1 ม.ค. 2024 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ปีใหม่นี้ ตั้งเป้าอย่างไร ให้ชีวิตดีตลอดปี โดย อ.นภดล ร่มโพธิ์ Nopadol's Story

ในช่วงระหว่างสิ้นปีจนถึงต้นปี ของทุกปี
หลาย ๆ คน น่าจะตั้งเป้าหมายชีวิตในปีใหม่กัน
1
เช่น บางคนอยากจะมีเงินเก็บเยอะ ๆ บางคนอยากลดน้ำหนักให้ได้ หรือบางคนก็อยากจะมีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน
ที่ผ่านมา บางคนอาจจะสามารถทำเป้าหมายได้สำเร็จ และคงมีอีกหลายคนที่ทำไม่ได้
โดยเหตุผลหลักที่ทำให้คนหลายคน ทำเป้าหมายได้ไม่สำเร็จ ก็มักจะมาจาก การถอดใจ และล้มเลิกไปกลางคัน
ซึ่งปัญหาการถอดใจกลางคันนี้ ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการมีเกณฑ์การวัด ที่ชี้ให้เราเห็นถึงความก้าวหน้าของเราในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยผลักดัน ให้เราสามารถอดทน จนบรรลุเป้าหมายต่อไปได้
ในบทความนี้จะพูดถึงเกณฑ์การวัดที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง
นั่นคือ หลักการใช้ OKRs กับชีวิตส่วนตัว
รู้หรือไม่ว่า ในประเทศไทย มีผู้เชี่ยวชาญด้าน OKRs ที่คอยแนะนำวิธีการดี ๆ นี้มาตลอด อยู่เหมือนกัน
เรากำลังพูดถึง ศ. ดร.นภดล ร่มโพธิ์
อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และยังเป็นเจ้าของเพจดังอย่าง Nopadol's Story ด้วย
แล้วอาจารย์นภดล มีคำแนะนำในการประยุกต์ใช้ OKRs อย่างไร เพื่อให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ตลอดปี ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการวางแผนชีวิตที่ดี ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
1
OKRs ย่อมาจาก Objectives and Key Results
2
โดย..
- Objectives คือ วัตถุประสงค์หลัก หรือก็คือจุดมุ่งหมายของชีวิต ที่เราอยากจะทำให้สำเร็จ
- Key Results คือ ผลลัพธ์หลัก เป็นสิ่งชี้วัดที่จะบอกเราว่า เราสามารถทำ Objective หรือเป้าหมาย ได้สำเร็จหรือไม่
สำหรับหลักการในการตั้ง OKRs ที่ดีแบบอาจารย์นภดล สามารถสรุปออกมาได้ดังนี้
1
1. หา Your One Word of the Year
อาจารย์นภดลแนะนำว่า ให้เราเลือก One Word of the Year หรือ คำมาหนึ่งคำ ที่จะมีความหมายกับชีวิตของเรามากที่สุดในปีนี้
โดยคำนั้นจะต้องเป็นคำที่บ่งบอกความเป็นตัวเรา เป็นคำที่สร้างพลังให้กับเรามากที่สุด
และเป็นคำที่เวลาเราจะทำสิ่งใดก็ตาม เราจะต้องนึกถึงคำนี้อยู่ตลอด
ตัวอย่าง Your One Word of the Year ก็อย่างเช่น การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นต้น
2. กำหนด Objective หรือเป้าหมายของชีวิต
หลังจากที่ได้ Your One Word of the Year จากข้อแรกมาแล้ว เราก็จะต้องกำหนด Objective ของชีวิต ที่สอดคล้องไปด้วยกัน
โดย Objective ของชีวิตในแต่ละปี จะต้องเป็นข้อความที่สร้างแรงบันดาลใจ และไม่ควรมีเกิน 3 ข้อ เพราะการมีเป้าหมายหลายข้อเกินไป จะทำให้เราไม่สามารถโฟกัสกับเป้าหมายในแต่ละข้อ และทำให้สำเร็จลุล่วง ได้ยาก
ตัวอย่างของ Objective 3 ข้อ ที่สอดคล้องกับ Your One Word of the Year ในบทความนี้ ก็อย่างเช่น
1
- มีสุขภาพที่ดี
- มีสถานะทางการเงินดี
- มีความรู้มากขึ้น
2
ในการกำหนด Objective นั้น ก็มีข้อควรระวัง คือ เราจะต้องไม่กำหนด Objective ที่ง่ายเกินไป
 
3. กำหนด Key Results
1
Key Results จะเป็นตัวชี้วัดว่า ใน Objective แต่ละข้อนั้น เราสามารถทำจนประสบความสำเร็จ ได้จริงหรือเปล่า
