3 ม.ค. 2024 เวลา 11:00 • สิ่งแวดล้อม

Net Zero แรง คาร์บอนเครดิตขาดตลาด ราคาพุ่ง เอกชนเก็บไว้ชดเชย CO2

ขับเคลื่อน Net Zero คึกคัก เอกชนแห่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตต่อเนื่อง 371 โครงการ รอการรับรอง 214 โครงการ อบก.ชี้ คาร์บอนเครดิตเป็นของหายาก แม้มีอยู่ในตลาด 15 ล้านตัน เหตุอยู่กับผู้ประกอบการไม่นำออกมาขายเก็บไว้ชดเชยปล่อยคาร์บอนของตัวเอง และรอดูราคาวิ่งเก็งกำไร
สิ้นสุดปี 2566 การดำเนินงานของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สอด คล้องกับเป้าหมายของประเทศที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีค.ศ.2065 ยังเป็นไปต่อเนื่อง
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) รายงานว่านับตั้งแต่ปีงบ ประมาณ 2557 จนถึงช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2567 มีโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนขอรับรองคาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) แล้วราว 371 โครงการ
1
คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ 11,504,675 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทดแทนจากการจัดการของเสีย ตามลำดับ
ขณะที่มีโครงการที่ได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ หรือคาร์บอนเครดิต รวมทั้งหมด 157 โครงการ (จำนวน 310 ครั้ง) คิดเป็นมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 16,961,670 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบหรือรอการรับรองคาร์บอนเครดิตอีก 214 โครงการ และสิ้นสุดโครงการการรับรองแล้ว 35 โครงการ
ทั้งนี้ ในจำนวนโครงการที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตดังกล่าว มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ถูกชดเชยแล้วราว 1.67 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่งผลให้มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เหลืออยู่ในตลาดราว 15.29 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
อบก.รายงานอีกว่า นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้วราว 3.13 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 283.31 ล้านบาท โดยราคาเฉลี่ยซื้อขายคาร์บอนเครดิตในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2567 ได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 193.12 บาทต่อตัน ส่วนใหญ่ซื้อขายอยู่ในกลุ่มการพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และป่าไม้ ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 จากที่เคยอยู่ที่ 79.71 บาทต่อตัน
1
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เปิดเผยว่า ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต หากประเมินการซื้อขายในช่วงปีงบประมาณ 2566 มีปริมาณซื้อขายอยู่ที่ 857,102 ตัน8าร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มีมูลค่าราว 68.32 ล้านบาท
ขณะที่การซื้อขายช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2567 มีปริมาณซื้อขายราว 336,433 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 64.89 ล้านบาท
ทั้งนี้ อาจจะมองว่าจะมีปริมาณและมูลค่าที่ต่ำเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565 มีปริมาณการซื้อขายราว 1.18 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 128.48 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงกลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตเริ่มทำงาน คาร์บอนเครดิตที่มีอยู่ในตลาดเริ่มเป็นของหายาก เพราะทุกองค์กรหรือหน่วยงานที่มาขอรับรองคาร์บอนเครดิต จะเก็บไว้เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนขององค์กรหรือหน่วยงานตัวเอง
ขณะเดียวกันราคาซื้อขายมีมูลค่าต่อตันสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับแต่ก่อน บางหน่วยงานไม่นำออกมาขาย เพื่อรอให้ราคาดีจนเป็นที่น่าพอใจ เหมือนกับการเล่นหุ้น ดังนั้น เมื่อกลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทำงาน จะส่งผลให้ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากนี้ไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด
นายนที สิทธิประศาสตร์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ FTI CCI กล่าวว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ใน แพลตฟอร์ม FTIX ที่ดูแลโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ FTI CCI ว่า ยังมีเรื่องที่เป็นอุปสรรคทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่คล่องตัว ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ในการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ต้องจัดส่งใบกำกับภาษีในทุกครั้งที่มีการซื้อขาย
ขณะที่การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทางกระทรวงการคลังไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยพิจารณายกเว้นให้นับตั้งแต่ที่มีการเปิดให้มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทางสถาบันกำลังมีการยื่นเรื่องร้องขอให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้รับการยกเว้นภาษีเช่นเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจมีแรงจูงใจในการปรับลดการปล่อยคาร์บอนและมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันมากขึ้น
นอกจากนี้สถาบันฯ จะขอให้กรมสรรพากรพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับฝั่งผู้ขายคาร์บอนเครดิตจากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีในกำไรจากการขาย 3 รอบภาษีต่อเนื่อง ขยายเป็น 5 ปี โดยไม่ต้องนับต่อเนื่อง ที่อาจจะเป็นปีเว้นปีกในขณะที่ฝั่งของผู้ซื้อที่ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์รัฐควรจะพิจารณาให้ได้รับการนำรายจ่ายมาลดหย่อนภาษีในลักษณะเดียวกับการทำบุญบริจาค เพื่อกระตุ้นการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย
โฆษณา