29 ธ.ค. 2023 เวลา 13:51 • ปรัชญา

🔥ร่วมกันสร้างสารตั้งต้น ให้พ่อครูอายุยืนยาวอย่างน้อย 100 ปี🍀

ปี 2566 นี้ พ่อครูอายุครบ 89 ปี และจะครบรอบ 90 ปีในวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ซึ่งพ่อครูเองได้ตั้งอิทธิบาทว่าจะอยู่ต่อไปให้ถึงอย่างน้อยอายุ 100 ปี เหล่าลูกๆอโศกทุกคน ต่างตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองและตั้งใจทำสิ่งพิเศษขึ้นมา ที่จะช่วยเสริมอิทธิบาทของพ่อครูให้ยิ่งๆขึ้น เพื่อที่จะได้เป็น “สารตั้งต้น ให้พ่อครูอายุยืนยาวต่อไปอีก อย่างน้อยถึง 100 ปี” ยกตัวอย่างสารตั้งต้นเหล่านี้ เช่น
🍀1.ศิษย์เก่าสัมมาสิกขาและทุกสถาบันชาวอโศกร่วมกันจัดงานศิษย์เก่าไหว้ครูบูชาพ่อครั้งที่ 1 ที่บ้านราชเมืองเรือ เมื่อวันที่ 9-10 ธันวาคม 2566 นี้ ซึ่งงานนี้มีศิษย์เก่ามาร่วมงานหลายร้อยคน
“อาตมาก็มาถึงวาระทุกวันนี้นี่ ยังตายไม่ลงก็เพราะว่า อยากอยู่กับพวกเรานี่แหละ...ดูแล้วก็อบอุ่น...ตายไม่ลงก็เพราะพวกเรานี่แหละ”...เป็นประโยคที่พ่อครูกล่าวไว้ ในรายการเอื้อไออุ่นงานศิษย์เก่าไหว้ครูบูชาพ่อครั้งที่ 1
สิ่งที่แสดงออกของพวกเราที่เราอยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ในวันสำคัญ ก็เป็นการแสดงออกทางจิตวิญญาณของพวกเรา ต้องซักซ้อม ต้องดีไซน์ ต้องออกแบบ ต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ดีไม่ดีก็ต้องลงทุนลงแรง การลงแรงนั้นลงแรงอยู่แล้ว ดีไม่ดีต้องลงทุน ต้องเสียเงินเสียทอง เสียข้าวเสียของ เสียอะไรที่เอามาทำอันโน้นอันนี้ต่างๆนานาสารพัด ของเราก็ทำแบบลูกทุ่งตามประสาเรา เอาใบโพธิ์มาย้อมสีทองแล้วก็ห้อยกันนะ
ซึ่งในความหมายของใบโพธิ์อันเดียวหลวงปู่เข้าใจนะว่า มันไม่ได้หมายถึงใบโพธิ์หรือใบไม้เฉยๆ มันคือใบโพธิ์ มันมีชิ่งไปถึงคำว่า โพธิ์ แล้วโพธิ์หมายถึงอะไร หมายถึงหลวงปู่ หมายถึงความรู้ โพธินี่แปลว่าความตรัสรู้ความรู้ระดับโลกุตระของพระพุทธเจ้า มันลึกซึ้ง เราก็เห็นใบโพธิ์สำคัญเราก็เอามาทำ เด็ดมาทีละใบมาใส่สีทองก็มาห้อย มันก็เป็นงานจุกจิกก็ทำกัน อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นการแสดงออกถึงจิตวิญญาณของผู้ที่ทำอันนั้น ดูแล้วก็อบอุ่น...ตายไม่ลงก็เพราะพวกเรานี่แหละ
🌿2.โครงการ 90 ปี บูชาพ่อครู คอนเสิร์ตเพลงครูรัก รักพงษ์
สืบเนื่องจากกลุ่มศิลปินที่เคารพ ศรัทธาพ่อครู ได้เห็นในคุณค่าของบทเพลงพ่อครูที่มีภาษาและเนื้อหาที่มีประโยชน์ จึงมีดำริที่จะนำเพลงที่พ่อครูแต่งในอดีต มาทำดนตรีใหม่เพื่อให้เข้ากาละสมัยปัจจุบัน เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น
