28 ธ.ค. 2023 เวลา 19:47 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ระวังไว้ด้วย! ใครที่เป็นสายชอบเปิดหน้าจอแช่ทิ้งไว้นานๆ หลายชั่วโมง

เพราะแม้แต่พาเนล IPS เองก็ยังมีโอกาสจอเบิร์น หรือเกิดอาการภาพค้างบนหน้าจอได้เช่นกัน
Burn-in หรือที่เราชอบเรียกกันว่า จอเบิร์น เกิดจากการที่เราเปิดภาพเดิมๆ แช่ทิ้งไว้เป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ เมนูบาร์ ไอค่อน หรือ UI บางส่วนของหน้าจอที่จำเป็นจะต้องมีการเปิดแช่ทิ้งไว้ ทำให้เม็ดพิกเซลที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนเม็ดสีตามส่วนอื่นของหน้าจอเริ่มสูญเสียความสว่างในระดับที่ไม่เท่ากันในทุกครั้งที่มีการใช้งาน เป็นผลทำให้เราสามารถมองเห็นอาการค้างเป็นภาพลางๆ อยู่แบบนั้น และไม่หายไปไหน
ซึ่งอาการ Burn-in มักพบมากในจอ OLED ที่แต่ละเม็ดพิกเซลของมันสามารถเปล่งแสงได้เอง ทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอของแสงแต่ละส่วนบนหน้าจอได้มากกว่าจอ LCD ที่พิกเซลยังจำเป็นต้องพึ่งพาหลอดไฟแบ็คไลท์อยู่ แม้จอ LCD อาจจะเกิดขึ้นได้ยากกว่ามาก แต่ก็มีโอกาสเบิร์นได้เช่นกัน โดยเราจะเรียกอาการนี้ว่า Image retention หรือ Image persistence
วิธีตรวจสอบอาการ Burn-in เบื้องต้น ให้เปิดแพทช์สีให้คุมทั่วทั้งหน้าจอด้วยสี เทาเข้ม (45, 45, 45) จะเห็นชัดที่สุด พวกสีสว่างๆ อาจจะมองไม่เห็น และให้สังเกตุเฉพาะที่บริเวณขอบของหน้าจอ ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดอาการได้ง่ายกว่าบริเวณตรงกลางจอ
สำหรับจอ LCD นั้นจะต่างจากของจอ OLED ตรงที่อาการจอเบิร์นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแล้วเป็นถาวร! มันสามารถจางหายเองได้ แต่ระยะเวลาที่อาการภาพค้างนี้จะจางหายได้เร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับความเสื่อมสภาพของแผงจอเองด้วยว่ามีอายุการใช้งานที่ยาวนานหรือหนักหน่วงมานานแค่ไหน
วิธีป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นจอ OLED หรือ LCD ก็ควรหลีกเลี่ยงการเปิดหน้าจอแช่ภาพนิ่งค้างทิ้งไว้เป็นเวลานานเมื่อเราไม่ได้ใช้งาน หากมีเหตุจำเป็นจะต้องเปิดหน้าจอทิ้งไว้แบบนั้น แนะนำให้ลดความสว่างลงต่ำๆ ไว้ก่อน
โดยเฉพาะหน้าจอ LCD ที่มีอายุการใช้งานที่ยืนยาวนานกว่า OLED อยู่แล้ว และแม้อาการจะไม่รุนแรงเท่า แต่การหลีกเลี่ยงการแช่ภาพนิ่งก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยถนอมหน้าจอให้ไม่เสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควรจะเป็นครับ
Ralf RIPS COMP
โฆษณา