมมหาชนกทรงสร้างไว้แต่เดิมเสียใหม่หมดทั้งพระอาราม จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์เคยโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมหรือเสด็จฯ มาบำเพ็ญพระราชกุศล วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหารจึงนับเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี
4.พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย มีลักษณะแอ่นโค้งทรงท้องสำเภา ด้านหลังบานประตูมีภาพวาดนายทวารบาล “เซียวกาง” ที่สมบูรณ์มาก
ท้องพระอุโบสถแอ่นโค้งทรงท้องสำเภา
5.ใบเสมาของโบสถ์ทุกใบเป็นศิลปะอยุธยาตอนกลางที่สมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
6.ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน จำลองขยายส่วนจากพระแก้วมรกต วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบเหนือพระรัตนบัลลังก์ที่ประดับกระจกสีด้านซ้าย ด้านขวาประดิษฐานนพดลมหาเศวตฉัตร เพดานพระอุโบสถเป็นไม้จำหลักลายดวงดาราบนพื้นสีแดง ลงรักปิดทองประดับกระจกตรงกลางเป็นดาวประธาน ล้อมรอบด้วยดาวบริวาร 12 ดวง
พระประธานในพระอุโบสถ จำลองส่วนขยายพระแก้วมรกต วัดพระศรีรัตนศาสดาราม งดงาม เปี่ยมเมตตายิ่งนัก
7.ฝาผนังด้านในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมอายุกว่า 200 ปี ฝีมือของช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2328 ต่อมาได้รับการบูรณะเขียนซ่อมแซมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ. 2393
8.ภาพจิตรกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนเหนือผนังหน้าต่างขึ้นไปจรดเพดาน เขียนภาพเทพชุมนุมนั่งประนมมือหันหน้าไปที่พระประธาน ด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่างซึ่งมี 8 ช่อง เขียนภาพเล่าเรื่องพระเจ้าสิบชาติ หรือ ทศชาติชาดก เกี่ยวกับประวัติที่ล่วงมาแล้วของพระพุทธเจ้า ด้านหลังพระประธานเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องไตรภูมิ ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอนมารวิชัย
จิตรกรรมฝาผนังด้านในพระอุโบสถ อายุกว่า 200 ปี
9.อย่าลืมพินิจความงดงามแช่มช้อยของพระอุโบสถ หลังคาประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ หน้าบันไม้สักแกะสลักลายกนกเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปิดทองประดับกระจก คันทวยที่ประดับรับเชิงชายคาแกะสลักเป็นลายนกพันรอบทวย พระอุโบสถภายนอกเป็นรูปทรงเรือสำเภาตามรูปแบบศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
10.ด้านหน้าพระอุโบสถมีแท่นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นแท่นฐานบัวคว่ำและบัวหงาย ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำหน่อโพธิ์มาจากประเทศอินเดีย
แท่นพระศรีมหาโพธิ์
11.เจดีย์ใหญ่ด้านหลังพระอุโบสถบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ล้อมรอบด้วยเจดีย์ประธาน
เจดีย์องคืใหญ่ บรรจุพุทธสารีริกธาตุ
12.โครงสร้างพระวิหารเหมือนกับอุโบสถแต่ไม่มีคันทวย หน้าบันเป็นรูปช้างเอราวัณยืนแท่น ทูนแว่นฟ้า บนพานมีฉัตร 5 ชั้น ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปโลหะลงรักปิดทอง ภายใต้ซุ้มเรือนแก้วประดับลวดลายงดงาม คล้ายคลึงพระพุทธชินราช
13.ด้านหลังพระวิหารมีเจดีย์ใหญ่ (เจดีย์ประธาน) บรรจุพุทธสารีริกธาตุ “เจดีย์ประธาน” เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีมาลัยเถา 3 ชั้นรองรับองค์ระฆัง ตั้งอยู่บนลานประทักษิณ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 รายล้อมด้วยเจดีย์ทรงเครื่ององค์ระฆังริ้ว ซึ่งเป็นการสร้างเลียนแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา
พระประธานและจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร
14.จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารเป็นรูปยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วาดโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร จิตรกรเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้านบนของผนังรายล้อมไปด้วยภาพเทพพนมนับร้อยองค์ลอยอยู่ในวิมานที่มีขนาดลดหลั่นกันตามระยะใกล้-ไกล ตามลักษณะของทัศนียภาพแบบตะวันตก ที่เคยมีการวาดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ส่วนด้านล่างของผนังเป็นภาพเรื่องราวของมหาเวสสันดรชาดกและสุวรรณสามชาดก
15.ภาพใหญ่ที่สุดวาดไว้เต็มผนังด้านหน้าเหนือประตูทางเข้าวิหาร คือภาพการทำยุทธหัตถีระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาซึ่งวาดรายละเอียดได้ชัดเจน แม้แต่ช้างทรงของสองกษัตริย์ไทย-พม่าก็มิได้มีเครื่องทรงช้างหรือเครื่องผูกของช้างจอมพล ถูกต้องตามความเป็นจริงที่ไม่มีการเครื่องทรงในยามรบ เพราะความสวยงามจะกลายเป็นอุปสรรคในการต่อสู้ได้
16.ภาพพระราชพงศาวดารนี้ใช้เทคนิคการวาดภาพสีน้ำมันแบบตะวันตกที่แสดงกล้ามเนื้อและสรีระเหมือนคนจริง ๆ อาจเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นต้นแบบของภาพในอนุสรณ์ดอนเจดีย์ที่สุพรรณบุรี
17.ค่อย ๆ ใช้เวลาไม่รีบ เดินชม เรียนรู้ ซึมซับ และภาคภูมิใจในอดีตที่ยังคงเรืองรองอยู่ในวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านกาลเวลาศตวรรษแล้วศตวรรษเล่า
ทางเดินภายในบริเวณวัดสร้างให้เดินชมสะดวก สะอาด รักษาสุขอนามัยเป็นอย่างดี
*อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือประวัติวัดสุวรรณดาราราม รวบรวมและเรียบเรียงโดยขุนศารทประภาศึกษากร พิมพ์ที่โรงพิมพ์การศาสนา ไม่ปรากฏศักราชที่พิมพ์
ไลฟ์สไตล์
ท่องเที่ยว
ประวัติศาสตร์
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย