28 ธ.ค. 2023 เวลา 04:32 • ความคิดเห็น

ถ้าให้สรุปปี 2023 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ปีนี้ของคุณผู้อ่าน THE STANDARD เป็นอย่างไรบ้างครับ

ดอกเบี้ยสูง เงินเฟ้อดื้อ หนี้ท่วม เศรษฐกิจโตช้า หุ้นไทยร่วงหนัก
การเมืองพลิกผัน วิกฤตศรัทธาความยุติธรรม คนรุ่นใหม่สิ้นหวัง
อิสราเอล-ฮามาส สงครามขัดแย้งที่ช็อกคนทั้งโลก
ปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ได้จบแค่โดนแย่งงาน แต่กำลังทิ้งใครบางคนไว้ข้างหลัง จากโลกร้อนถึงโลกรวน ข้ามสู่โลกเดือด
2023 เต็มไปด้วยเหตุการณ์สั่นสะเทือนโลก สิ้นปีจึงเดินมาถึงไวราวกับชั่วพริบตา ใครบางคนมองว่าช่างเป็นปีที่แสนหนักหน่วง ใครบางคนได้โอกาสเปลี่ยนชีวิตให้พุ่งทะยาน แต่คงไม่มีใครปฏิเสธใช่ไหมครับว่า โลกหมุนเร็ว ซับซ้อน และท้าทายกว่าที่เคย
การทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนผู้เฝ้ามองความเป็นไปของสังคม การได้รับโอกาสในการสนทนาแลกเปลี่ยนกับผู้นำระดับท็อปของประเทศ รวมถึงการค้นคว้าหาข้อมูลมานำเสนอในสื่อของเรา ทั้งหมดทั้งมวล ผมตกผลึกออกมาเป็น 5 สภาวะที่ใช้ในการอธิบายความเป็นไปของโลกในปีที่ผ่านมาครับ
1
🔵 5 สภาวะสะท้อนโลกในปี 2023
ผมนิยามโลกในปีที่ผ่านมาว่าคือ ‘โลก Hyper’ ที่มีความมากล้นในแง่มุมต่างๆ ต่อไปนี้ครับ
1. Hyper-Connected
โลกเราตอนนี้เชื่อมโยง สัมพันธ์ และส่งผลกระทบถึงกันในทุกมิติ
เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ การเงิน ไลฟ์สไตล์ การสื่อสาร ฯลฯ ทุกสาขาล้วนเชื่อมโยงกัน การจะแก้ปัญหาหรือพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะต้องเกี่ยวพันกับสาขาอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ โลกเรายังมีความเชื่อมโยงกันในลักษณะ Global-Local หมายความว่า เมื่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นสามารถสั่นสะเทือนโลกทั้งใบได้ภายในชั่วข้ามคืนเลยครับ อย่างเช่นสงครามที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินยูเครน แต่สร้างความปั่นป่วนมาถึงตลาดหุ้น S&P รวมถึงตลาด SET ในประเทศไทยด้วย
2. Hyper-Evolving
เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ วิวัฒนาการอย่างรวดเร็วจนไม่อาจควบคุม
หนังสือ The Coming Wave: Technology, Power, and the 21st Century’s Greatest Dilemma ที่ผู้เขียนคือ Mustafa Suleyman หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Google DeepMind พูดถึงวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี โดยเฉพาะ Generative AI และ Biotechnology
เทคโนโลยีแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆ บนโลก อาจเปรียบได้กับซูเปอร์ฮีโร่แต่ละตัวที่แยกกันอยู่คนละทิศทาง แต่ในที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่ง เทคโนโลยีเหล่านี้จะเดินเข้าหากัน รวมกลุ่มกัน พัฒนาด้วยกัน ซ้อนทับและพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดอิมแพ็กต์ต่อโลกอย่างมหาศาล ราวกับการรวมตัวของเหล่า Avengers
