2 ม.ค. เวลา 08:00 • ธุรกิจ

‘MIXUE’ ไอศกรีม-ชานมอันดับ 1 ของจีน กับจุดแข็ง ขายถูก-ให้เยอะ พารายได้แตะหมื่นล้าน

หรือ “MIXUE” จะเป็น “ซอฟต์พาเวอร์-เครื่องทางการทูต” ? เชนไอศกรีม-ชานมชื่อดังจากจีนแผ่นดินใหญ่ บุกหนัก! เร่งเปิดสาขาในไทย-ขยายตลาดทั่วอาเซียน เผยสูตรลับปั้นแบรนด์ดังเน้นขายถูกแต่ให้เยอะ คุมต้นทุนหนัก-เอากำไรแต่พอดี
“MIXUE” ร้านไอศกรีมและชานมเจ้าดังจากจีนเข้ามาทำการตลาดครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2565 ประเดิมสาขาแรกหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมี “บริษัท มี่เสวี่ย (ประเทศไทย) จำกัด” เป็นผู้ดูแลกิจการแฟรนไชส์ในไทยทั้งหมด หลังจากนั้นแบรนด์ไอศกรีมเจ้าดังก็ทยอยเปิดสาขาใหม่เรื่อยมา
กระทั่งกลางปี 2566 “MIXUE” เลือกปักหมุดสาขาสยามสแควร์ใจกลางเมืองทำให้เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น และล่าสุดกับสาขาถนนบรรทัดทองที่มีกลุ่มลูกค้าตั้งแต่เด็กๆ ไปจนถึงนิสิตนักศึกษา โดยมีราคาย่อมเยาและปริมาณคับแก้วเป็นไฮไลต์เด็ดสร้างฐานลูกค้าใหม่ได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
กลยุทธ์ของ “MIXUE” คือนำเสนอราคาที่เอื้อมถึงด้วยการคำนวณต้นทุนอย่างถี่ถ้วน พร้อมกับบวกอัตรากำไรเพียงเล็กน้อย ย้อนกลับไปช่วงเริ่มต้นกิจการสินค้าภายใต้แบรนด์ “MIXUE” ไม่ได้มีราคาถูกเท่านี้ แต่ขณะที่ร้านเริ่มเป็นที่รู้จักในท้องถิ่นก็พบว่า รอบข้างมีคู่แข่งร้านของหวานประเภทไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเกิดขึ้นมากมาย
โดยร้านที่ติดอันดับขายดีและได้รับความนิยมมีราคาขายไอศกรีม 18 หยวน หรือราว 89 บาท สองพี่น้องตระกูลจางจึงคิดปักธงช่วงชิงการเป็นร้านอร่อยราคาประหยัดด้วยเป้าหมายการขายไอศกรีมราคา 1 หยวน หรือ 5 บาทในขณะนั้น ทำให้ “MIXUE” ได้รับการพูดถึงกันปากต่อปาก ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมียอดขายทะลุ 5,000 รายการต่อวัน
สูตรลับที่ทำให้ “MIXUE” ขายของราคาถูกด้วยปริมาณที่เหมาะสมมาจากโมเดลธุรกิจที่ดำเนินการในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นหลัก การขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้กลยุทธ์ราคาถูกดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยทางร้านเน้นควบคุมต้นทุนหลักอย่าง “วัตถุดิบ” ให้กับบรรดาแฟรนไชส์ซีด้วยการจัดส่งวัตถุดิบไปยังร้านค้าแฟรนไชส์โดยตรง ไม่ได้ผ่านการดีลกับซัพพลายเออร์เหมือนกับร้านขนาดใหญ่เจ้าอื่นๆ
“MIXUE” สร้างโรงงานเพื่อเก็บคลังสินค้าในการกระจายต่อสู่แฟรนไชส์ซีโดยเฉพาะ เริ่มตั้งศูนย์ R&D และโรงงานกลางเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานของตัวเองขึ้นในปี 2012 และปี 2014 บริษัทได้จัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ขึ้นที่เมืองเจียวจั้ว มณฑลเหอหนาน เพื่อจัดส่งวัตถุดิบสู่ร้านแฟรนไชส์ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนสินค้าคงคลังและต้นทุนการจัดเก็บสินค้าด้วย
ที่น่าสนใจ คือนอกเหนือจากค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ที่เหล่า “แฟรนไชส์ซี” ต้องจ่ายแล้ว บริษัทแม่ “MIXUE” ยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนของการสนับสนุนวัตถุดิบเพิ่มเติมอีกต่างหาก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทตามรายงานของสำนักข่าว “KrAsia”
ข้อมูลจาก “ดิ อีโคโนมิสต์” (The Economist) ระบุว่า ร้าน “MIXUE” เกือบทุกสาขาเป็นร้านแฟรนไชส์ ประมาณ 95% ของรายได้บริษัทมาจากการขายส่วนผสม บรรจุภัณฑ์ และอุปกรณ์ให้กับผู้ถือสิทธิแฟรนไชส์ ด้วยโรงงานขนาดใหญ่และห่วงโซ่อุปทานของอาณาจักร “MIXUE” ทำให้ร้านนำรายได้จากส่วนนี้ไปถัวเฉลี่ย-ชดเชยกับราคาขายสินค้าหน้าร้านได้ เว็บไซต์ “FoodTalk” ระบุว่า ต้นทุนวัตถุดิบของร้าน “MIXUE” ต่ำกว่าร้านคู่แข่งราว 20%
ด้าน “แฟรนไชส์ซี” ในต่างประเทศ อาทิ อินโดนีเซียก็ต้องใช้โมเดลนำเข้าวัตถุดิบจากบริษัทแม่เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามพบว่า ร้าน “MIXUE” ในอินโดนีเซียได้รับความนิยมอย่างมาก อีกทั้งการดำเนินงานของบริษัทก็มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดที่ “MIXUE” ในอินโดนีเซียมีแผนเตรียมผลิตส่วนผสมในประเทศด้วยตัวเอง
#ซอฟต์พาเวอร์ #MIXUE #ไอศกรีม #ชานม #กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจBusiness
โฆษณา