เพื่อฉลองพ่อครูครบ 90 ปี ในปี 2567 เพื่อเผยแพร่และสืบสานผลงานเพลงพ่อครูให้กว้างขวางมากขึ้น ให้สังคมได้รับรู้เนื้อหาสาระของธรรมะผ่านบทเพลง ที่จะร่วมขับร้องโดยบรรดากลุ่มศิลปินที่เป็นลูกศิษย์พ่อครู เช่น วงศ์จันทร์ ไพโรจน์, นันทวัน เมฆใหญ่ วินัย พันธุรักษ์ ศรีไศล สุชาตวุฒิ ,อุมาพร บัวพึ่ง, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล ,อรวี สัจจานนท์, สุทธินันท์ จันทระ ปู-กันยารัตน์ กุยสุวรรณ เป็นต้น และอาจจะมีนักร้องรุ่นใหม่จาก The Golden Song มาร่วมขับร้อง
การดำเนินการ มีการก่อตั้งทีมทำงาน โดยมีตัวแทนจากศิลปิน และตัวแทนจากหลากหลายบวรร่วมทีม ที่จะมีการนำบทเพลงพ่อครูประมาณ 12 เพลงมาทำใหม่โดยคุณ หนึ่ง จักรวาล
ได้ทำการจองศูนย์ประชุมวัฒนธรรมเพื่อจัดคอนเสิร์ต โดยกำหนดวันจัด วันที่ 2 มิถุนายน 2567 โดยจะขับร้องบทเพลงพ่อครู จำนวน 30 บทเพลงโดยประมาณ โดยเป็นฟรีคอนเสิร์ต ไม่มีการจำหน่ายบัตร
🔥 3.มหกรรมร่วมกันเทปูนลานสูสูญ ราชธานีอโศก
ปี 2566 พ่อครูดำริสร้างลานใหญ่ๆในบ้านราชฯ เพื่อเป็นที่ทำกิจกรรมใหญ่ๆรองรับคนได้จำนวนมากๆ เมื่อสะพานโค้งรุ้งทำเสร็จพอใช้งานได้แล้ว พ่อครูจึงดำริให้ทำการเทปูนบริเวณลานกว้างเมื่อลงจากสะพานโค้งรุ้ง เข้าสู่เฮือนศูนย์สูญใจกลางหมู่บ้าน เดิมพ่อครูให้ชื่อลานใหญ่นี้ว่า“ลานเทียนอันหมาน” ซึ่งล้อเลียนกับ“จตุรัสเทียนอันเหมิน”ของประเทศจีน แต่ต่อมาพ่อครูได้เปลี่ยนชื่อลานใหญ่นี้เป็น​“ลานสู่สูญ” ซึ่งโดยความหมายคือ เมื่อเดินทางลงจากสะพานโค้งรุ้ง ก็จะมุ่งตรงสู่เฮือนศูนย์สูญ และนำไปสู่ความสูญอัตตาไปด้วย
เมื่อพ่อครูดำริ พวกลูกๆจึงร่วมกันทำ โดยมีการประสานงานจากผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างของชาวอโศก เช่น สมณะด่วนดี สมณะถักบุญ คุรุไพรเมือง(สุรเดช)กับทีมงานศิษย์เก่าและนักเรียนจากทั้งสส.สอ.และสสธ. และมีทีมงานแพทย์วิถีธรรม ที่นำโดยคุณลำสัน พวงภู่ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเสาปูนและเสาไฟฟ้า ได้นำเครื่องไม้เครื่องมือ และรถขนปูนซีเมนต์มาให้ใช้ฟรีๆตลอดการทำงาน
ตั้งแต่หลังงานศิษย์เก่าไหว้ครูบูชาพ่อครั้งที่ 1 ก็เร่ิมทำการเคลียร์พื้นที่ปรับพื้นที่ให้เรียบและทำระดับขอบปูน พ่อครูก็เดินไปให้คำปรึกษาและร่วมกำหนดขอบเขตแทบทุกวัน บางวันก็ไปทั้งเช้าทั้งบ่าย
หากเราใช้เงินจ้างคนมาทำให้ ก็จะต้องใช้เงินเป็นหลักล้านหรือหลายล้านบาท แต่ถ้าเราช่วยกันทำเองก็จะใช้เงินแค่หลักแสนบาท และหากเราจ้างเราก็จะไม่ได้ความร่วมไม้ร่วมมือ ไม่ได้ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน ไม่มีผัสสะท้าทายให้เราพิสูจน์ ดังนั้นคณะทำงานลานสู่สูญ ได้เห็นชอบร่วมกันว่า เราจะลงมือทำกันเองนี่แหละดีกว่า
