30 ธ.ค. 2023 เวลา 03:03

ใกล้จะหมดปี 2566 นั่งทบทวนย้อนคิด ได้มีโอกาสทบทวนสิ่งที่ผ่านมา ทำให้มองอย่างเข้าใจมากขึ้น

มีอยู่หนึ่งเรื่องที่อยากจะเขียนและบันทึกไว้ครับ และขอเตือนผู้อ่านว่าบันทึกนี้ยาวหน่อยนะครับ... เริ่มต้นกับคำถามที่มักจะมีคนถามในหลายๆ โอกาส ว่า ณ จุดเริ่มต้น ทำไมจึงริเริ่มเครือข่าย Imagine Thailand Movement เพื่อสร้างชุมชนสุขภาวะ พื้นที่สุขภาวะ Wellbeing Society ในประเทศไทย
“น่าจะเป็นเรื่องของรัฐบาลที่เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้ดำเนินการ”
“เรื่องนี้เป็นเรื่องท้าทายมากนะครับ เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ วัดไม่ได้ นับไม่ได้”
สุขภาวะ Wellbeing คือสิ่งที่สำคัญในมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพสังคมสังคมไทยมุ่งสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด Super Aged Society กับสถานการณ์ที่ในแต่ละปีเด็กเกิดน้อยลง คนอายุยืนมากขึ้น กลุ่มเป้าหมายหลักจึงเป็นเด็กเยาวชน และผู้สูงอายุ ทำอย่างไรให้ทุกคน ทุกเพศทุกวัยมีสุขภาวะ กล่าวคือมีสุขภาพกาย สุขภาพใจ สภาพสังคมที่ดี ทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะมาจากสังคม เทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง ทำให้มนุษย์มีความเครียดมากขึ้น มีสภาพจิตใจที่เปราะบาง จากการที่ต้องแข่งขัน ท่ามกลางความเร่งรีบ เราต้องแย่งชิงทรัพยากร สื่อสังคมออนไลน์ทำให้เราได้รับข้อมูลข่าวสารมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
จำเป็นอย่างมากที่มนุษย์เราจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม Generative Social Field เพื่อที่จะมีชีวิตที่สงบสุข อยู่อย่างมีความสุข
จากการขับเคลื่อน Imagine Thailand Movement ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่สุขภาวะ ชุมชนสุขภาวะมิใช่เป็นเพียงเป้าหมายปลายทาง หากแต่สุขภาวะซึ่งก็คือภาวะที่เป็นสุข ในปัจจุบัน โดยตัวเองเป็นภาวะที่เป็นสุข ณ ปัจจุบัน
พื้นที่สุขภาวะ ชุมชนสุขภาวะ ควรจะหมายถึงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ซึ่งเป็นกระบวนการ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทาง มิใช่ปลายทาง เพราะการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ชุมชนสุขภาวะ ไม่มีวันเสร็จ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อตัวเราเอง เพื่อลูกหลาน สามีภรรยา พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ลุงป้าน้าอา และรวมถึงเพื่อคนอื่นๆ รอบข้างในชุมชน
การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ คล้ายกับการเปรียบเทียบการดำเนินชีวิต กับ การเดิน หรือการวิ่ง ซึ่งหากเราเพียงสนใจแต่เส้นชัย ปลายทางเป้าหมาย ต้องการไปให้ถึงเส้นชัยอย่างเร็วที่สุด เราก็จะไม่ได้มองระหว่างทาง อาจทำให้เราพลาดสิ่งสวยๆ งามๆ ระหว่างทางไป ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่สำคัญมีคุณค่าต่อเรามากกว่า
สุขภาวะคือภาวะที่เป็นสุขของแต่ละบุคคล เราควรเริ่มจากตนเอง ตระหนักว่าตัวเรา การกระทำการแสดงออกของเรามีผลต่อคนรอบข้าง รวมถึงสังคมที่ใหญ่ขึ้นไป เราควรต้องดูแลตนเองเพื่อให้ตนเองมีสุขภาวะ เพื่อที่จะสามารถไปดูแลผู้อื่นได้ต่อไป โดยการที่ตนเองมีสุขภาวะจะส่งผลไปยังคนรอบข้าง ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังชุมชน
สุขภาวะในระดับบุคคล เรามีความรับผิดชอบในการดูแลตนเองและควรลุกขึ้นมาดูแลตัวเราเอง ไม่ควรรอให้ผู้อื่นมาทำให้เรามีความสุข มีสุขภาวะ ดังเช่นคำที่ว่า เราจะรักผู้อื่นได้ เราต้องรักตัวเราเองก่อน ซึ่งก็คือหากเราจะดูแลผู้อื่นได้ดี เราก็ควรต้องดูแลตัวเราเองให้ดีก่อน (เพื่ออย่างน้อยเราก็จะไม่ต้องเป็นภาระให้ผู้อื่นมาดูแลตัวเรา)