สิ่งที่ต้องระวังคือความไม่สมมาตร (Asymmetry) กล่าวคือ แม้เทคโนโลยีจะเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้มนุษย์ แต่ถึงจุดหนึ่งคงต้องยอมรับว่า มันกำลังนำโลกไปสู่สภาวะที่คนบางกลุ่มมีอำนาจในการเก็บกุมมันไว้ ในขณะที่คนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงหรือไม่สามารถปรับตัวได้ทันกำลังจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
1
ที่น่าใจหายคือ Mustafa ยังประเมินไว้ว่าเราอาจมาไกลเกินกว่าจุดที่จะสามารถ ‘ควบคุม’ เจ้า AI ได้แล้วด้วยซ้ำ
3. Hyper-Polarized
ความขัดแย้ง การแบ่งขั้วทางความคิด เกิดอย่างรุนแรงมากขึ้น
ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ที่แยกห่วงโซ่อุปทานออกเป็นสองขั้ว ตอกย้ำว่าเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นโลกทั้งใบที่เชื่อมโยงกันภายใต้กรอบคิดแบบ Globalization อีกแล้ว สภาวะเช่นนี้นำโจทย์ท้าทายมาสู่ทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะการจัดการห่วงโซ่อุปทาน การจัดวางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง
1
อย่างไรก็ตาม Hyper-Polarized ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในมิติเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีความขัดแย้งรุนแรงระดับการทำสงครามร้อนด้วยอาวุธที่เกิดขึ้นกับรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ยังไม่รวมถึงการขัดแย้งทางชนชั้นจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจบนความเหลื่อมล้ำ การแบ่งขั้วของความเชื่อทางการเมือง หรือกระทั่งประเด็นอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่กระทบประเทศกำลังพัฒนาอย่างรุนแรง รวมถึงการมองอนาคตของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่แตกต่างกันด้วย
4. Hyper-Sensitive
คนเราเปราะบาง เกิดความเครียดง่าย และมีปัญหาสุขภาพจิตกันมากขึ้น
1
คนในยุคปัจจุบันมีความอ่อนไหวและแตกสลายอย่างง่ายดาย ไม่ใช่เพราะความอ่อนแอที่เกิดจากข้างในเท่านั้น หากยังเป็นส่วนผสมของโลกที่หมุนเร็วและปั่นป่วน ทั้งการเร่งสปีดของเทคโนโลยี ความแตกแยกในสังคม การมุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ฯลฯ
แม้แต่เรื่องที่อยู่นอกใจก็แตกสลายง่ายดายไม่ต่างกัน อย่างเช่นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด หรือการพูดหรือวางตัวที่ไม่เหมาะสม ที่สามารถทำให้ชื่อเสียงของบุคคลหรือองค์กรที่สั่งสมมาเป็นเวลานานหมดลงไปในทันที
5. Hyper-Informed
ข้อมูลข่าวสารท่วมท้นจนยากต่อการตัดสินใจ
ภาวะข้อมูลท่วมท้นจนก่อให้เกิดความเครียดไม่ใช่เรื่องใหม่ มันท้าทายเรามาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่ในยุคปัญญาประดิษฐ์ยิ่งยากเกินการควบคุม
หากความสามารถของ Generative AI ใช้เพื่อการสร้างสรรค์ข้อมูล รูปภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมากมาย โอกาสของการนำมาใช้เพื่อสร้างข่าวปลอม หลักฐานเท็จเพื่อหลอกลวงผู้คนก็เกิดขึ้นได้ง่ายดายไม่ต่างกัน