หลังจากคุรุไพรเมืองนำเด็กนร.สส.สอ.ปรับพื้นที่และเข้าแบบเสร็จ ก็ได้ฤกษ์ฉลองส่งท้ายปีเก่าของชาวเราในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 08.00 น. ก็ได้เร่ิมมหกรรมเทปูนลานสู่สูญ เป็นมหกรรมแห่งการให้การเสียสละตัวตนสู่ความสูญ สวนทางกับชาวโลกที่เฉลิมฉลองด้วยการกินสูบดื่มเสพโลกียสุข
คุณลำสัน ได้ให้ลูกชายขับรถขนปูนซีเมนต์มาให้ใช้ฟรีๆหลายคันรถ ราคาปูนรถละหลายหมื่นบาท ทั้งยังนำแท่นเทปูน รถผสมปูน มาให้ใช้อีกด้วย รวมถึงตัวคุณลำสันและลูกๆทั้งหญิงชาย ก็ได้ลงแรงขับรถผสมปูนให้ และมีนร.ธรรมวุฒิ(ศีล) บุญมี จากทีมพวธ.ก็เสียสละทำหน้าที่ขับรถผสมปูนตลอดงานเช่นกัน
แรงงานที่ใช้ส่วนใหญ่จะใช้ในการเกลี่ยปูนให้เข้ากับแบบ เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ทั้งนักบวช ผู้ใหญ่ชาวชุมชน และเด็กนักเรียนมัธยม สส.สอ.และสสธ. หลายร้อยชีวิต ได้ร่วมแรงร่วมใจทำงานอย่างแข็งขัน ทำงานถวายหลวงปู่อย่างสุดชีวิต โดยผลัดกันทำเป็นกะ ผู้ใหญ่จะมาช่วยช่วงกลางวันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเด็กนร.จะมาช่วยตลอดเวลาและแบ่งกันมาทำงานในช่วงเย็น
ตอนเกลี่ยเทปูนเกลี่ยปูน เลี่ยงไม่พ้นที่ปูนซีเมนต์จะกระเด็นกระดอนถูกทั้งหน้าตาเนื้อตัวเสื้อผ้า ซึ่งเสื้อผ้าที่เปื้อนปูนซีเมนต์จะซักยาก แต่ทั้งผู้ใหญ่ เด็กหญิงเด็กชาย ไม่ได้รักสวยรักงามหรือรักสบาย กลับลงแรงลุยเกลี่ยปูนแม้จะหนักเหนื่อยก็ไม่ย่อท้อ ผลัดกันทำงาน ไม่มีใครอู้งานหลบหรอยแต่อย่างใด นร.สส.สอ.ดูจะชำนาญงานปูนกว่าเนื่องจากทำมาก่อน
แต่นร.สส.ธ.เองก็เห็นเป็นเรื่องท้าทายที่จะได้ทำงานโยธา ร่วมเคียงบ่าเคียงใหล่ทำงานไปด้วยกันอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยโดยไม่บ่น ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นของฤดูหนาว บางคืนอุหณภูมิลงต่ำถึง 14 องศาเซลเซียสแถมมีลมแรงด้วย ก็สู้กันไม่ถอย
ซึ่งบางวันเครื่องมือเสียก็ต้องทำงานจนถึงดึกดื่น หรือทำงานจนถึงรุ่งเช้าของอีกวันเลย เพราะงานเทปูน หากหยุดงานกลางคัน จะทำให้เสียหาย ซึ่งจะขั้นตอนการขัดหน้าพื้นปูนที่จะต้องทำหลังจากปูนแห้งได้ที่พอดี หากไม่ทำก็จะขัดหน้าพื้นปูนได้ไม่เรียบ
มหกรรมการเทปูนลานสู่สูญ ฉลอง 90 ปีพ่อครู ที่ทำให้พวกเราชาวอโศกได้เสียสละลดละความเห็นแก่อัตตาตัวตน ได้ดำเนินการไปได้ประมาณ 50% ยังไม่เสร็จภายในปี 2566 แต่พอจะใช้งานจอดรถได้ในงานปีใหม่เรียบร้อยแล้ว และจะยังฉลองเทปูนกันต่อไปอีกในปี 2567
..............................................
