30 ธ.ค. 2023 เวลา 04:14 • ความคิดเห็น

เมื่อสองศาลพิพากษาต่างกัน ผิดไหม ?

ประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่ คือ มีศาลยุติธรรม (ศาลอาญา แพ่ง มี 3 ชั้น คือ ชั้นต้น ชันอุทธรณ์ และฎีกา) และศาลปกครอง คือ ศาลที่พิจารณาเกี่ยวกับคดีปกครอง
ข้อเท็จเดียวกัน อาจมีคำพิพากษาต่างกัน เพราะมีองค์ประกอบความผิดและมาตรฐานการพิจารณาพยานหลักฐานต่างกัน ซึ่งกำหนดโดยกฎหมาย
มาตรฐานการพิสูจน์พยานหลักฐาน (legal standard of proof) ในคดีปกครองที่ไม่ใช่ฟ้องเรื่องละเมิดทางปกครองนั้นใช้มาตรฐานต่างกับคดีอาญาและคดีแพ่ง เนื่องจากมีความมุ่งหมายของกฎหมายต่างกัน โดยคดีปกครองใช้หลักเรื่อง “หลักฐานสำคัญ” (substantial evidence standard) ซึ่งศาลจะให้โจทก์แสดงพยานหลักฐานที่สำคัญเพียงพอที่วิญญูชน (reasonable mind) ยอมรับเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องที่อ้างก็เพียงพอในการตัดสินแล้ว
ไม่ต้องถึงกับปราศจากข้อสงสัยตามสมควรเหมือนคดีอาญา (beyond reasonable doubt) และไม่ต้องชั่งน้ำหนักว่าน่าเชื่อถือกว่าอีกฝ่ายเหมือนคดีแพ่ง (preponderance of the evidence)
แต่กระบวนการพิจารณาโดยรวมของศาลปกครองมีลักษณะคล้ายวิธีพิจารณาคดีความแพ่ง แม้ศาลปกครองมีการพิจารณาแบบไต่สวนก็ตาม ส่วนการฟ้องคดีละเมิดทางปกครองนั้น มีหลักการพิจารณาคล้ายกับคดีละเมิดทางแพ่ง โดยเฉพาะการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ฝ่ายใดแสดงหลักฐานได้ดีกว่า และอีกฝ่ายไม่มีหลักฐานมาโต้แย้งย่อมมีโอกาสชนะได้
โดยสรุป มาตรฐานการพิจารณาหลักฐานในคดีอาญานั้นเข้มงวดที่สุด ต้องปราศจากข้อสงสัยตามสมควรจึงจะพิพากษาให้ผิดได้ ส่วนทางแพ่งก็ชั่งน้ำหนักเอา เอนไปทางใดก็ชนะ แต่ทางปกครองนั้นดูหลักฐานสำคัญ ไม่ต้องชั่นน้ำหนักก็ได้
หลักฐานสำคัญ กรณีคำสั่งโดยมิชอบ ก็ต้องพิจารณาจากลักษณะคำสั่ง
การออกคำสั่ง ก็คือการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองนั่นเอง
การใช้อำนาจในทางปกครองอาจจำแนกได้เป็นสองประเภท คือ อำนาจผูกพัน และ อำนาจดุลยพินิจ
โดยอำนาจผูกพันนั้น หมายถึง อำนาจที่บังคับฝ่ายปกครองให้ทำการออกคำสั่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อมีข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้กำหนดไว้เกิดขึ้น เช่น เมื่อนักศึกษาเรียนครบหน่วยกิตตามที่หลักสูตรกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดในการจบการศึกษาครบถ้วนแล้ว มหาวิทยาลัยมีหน้าที่อนุมัติปริญญาให้ ไม่อาจใช้ดุลยพินิจไม่อนุมัติปริญญาได้ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองนั่นเอง
ส่วนอำนาจดุลยพินิจ หมายถึง อำนาจที่ฝ่ายปกครองจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาคำสั่งหลายๆอย่างซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ให้ออกได้ เพื่อดำเนินการให้บรรลุความมุ่งหมายของกฎหมาย ซึ่งเป็นอิสระกว่าอำนาจผูกพัน เช่น กรณีนักศึกษาทุจริตในการสอบ อาจมีบทลงโทษได้หลายกรณีตั้งแต่ให้ตกเฉพาะวิชาที่ทุจริต ให้ซ้ำชั้น หรือให้พักการศึกษา เป็นต้น มหาวิทยาลัยสามารถใช้ดุลยพินิจออกคำสั่งลงโทษได้ตามความเหมาะสมแก่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎ หรือเป็นกรณีย้ายข้าราชการก็ต้องพิจารณาตามระเบียบที่เกี่ยวข้องและความเหมาะสมเป็นต้น
ก็ลองเอาไปปรับใช้กับกรณีที่เกิดขึ้นปัจจุบันกันดู มิอาจก้าวล่วงไปวิจารณ์คำพิพากษาได้ เพราะผู้เขียนก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด
อ้างอิง
"มาตรฐานทางกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในการวัดและประเมินผลระดับอุดมศึกษายุคไทยแลนด์ ๔.๐" ปีที่ 73 ฉบับที่ 3 (2017): กรกฎาคม - กันยายน 2560. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/botbundit/issue/view/17151
โฆษณา