สุขภาวะในระดับชุมชน ก็เช่นเดียวกัน คนในชุมชนควรลุกขึ้นมาร่วมกัน ไม่ต้องรอให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาเริ่มให้ ช่วยกันดูแลสุขภาวะของคนในชุมชนร่วมกัน สร้างให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม อยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกัน แบ่งปันกัน เมื่อเรามีสุขภาวะเพื่อนบ้านเราก็จะมีสุขภาวะ และกลับกันเพื่อนบ้านเรามีสุขภาวะเราก็จะมีสุขภาวะไปด้วย
เริ่มจากตนเอง การมีสุขภาวะกับ 4 เสาหลักสุขภาวะ Awareness-Connection-Insight-Purpose
ตระหนักรู้ Awareness เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง รับรู้และเข้าใจคนรอบข้าง เริ่มตั้งแต่คนใกล้ชิดที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เรารัก คนที่รักเรา ทำให้เรามีทางเลือกในการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงตอบสนองตามอารมณ์ความรู้สึก ณ เวลานั้นๆ
สร้างและก่อให้เกิดความสัมพันธ์ Connection ที่ดีกับบคนรอบข้าง คนในครอบครัว เพื่อนและเพื่อนร่วมงาน มีพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม Generative Social Field พื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับตนเองและผู้อื่น ทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกัน สนับสนุนส่งเสริมกัน
รู้จักตนเอง Insight รู้ว่าเราทำอะไรได้ดี รู้ว่าเราถนัดหรือเก่งอะไร มีจุดแข็งอะไร รวมถึงรู้ว่าเรามีจุดอ่อนอะไร เพื่อที่เวลาที่มีความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำอะไรก็ตาม เราจะเข้าใจถึงสาเหตุและจะไม่ยึดติดกับความสำเร็จหรือความล้มเหลวอะไรนานจนเกินไป
มีเป้าหมายที่มีคุณค่า Purpose การที่รู้ว่าสิ่งที่เราทำมีประโยชน์ มีคุณค่าต่อตนเอง ต่อผู้อื่น รวมถึงต่อโลก ต่อสังคมโดยรวม เมื่อเรารู้ว่าเราตื่นขึ้นมาตอนเช้าทำไม เพื่ออะไร เราจะสามารถที่จะใช้ชีวิตในทุกๆ วันให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่มีคุณค่านั้นๆ
สำหรับกระบวนการในการสร้างพื้นที่สุขภาวะ ภายใต้โครงการฯ นี้ ทางทีมงานได้นำกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก 8D Positive Change Model และกระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม กระบวนการ 10+1 มาใช้ เพื่อสร้างให้เกิดกลุ่มผู้ก่อการดี สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม Generative Social Field
“เรื่องนี้เป็นเรื่องท้าทายมากนะครับ เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ วัดไม่ได้ นับไม่ได้”
ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปประชุมร่วมกับอาจารย์ท่านหนึ่งระหว่างนั่งไปบนรถตู้ จึงได้มีโอกาสสนทนากัน อาจารย์ท่านนั้นก็ได้เล่าให้ฟังว่าในอดีตเคยทำงานกับชุมชนในฐานะ NGO และในช่วงนั้นเองก็มีมุมมองต่อภาครัฐ ราชการ รวมถึงเอกชน ต่างๆ นานา ทำไมรัฐบาลไม่ทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้ ทำไมราชการจึงทำแบบนั้น ทำแบบนี้ ทำไมเอกชนถึงเอารัดเอาเปรียบประชาชนแบบนั้นแบบนี้ ต่อมาทำงานมากขึ้นทำให้มุมมองเหล่านั้นเปลี่ยนไป เข้าใจมากขึ้นว่าแต่ละหน่วยงาน แต่ละคนล้วนมีข้อจำกัดของตนเอง
กับคำถามที่ว่าทำไมปัญหาเชิงระบบหลายๆ ปัญหาที่คงอยู่เรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง คุณภาพการศึกษา หนี้สินเกษตรกร หนี้สินครู คอรัปชัน อุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และอื่นๆ ทำไม่แก้ไม่หมดไปเสียที ทำไมไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ระวังอย่าด่วนตัดสิน ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด เราเพียงอาจอยู่กันคนละโลก...
ภาษาที่ใช้ พฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ ล้วนมีที่มา...