พ่อครูเทศนาในรายการพุทธศาสนาตามภูมิ 22 ธ.ค. 2566 ตอนหนึ่งไว้ว่า... พูดแล้วมันอบอุ่นนะ พวกเรานี่สามัคคี ทำงานไม่ว่าเด็กเล็กผู้ใหญ่ ร่วมมือร่วมไม้กัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวที่เหนียวแน่น และมีความจริงใจด้วย สัจจะมันลึกตรงนี้ มันเป็นความจริงใจของคนจริง ที่มีทั้งปัญญามีทั้งความศรัทธา มีสมบูรณ์ และก็ทำเพื่อผลอันดีงาม ที่อ้างอิงเพื่ออาตมาก็อ้างไปเท่านั้นแหละ จริงๆก็เพื่อผลงานเพื่อสิ่งที่จะเป็นประโยชน์คุณค่าต่อมวลมนุษยชาติต่อไป
บ้านราช เราไม่มีลานที่กว้างๆที่เรียบร้อย ซึ่งมันจะเป็นสถานที่ที่เป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งจะสังเกตเห็นเมืองใหญ่ๆ เขาจะมีลานพวกนี้ นั้นในเมืองใหญ่ของประเทศต่างๆ เขาจะมีลานอเนกประสงค์ ตั้งแต่สนามหลวงจนถึงลานพระบรมรูป ลานคนเมือง ที่อุบลฯก็มีทุ่งศรีเมือง มันเป็นลานที่จะรวมคนสำคัญๆในเวลาสำคัญ ในเวลาที่ต้องใช้คนมารวม มันเป็นประโยชน์คุณค่าต่อมวลสังคม
ของเรา เราก็มีที่ที่เราจะใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง ไม่ใช่เฉพาะมารวม ไม่ใช่เฉพาะรองรับคนเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นประโยชน์ที่จะได้ใช้สอยอะไรอีก เดี๋ยวก็รู้ก็จะเกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้
..............................................
...ส่งท้ายปีเก่า 2566 สุขภาพพ่อครูดีขึ้นมาก มีกำลังเดินดูงาน ออกกำลังกายวันละ 1-2 รอบ แต่ในการเจาะเลือดดูระดับค่ามะเร็งพบว่ามีค่ามะเร็งเพิ่มขึ้น นายแพทย์ที่ดูแลอยู่ จึงให้พ่อครูฉันยามุ่งเป้า เพิ่มจาก 2 แคปซูลต่อวัน เป็น 3 แคปซูลต่อวัน
แม้พ่อครูจะพยายามเพิ่มอิทธิบาทแต่กายขันธ์ย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลา พ่อครูดำริจะอยู่ไปให้ถึงอย่างน้อยอายุ 100 ปี เมื่อพ่อครูท่านพากเพียรพยายามอย่างยิ่ง ดังนั้นลูกๆควรเพิ่มอิทธิบาท มากันให้มากๆ ในแต่ละงานมาให้พ่อครูเห็นหน้าก็ยังดี แต่ถ้าจะมาอยู่ที่บ้านราชฯให้ถึง 777คนได้เลยได้ยิ่งดีไปกว่าอีก เพื่อเป็นสารตั้งต้น ให้พ่อครูอายุยืนยาวต่อไปอีก อย่างน้อยถึง 100 ปี
โฆษณา