ยังไม่รวมถึงกูรู ไลฟ์โค้ชที่อุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาเพื่อหาประโยชน์จากความรู้ไม่เท่าทันของคน ในยุคที่สื่อไร้พรมแดน คนคัดกรองข่าวสารถูกลดบทบาทลง ปัญหานี้ดูจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
🔵 กลยุทธ์ 5B เพื่อชนะในโลก Hyper
ความมากหรือความล้นเกินในมิติต่างๆ ที่ผมว่ามานี้ กำลังท้าทายชีวิตของพวกเรา และเราทุกคนคือมนุษย์ Homo Sapiens ที่กำลังใช้ชีวิตอยู่บนหัวเลี้ยวหัวต่อของโลก แถมยังเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะชี้ชะตาว่าองค์กรหรือธุรกิจของเราจะเติบโตต่อไปอย่างไร - จะแพ้หรือชนะในเกมนี้
ผมคิดว่าผู้นำต้องอ่านเกมให้ออกและต้องหาที่ยืนของตัวเองให้ได้ เท่านี้ยังไม่พอ คุณต้องพาทีมหรือคนที่อยู่รอบตัวติดสปีดไปข้างหน้าอย่างมีกลยุทธ์ ชัยชนะถึงจะเป็นของคุณ ในช่วงเวลาที่หลายๆ องค์กรกำลังวางกลยุทธ์เพื่อพาธุรกิจเติบโตในปี 2024 ต่อไปนี้คือ 5 กลยุทธ์ที่ผมมองว่าคุณไม่ควรละเลยครับ
1. Being Brave and Bold with Purpose
ต้องมีจุดยืนและต้องกล้าที่จะยืนหยัด
99.99 เปอร์เซ็นต์ของผู้นำองค์กรยุคนี้ ไม่มีใครไม่พูดถึง Purpose แม้จะเป็นองค์กรย่อมๆ ที่สร้างอิมแพ็กต์เพียงสเกลเล็กๆ ก็สำคัญ เรียกได้ว่า Purpose ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่คือสิ่งจำเป็นของการทำธุรกิจในปัจจุบัน
มันคือเหตุผลการมีอยู่ขององค์กรที่ต้อง Relevant หรือสอดคล้องกับบริบทโลกยุคปัจจุบัน
หลายองค์กรที่มีประวัติยาวนานทำการ Reinvent หรือคิดค้น Purpose ใหม่อีกครั้งเพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้
คุณจะออกแบบนโยบายโดยไม่คิดถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่? คุณจะเลือกให้ความสำคัญกับ ‘People’ หรือ ‘Profit’ มากกว่ากัน?
เมื่อไรที่เจอบททดสอบที่ซับซ้อนหรือมีสถานการณ์ที่อาจทำให้คุณหวั่นไหว ‘จุดยืน’ หรือ ‘เหตุผลของการมีอยู่’ จะเป็นเครื่องนำทางให้เราไม่หวั่นไหวไปกับภัยคุกคามหรือความไม่ถูกต้อง
2. Building Trust, Transparency and Strong Relationship
ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โปร่งใส และมีพันธมิตรที่แน่นแฟ้น
หมดยุคอัศวินขี่ม้าขาว หมดเวลาของผู้นำเดี่ยว ในสภาวะที่โลกแตกเป็นเสี่ยงเสี้ยว ปัญหาทวีความซับซ้อน การพาองค์กรเติบโตต่อไปข้างหน้านั้นไม่อาจทำได้เพียงคนเดียวแล้วครับ หลายองค์กรอาจต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ต้องอาศัยการร่วมมือ รวมพลังจากคนทุกๆ ฝ่าย
ยุคนี้อาวุธของผู้นำจึงไม่ใช่ความเก่งกาจแบบ ‘เก่งคนเดียว ทำคนเดียว’ แต่คือทักษะในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส รวมถึงการมีสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับคู่ค้าหรือพันธมิตรที่จะมาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไปด้วยกันครับ
3. Balancing Short-Term and Long-Term Vision
ต้องหาสมดุลระหว่างเป้าหมายระยะสั้นและจุดหมายระยะยาว
ระหว่างการกระโจนเข้าคว้ากำไรในระยะสั้น กับการลงทุนมหาศาลเพื่อโอกาสที่รออยู่ในอนาคต คุณจะบริหารให้กลมกล่อมได้อย่างไร?