คนที่มองโลกแบบ A ทุกอย่างเป็นตัวเลข การแข่งขัน ผลกำไร ประโยชน์ อำนาจ ให้ค่าและมีความสุขกับลาภยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน เงินทอง
คนที่มองโลกแบบ B ทุกอย่างคือเรื่องของจิตใจ ความสัมพันธ์ ให้ค่ากับความดีความงาม มีความสุขกับคุณค่า ประโยชน์ในสิ่งที่ทำ
กับคำพูดที่ว่า เราวัดอะไร อย่างไร ก็จะได้อย่างนั้น
หากเรายังคงวัด คงประเมินผลกันด้วยผลลัพธ์ระยะสั้น อย่างดีที่สุดเราก็จะได้ผลลัพธ์นั้นๆ เช่น นักการเมืองถูกวัดผลโดยคะแนนความนิยม กการเลือกตั้ง และสภาก็มีอายุอย่างมาก 4 ปี จากอดีตหลายๆ ครั้งก็ต่ำกว่านั้น สิ่งที่ทำเสมอมาจึงเป็นการตัดสินทำเพื่อให้ได้ผลในระยะสั้น เป็นมาตรการที่หวังผลเพียงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แจกเงิน เยียวยา อุดหนุน ลดหนี้
ข้าราชการถูกวัดผลด้วยเป้าหมาย KPI ระยะสั้น หรือ อีกหนึ่งตัวอย่าง เรื่องการศึกษา ผู้ปกครองมีเป้าหมายความสำเร็จจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ซึ่งก็วัดจากผลคะแนนการสอบ ทำให้ผู้ปกครองต้องส่งลูกหลาน เด็กนักเรียนมัธยมปลายไปติวสอบกัน เพื่อให้สอบเข้าได้ เพื่อความสำเร็จในอนาคต ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้ชีวิตในช่วงมัธยมปลายซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญไป
กับความจริงที่ว่า สิ่งที่สำคัญและวัดได้ในโลกนี้มีไม่เกิน 5%
เสียงหัวเราะ การหยอกล้อพูดคุยกันด้วยรอยยิ้ม ท่าทีการขยับร่างกาย เต้นรำ ร้องรำทำเพลง การมีส่วนร่วมทางใดทางหนึ่งของกิจกรรมต่างๆ ที่กำลังเป็นไป รับรู้ถึงพลังงานเชิงบวก เต็มห้อง
อาจารย์ปีเตอร์ เอ็ม เซ็นเก้ Peter M. Senge อาจารย์ที่ผมเคารพรัก ศาสตราจารย์อาวุโส แห่ง MIT นักยุทธศาสตร์ นักคิดเชิงระบบ เคยกล่าวไว้ว่า ในโลกใบนี้สิ่งที่สำคัญและวัดได้มีไม่เกิน 5% เท่านั้น ยังมีสิ่งที่สำคัญและวัดไม่ได้อีกมากมาย ดังจะเห็นได้ว่า เราไม่มีเครื่องวัดสุขภาวะ ไม่มีเครื่องวัดความสุขกาย ความสุขใจ เราตรวจวัดทางกายภาพได้หลายๆ อย่าง ไม่มีเครื่องวัดความรู้สึกปลอดภัย ไม่มีเครื่องวัดสภาพบรรยากาศแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความสงบสุข
กับคำถามที่ผมเคยถามเพื่อนๆ ไว้ว่า อะไรคือความแตกต่าง ระหว่าง เห็นแล้วจึงเชื่อ กับ เชื่อแล้วจึงเห็น...
บทสรุปน่าจะจากข้อความด้านบน รวมถึง quote ด้านล่างนี้ครับ
“The heart has its reasons which reason knows nothing of... We know the truth not only by the reason, but by the heart.”
― Blaise Pascal, Pensées (Thoughts)
“หัวใจมีเหตุผลของมัน ซึ่งสมอง (เหตุผล) กระบวนการคิด ตัดสินโดยตรรกะ ไม่รู้อะไรเลย... เรารู้ความจริงไม่เพียงแต่ด้วยสมองหรือเหตุผลเท่านั้น แต่ยังรู้ด้วยหัวใจได้อีกด้วย”
สิ่งสำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้และสมดุลให้กับตนเอง
สวัสดีปีใหม่ 2567/2024 ครับเพื่อนๆ ทุกคน ขอให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพกายใจแข็งแรงครับ
#ทบทวนสะท้อนคิด
#อยู่อย่างตระหนักรู้
#imaginethailandmovement
#การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ
#สะกิดเตือนด้วยความรัก
#4เสาหลักสุขภาวะ
#8DPositiveChangeModel
#กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม
#เห็นแล้วจึงเชื่อ
#เชื่อแล้วจึงเห็น
#SystemsThinking
#คิดเชิงระบบ
#SystemsIceberg
#ภูเขาน้ำแข็ง
โมเดล ภูเขาน้ำแข็ง & 4 เสาหลักสุขภาวะ
โฆษณา