ซึ่งเราจะวัด Key Results โดยกำหนดเป็นตัวเลขเป้าหมายที่ชัดเจนไปเลยว่า เราจะต้องทำอะไร เป็นจำนวนเท่าไร จึงจะถือว่าทำ Objective สำเร็จ
โดย Objective 1 ข้อ จะต้องกำหนด Key Results ไม่เกิน 3 ข้อ
ตัวอย่างเช่น เรากำหนด Objective ข้อหนึ่งว่า เราอยากมีความรู้มากขึ้น
ดังนั้น เราก็จะกำหนด Key Results ออกมาเป็น 3 ข้อ เช่น
- อ่านหนังสือ ให้จบปีละ 30 เล่ม
- อ่านบทความ ให้จบปีละ 100 บทความ
- เรียนคอร์สออนไลน์ ให้ได้ 10 คอร์สต่อปี
4. แปลง Key Results มาเป็นคะแนนที่สามารถวัดผลได้
หลังจากกำหนด Key Results ออกมาแล้ว เราก็จะต้องแปลง Key Results ออกมาเป็นคะแนน เพื่อที่จะใช้วัดผล
โดยคะแนนจะอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 คะแนน
1
ถ้าทำทุกอย่างที่กำหนดไว้ใน Key Results ได้หมดเลย เราก็จะได้ 1 คะแนน แต่ถ้าทำไม่ได้เลย เราก็จะได้ 0 คะแนน
โดยอาจารย์นภดล แนะนำว่า คะแนนที่สมเหตุสมผล ควรอยู่ระหว่าง 0.6 - 0.7 คะแนน เพราะหมายความว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ มีความยากและความท้าทาย ที่เหมาะสมกับเรา
1
เพราะหากได้ 1 คะแนนเต็มในทุก Key Results ก็หมายความว่า เป้าหมายนั้นง่ายเกินไป เราจึงควรกำหนดเป้าหมายที่ยากกว่านี้ เพื่อทำให้เรามีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
5. อัปเดตผล OKRs เป็นระยะ
อาจารย์นภดล แนะนำว่า OKRs ที่ดี จะต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว
ดังนั้น เราจึงควรแบ่ง OKRs ออกเป็น 2 ระยะเวลา
คือ รายปี และ รายไตรมาส
โดยจะต้องกำหนด OKRs รายปีออกมาก่อน แล้วค่อยกำหนด OKRs รายไตรมาส ที่สอดคล้องไปด้วยกันกับรายปี
ตัวอย่างเช่น OKRs รายปีของ Objective คือ
การมีความรู้มากขึ้น
และเราก็ได้มีการกำหนด Key Results รายปีของ Objective ข้อนี้ไปแล้ว
ต่อไป เราก็จำเป็นต้องกำหนด Key Results รายไตรมาสออกมาด้วย โดยเริ่มจากไตรมาสที่ 1 ก่อน เช่น
- อ่านหนังสือ ให้จบ 8 เล่ม
- อ่านบทความ ให้จบ 25 บทความ
- เรียนคอร์สออนไลน์ ให้ได้ 3 คอร์ส
1
เมื่อเราได้เริ่มทำสิ่งที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ เราก็จะต้องอัปเดต OKRs ทุกสัปดาห์ เพื่อเช็กความก้าวหน้า
นอกจากนี้ ขั้นตอนนี้ ก็ยังเป็นการเตือนเรา ให้ยังโฟกัสกับเป้าหมายต่อไปได้ด้วย
1
และเมื่อทุกสิ้นไตรมาสมาถึง ก็ให้เราตั้ง OKRs ใหม่อีกครั้ง เพื่ออัปเดตว่า มีข้อไหนที่เรายังต้องทำต่อไป หรือมีข้อไหน ที่เราต้องเปลี่ยนแผนบ้าง
สุดท้าย เมื่อถึงสิ้นปี ก็ให้เราเริ่มต้นใหม่แบบนี้ ไปเรื่อย ๆ คือ
- หา Your One Word of the Year
- ตั้ง OKRs รายปีและรายไตรมาส
- อัปเดตผลที่ทำได้ เป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจสอบตัวเอง
และทั้งหมดนี้ คือ หลักการในการตั้ง OKRs เพื่อการมีชีวิตในปีใหม่ที่ดีขึ้น ของ ศ. ดร.นภดล ร่มโพธิ์ แห่งเพจ Nopadol's Story
1
ซึ่งหากได้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้ ไปเรื่อย ๆ
ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว เราจะทำสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
ชีวิตของเรา ไม่ว่าจะทั้งด้านการเงิน และแต่ละด้านที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ในทุก ๆ ปี ต่อจากนี้ ก็น่าจะดีขึ้น ไม่มากก็น้อย..
Reference
-MBA Thammasat Talk ครั้งที่ 3: ตั้งเป้าหมายปีใหม่ด้วย Personal OKRs โดย ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ณ วันที่ 24/12/2566
โฆษณา