30 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • สิ่งแวดล้อม

‘ขั้วโลกเหนือ’ วิกฤติ! ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ เจอภัยพิบัติรอบด้าน

เผยข้อมูลสุดช็อก “ขั้วโลกเหนือ” เจออากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้ว ทั้งหน้าร้อนร้อนที่สุดตั้งแต่เคยมีมา ไฟป่าครั้งใหญ่ น้ำท่วมสูง แถมน้ำแข็งละลายเกิดพื้นที่สีเขียวที่ไม่ควรจะมีในอาร์กติก กระทบวงจรชีวิต “ปลาแซลมอน”
ฤดูร้อนในปี 2023 เป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดของขั้วโลกเหนือ และเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับที่ 6 นับตั้งแต่มีการบันทึกมาตั้งแต่ปี 1900 และอาร์กติกกำลังอุ่นขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบ 4 เท่า ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงน้ำท่วมในรัฐอะแลสกา และไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในแคนาดา
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ โนอา (NOAA) ระบุว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ โดยนักวิจัยของโนอากล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอาร์กติกเป็นตัวอย่างแรกที่จะเกิดขึ้น เมื่อโลกอุ่นขึ้น
รายงานของโนอาระบุว่า โดยเมื่อต้นปี 2023 ทะเลทางตอนเหนือของนอร์เวย์และรัสเซียสูงขึ้นจนแตะ 5 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีในช่วงปี 1991-2020 ขณะที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดาก็ร้อนขึ้น 5 องศาเซลเซียสเช่นเดียวกัน
“ตอนนี้สถานการณ์ในอาร์กติกมีความเกี่ยวข้องกับเรามากขึ้นกว่าในอดีตมาก เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขั้วโลกเหนือจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า” ริค สปินราด ผู้บริหาร NOAA กล่าว
  • แผ่นน้ำแข็งอาร์กติกละลายต่อเนื่อง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแถบอาร์กติกไม่เพียงจะบอกใบ้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นอนาคตเท่านั้น เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทั่วโลก ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ไปจนถึงรูปแบบสภาพอากาศแบบใหม่ ไปจนถึงการอพยพของสัตว์ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป ดังที่สปินราดกล่าวไว้ “สิ่งที่เกิดขึ้นในอาร์กติกจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก”
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ในปี 2023 แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายไปมากกว่า 150,000 ล้านตัน แม้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยล่าสุด เพราะหิมะตกมากกว่าปรกติ แต่การละลายของแผ่นน้ำแข็งที่เป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ที่ทำให้น้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น (ส่วนสาเหตุอันดับ 1 คือ การขยายตัวของน้ำเมื่ออุ่นขึ้น)
นอกจากนี้ แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังสูญเสียมวลของตัวเอง จนไม่สามารถรักษาสมดุลทำให้หิมะที่ตกใหม่ควบแน่นเป็นแผ่นน้ำแข็งที่แข็งแรงเหมือนเดิม ข้อมูลดาวเทียมชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำแข็งในทะเลในปีนี้นั้นต่ำสุดเป็นอันดับ 6 นับตั้งแต่เริ่มบันทึกในปี 1979
“ถึงน้ำแข็งจะละลายน้อยกว่าหลายปีที่ผ่านมา เพราะหิมะตกหนัก ไม่ได้เป็นเพราะอากาศเย็น ปีนี้อากาศอุ่นกว่าที่เคยมาก” ริก โธแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศอาร์กติกจากมหาวิทยาลัยอะแลสกาแฟร์แบงค์ และหัวหน้าบรรณาธิการของรายงานฉบับนี้ กล่าวในรายงานประจำปี
  • ทุ่งหญ้าที่ไม่ควรมีอยู่ในอาร์กติก
รายงานของโนอายังเผยข้อมูลชวนช็อกว่า พบพื้นที่สีเขียวจำนวนมากในเขตอาร์กติก เป็นผลมาจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น และการละลายของชั้นดินเยือกแข็งถาวร (Permafrost) ส่งผลให้พุ่มไม้และต้นไม้เข้าปกคลุมทุ่งหญ้าและทุ่งทุนดรา
สำหรับบริเวณที่พบพื้นที่สีเขียวในอาร์กติกมากที่สุดในปีนี้ คือ ทุ่งทุนดราในอเมริกาเหนือ ส่วนแถบอาร์กติกยูเรเชียนยังคงมีน้ำแข็งปกคลุมมากกว่า นอกจากนี้ในปีนี้ยังถือว่าเป็นปีที่มีการพ้นพื้นที่สีเขียวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่มีการศึกษาเก็บข้อมูลมา 24 ปี
สภาพภูมิประเทศทุ่งหญ้าเขียวขจีแบบนี้ที่ไม่ควรมีอยู่ในอาร์กติก เพราะจะยิ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากที่สะสมอยู่ในชั้นดินเยือกแข็งถาวรออกมา ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันในพื้นที่ทุ่งหญ้าทุนดราแห้งแล้งกลับเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไฟป่า ในปีนี้แคนาดาเผชิญกับฤดูไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ในปี 2566 เกิดไฟป่านับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่บริเวณเขตอาร์กติกไปจนถึงชายแดนสหรัฐทั้งทางตะวันออกและตะวันตก พื้นที่ป่า 25 ล้านไร่ถูกเผาวอด ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพถิ่นฐาน และควันไฟก็สร้างมลพิษลงไปไกลจนถึงทางตอนใต้ของสหรัฐ
  • วิกฤติปลาแซลมอน
ปลาแซลมอนเป็นสัตว์สำคัญในระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมหลายแห่งของภูมิภาคอาร์กติก แต่ตอนนี้แซลมอนหลายสายพันธุ์กลับกำลังสร้างปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทางตะวันตกของรัฐอะแลสกาประสบปัญหาปลาแซลมอนสายพันธุ์ชินูกและชุมมีจำนวนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ต้องปิดเขตประมงในแม่น้ำยูคอนและแม่น้ำสาขาอื่นๆ ในทะเลแบริ่ง
แต่ขณะเดียวกันปลาแซลมอนซ็อกอายในอ่าวบริสตอลกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ราคาตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมปลาแซลมอนแต่ละสายพันธุ์ถึงได้มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแตกต่างออกไป แต่นักวิจัยกล่าวว่า อาจเชื่อมโยงกับสภาพแวดที่เปลี่ยนแปลงในมหาสมุทรและระบบนิเวศน้ำจืด ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหลักของปลาแซลมอน
1
อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมทั่วอาร์กติก โนอาย้ำเตือนว่าถึงเวลาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย รัฐบาล คนในพื้นที่และชุมชนท้องถิ่น จะต้องร่วมกันทำงานเพื่อสร้างแบบจำลองความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวที่เกิดขึ้นบริเวณแถบขั้วโลกเหนือ
1
ขณะเดียวกันแต่ละประเทศและประชาคมโลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้มากที่สุด
1
โฆษณา