การหาสมดุลระหว่างทางเลือกทั้งสองนั้นไม่ง่าย แต่เป็นสิ่งที่ผู้นำในยุคสมัยแห่ง AI และ Climate Boiling จะต้องทำ ผู้นำต้องคอยสังเกตสถานการณ์ ปรับเปลี่ยนแผน เพื่อหาจังหวะเหมาะสม กระโจนเข้าคว้าโอกาสในระยะสั้น รวมถึงวางแผนลงทุนเพื่อที่จะพาองค์กรก้าวต่อไปข้างหน้าในระยะยาว
ระหว่าง ‘กินสั้น’ กับ ‘กินยาว’ ไม่มีทางเลือกไหนที่ถูกหรือผิดไปทั้งหมด สิ่งสำคัญคือ คุณเป็นผู้นำที่รู้ใช่ไหมว่าเรากำลังก้าวไปข้างหน้าเพื่อสิ่งใด และเรากำลังหยุดรออะไร
4. Broadening Through the Global Perspective
ต้องเปิดรับและเปิดตัวไปสู่โลกกว้าง
นักธุรกิจหลายต่อหลายคนพูดตรงกันว่า ธุรกิจไทยกำลังถูกท้าทายจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสังคมผู้สูงวัย กำลังซื้อของคนไทยที่หดตัวลง รวมถึงตลาดที่การแข่งขันเข้มข้นรุนแรง นักธุรกิจจำนวนมากบอกผมว่า พวกเขาคิดถึงเรื่องการ Go Global โดยเฉพาะการขยายไปในกลุ่มประเทศอาเซียนที่กำลังเนื้อหอมเป็นอย่างมาก
ผู้นำยุคนี้จึงต้องทั้ง ‘รู้จักโลก’ และ ‘รู้ทันโลก’ เพื่อเปิดประตูพาธุรกิจไปสู่โลกที่กว้างขึ้น ตลาดที่ใหญ่ขึ้น ลูกค้าที่เพิ่มขึ้น คู่ค้าที่มากขึ้น รวมถึงกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น
5. Breath-Aware
ต้องมีสติ
โลกที่ Hyper ทำให้เหนื่อยล้า เบิร์นเอาต์ เสียสมาธิได้ง่าย ผู้นำจึงต้องคอยถามตัวเองอยู่บ่อยๆ เลยว่า เราตัดสินใจโดยใช้สติไหม ลงมือทำโดยมีสติหรือเปล่า
สติอาจไม่ค่อยถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงในโลกการทำงานสักเท่าไร แต่จริงๆ แล้วผมเชื่อว่า Performance ของงานขึ้นอยู่กับสติมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ต่อให้มีความสามารถมากมาย สั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน แต่หากไม่มีสติ ผลลัพธ์ที่ได้กลับหายไปถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
เหมือนดั่งที่ยอดนักชก ‘ไมค์ ไทสัน’ ได้กล่าวไว้ว่า “Everyone has a plan ‘till they get punched in the mouth.”
มองไปข้างหน้า ปี 2024 คงจะมีอุปสรรคและความท้าทายรออยู่มากมาย ในโลกที่เต็มไปด้วยความ Hyper ‘ผู้นำ’ ที่จะนำองค์กรฝ่าคลื่นความเปลี่ยนแปลง เพื่อเติบโตต่อไปในอนาคต ต้องมี 5B คือ กล้ายืนหยัด ปรับตัวไว สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ หาสมดุลเป้าหมายสั้น-ยาว พร้อมเปิดประตูสู่โลกกว้าง และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่าง ‘มีสติ’
ขอบคุณคุณผู้ฟัง ผู้อ่าน ผู้ชม ที่อยู่เคียงข้าง THE STANDARD เสมอมานะครับ กำลังใจจากทุกท่าน ผมและทีมงานขอน้อมรับไว้ด้วยหัวใจ ขอให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพกายและใจแข็งแรง ความสัมพันธ์ราบรื่น ได้พักผ่อนและทบทวนบทเรียนช่วงหยุดยาวข้ามปี สำคัญที่สุดคือขอให้มี ‘พลัง’ และ ‘สติ’ พร้อมสู้ต่อในปี 2024
May 2024 Be Fueled By Your Mindfulness and Relentless Energy!
สวัสดีปีใหม่ครับ ❤️
โฆษณา