2 ม.ค. เวลา 03:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ

PTT บริษัทพลังงานไทย ปี 67 จ่อฟันกำไรทะลุ 1 แสนล้านบาท

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT บริษัทพลังงานรายใหญ่ของไทย เมื่อไม่นานมานี้ มีมติอนุมัติงบลงทุน 5 ปี (ปี 2567 -2571) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท ธุุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท การลงทุนในบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100% ที่ 27,822 ล้านบาท
และยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปี ข้างหน้าอีก 106,932 ล้านบาท เพื่อการขยายการลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
ล่าสุดมีประเด็นกดดันจากกรณีกกพ. มีมติยกอุทธรณ์คำร้องปตท.กรณีส่งมอบก๊าซฯ ไม่ทันตามสัญญา ส่งผลให้ต้องจ่ายค่าปรับ Short fall 4.3 พันล้านบาท เป็นส่วนลดค่า ก๊าซฯ ช่วยอุ้มค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 67
แต่นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นใหม่ตลาดรับรู้ความเสี่ยงดังกล่าวแล้วตั้งแต่การประชุมครม.สัปดาห์ก่อนแล้ว
ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ PTT ต้องนำค่า Shortfall มาช่วยลดต้นทุนก๊าซงวดเดือนม.ค. - เม.ย. 2567 เพื่ออุดหนุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4.20 บาท/หน่วยได้ กระทบต่อ Margin ธุรกิจก๊าซของ PTT ช่วงไตรมาส 1– 2/67 คิดเป็น Downside กำไรปี 2567 ราว 3%
ส่วนนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ยังคงเรตติ้ง OUTPERFORM ให้ราคาเป้าหมาย 45 บาท มองว่า ความพยายามของรัฐบาลในการลดค่าไฟฟ้า
โดยขอให้ PTT ลดราคาก๊าซอาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นลดลง ซึ่ง PTT ถูกเรียกให้นำรายได้พิเศษ 4.3 พันล้านบาท จากการผลิตของผู้ผลิตก๊าซน้อยกว่าที่ตกลงไว้ เพื่อช่วยลดต้นทุนก๊าซที่สูง
ในขณะที่ต้นทุนก๊าซของโรงแยกก๊าซ (GSP) ของ PTT จะถูกปรับให้เท่ากับผู้ใช้ก๊าซรายอื่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า จากคำแนะนำของบริษัท จึงประเมินว่าสิ่งนี้อาจส่งผลเสียต่อกำไรหลักปี 2567 ของ PTT ประมาณ 11%
โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจะรวมอยู่ในการคาดการณ์ของฝ่ายวิจัย หลังจากประกาศอย่างเป็นทางการ PTT มักจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าลำบากใจในช่วงราคาพลังงานที่สูงขึ้น
ขณะที่ยังคงอยู่ในฐานะที่จะรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้ และเชื่อว่าการแทรกแซงของรัฐบาลอาจยังคงเป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อหุ้นและทำให้การเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานของประเทศไทย โดยประเมินกำไรสุทธิปี 2567 จะอยู่ที่ 1.08 แสนล้านบาท เติบโตราว 3% จากปี 2566 ที่คาด 1.05 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม PTT เผยแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2567-2571) ทุ่มงบ ลงทุน 8.92 หมื่นล้านบาท บวกเงินลงทุนชั่วคราว 1.07 แสนล้านบาท งบประมาณล่าสุดยังคงมีนํ้าหนักเป็นส่วนใหญ่ในธุรกิจก๊าซและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (58% ของงบประมาณทั้งหมด)
รวมถึงโรงแยกก๊าซใหม่ สายส่ง และคลัง LNG ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะกลางของ PTT ในการส่งเสริมก๊าซให้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและบทบาท PTT ในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของไทย
งบประมาณการลงทุนในธุรกิจก๊าซจะลดลง หลังปี 2568 เมื่อโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซเริ่มดําเนินการ โดยเชื่อว่าการลงทุนในธุรกิจก๊าซในประเทศจะค่อยๆ ลดลงในระยะยาว เนื่องจากการเปิดเสรีธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น
ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทําให้การจัดสรรงบประมาณที่สูงขึ้นเพื่อกระจายธุรกิจออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานในอนาคตและอื่นๆ รวมถึงห่วงโซ่มูลค่า EV โลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน และเภสัชภัณฑ์ ตามที่กําหนดไว้ในเงินลงทุนชั่วคราว
อย่างไรก็ตามมองว่าอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของ PTT ที่ 0.4 เท่าและกระแสเงินสดจากการดําเนินงานที่ 4 หมื่นล้านบาท จะช่วยรับประกันศักยภาพของบริษัทในการนําเงินไปลงทุนเหล่านี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า และต่อๆ ไป
โดยบริษัทยังคงมีความสามารถในก่อหนี้ใหม่จํานวนมากกว่า 3 แสนล้านบาท อิงจากฐานส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 6.28 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3/66 และรักษาอัตราส่วน IBD/E ที่ น้อยกว่า 1 เท่า เชื่อว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งน่าจะเพียงพอที่จะรองรับการลงทุนเหล่านี้โดยไม่ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น
ขณะที่บทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มองปี 2567 ราคาน้ำมัน, ก๊าซ, ค่าการกลั่นจะลดลงจากปี 2566 ส่วนปิโตรเคมีจะฟื้นตัวเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2567 ส่งผลให้ประเมินว่าการเติบโตของบริษัทลูกปี 2567 จะผสมผสาน โดยธุรกิจต้นน้ำ, โรงกลั่น, สถานีบริการน้ำมันจะทำได้เพียงประคองตัว – ลดลงจากปี 2566
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจก๊าซของ PTT จะเห็นการเติบโตหนุนจาก 1. ขาดทุนการจำหน่าย NGV จะลดลงมาก เพราะนโยบายตรึงราคาของภาครัฐทยอยสิ้นสุด 2. ต้นทุนก๊าซต่ำลงตามการเร่งผลิตก๊าซในอ่าวไทย และราคา Asia LNG
3.ราคาขายได้ประโยชน์จากแนวโน้มราคา FO 4. Utilization GSP เพิ่มเป็น 82% จากแผนซ่อมบำรุงลดลง 5. อุปสงค์ก๊าซในประเทศเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ 6. รับรู้โครงการใหม่ๆ เช่น ท่อส่งก๊าซที่ 5, GSP แห่งที่ 7, โรงงาน แบตเตอรี่ - EV, ธุรกิจยา – เวชภัณฑ์ ฯลฯ ดังนั้นคาดกำไรสุทธิปี 2567 อยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%จากปี 2566
โดยแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 41 บาท มองว่าหุ้นเป็นตัวเลือกลงทุน 12 เดือนข้างหน้าที่น่าสนใจ เพราะโมเมนตัมการเติบโตธุรกิจก๊าซเด่นกว่าธุรกิจของคู่แข่ง, เป็นหุ้นพลังงานที่ผลประกอบการมีเสถียรภาพสูง, ฐานะการเงินมั่นคง, จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ, ระยะยาวมี Upside จากความสำเร็จของธุรกิจใหม่ ขณะที่ระยะสั้นมี Catalyst จากเม็ดเงินกองทุน TESG และเงินปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 ที่คาด 1.10 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลราว 3.1%
โฆษณา