2 ม.ค. เวลา 16:08 • ไลฟ์สไตล์

การสอบลัคนา

ในหัวข้อที่แล้วได้มีการกล่าวถึงเรื่องของ “การสอบชะตา” กันไปบ้าง ดังนั้นในส่วนตรงนี้ก็จะมาอธิบายว่าการสอบชะตานั้นคืออะไร
อธิบายกันอย่างง่ายๆ การสอบชะตาก็คือการตรวจสอบความถูกต้องของดวงชะตาที่เราตั้งขึ้น
โดยมากเราจะสอบชะตาเมื่อเราเกิดความไม่แน่ใจในตำแหน่งของจุดลัคนา เช่นดวงชะตาที่มีจุดลัคนาตรงบริเวณเส้นรอยต่อระหว่างราศี ทำให้เกิดความลังเลว่าลัคนาอาจคลาดเคลื่อนไปอยู่ราศีใดกันแน่
ดังนั้นถ้าเวลาเกิดค่อนข้างแน่นอน จุดลัคนาอยู่ในตำแหน่งกลางราศี การสอบชะตาก็จะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น (เสียเวลาเปล่าๆ)
ยกตัวอย่างเช่นดวงชะตาหนึ่ง เจ้าชะตาเกิด 19 มกราคม 2498 เวลา 11.25 น. กรุงเทพฯ
ในดวงชะตานี้ลัคนาอยู่ในตำแหน่ง 0 องศา 43 ลิปดาของราศีเมษ จะเห็นว่าจุดลัคนาเพิ่งเข้ามาในราศีเมษเพียงแค่ 43 ลิปดาเท่านั้น
ในกรณีที่เราไม่แน่ใจว่าที่จริงแล้วจุดลัคนาควรจะอยู่ในราศีเมษหรือราศีมีนกันแน่
เราอาจตั้งดวงชะตาขึ้นมาเทียบเป็น 2 ดวง
โดยดวงชะตาแรกให้ลัคนาอยู่ราศีเมษ ส่วนอีกดวงชะตาหนึ่งทดลองถอยลัคนาให้ไปอยู่ในราศีมีน จากนั้นลองอ่านดวงชะตาทั้งสองนี้เทียบกันว่าแบบใดจะสอดคล้องไปกันได้กับชีวิตจริงของเจ้าชะตามากกว่ากัน
(เจ้าชะตาต้องให้ความร่วมมือด้วย จะปล่อยให้นักพยากรณ์อ่านดวงไปตามยถากรรมอยู่คนเดียวนั้นหาได้ความอะไรไม่)
จากภาพดวงชะตาตัวอย่าง เปรียบเทียบกันระหว่างลัคนาอยู่ราศีเมษ(ชาญชัยกล้าได้กล้าเสีย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ดี กล้าแสดงออก) กับลัคนาอยู่ราศีมีนร่วมอังคาร (เสียสละ เกรงใจผู้อื่น ทำตัวเป็นคนไม่ทุกข์ไม่ร้อนสบายๆ ไม่แสดงออกมากนัก)
หากพิจารณาในแง่บุคลิกภาพแล้ว 2 ดวงชะตานี้ควรมีต้องมีความแตกต่างอย่างชัดเจน จนเป็นคำตอบให้กับเราได้ไม่ยากว่าดวงชะตานี้ที่จริงแล้วลัคนาควรอยู่ในราศีใดกันแน่ (ยิ่งมีการอ่านร่วมกับเรื่องเรือนชะตาและอื่นๆ ก็จะยิ่งได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น)
วิธีการอย่างนี้จะเห็นว่าผู้ที่จะทำการสอบชะตานั้นจะต้องมีความชำนาญในการอ่านดวงชะตาเป็นอยู่สักหน่อย เพราะต้องอ่านเปรียบเทียบ 2 ดวงพร้อมกัน
โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว มีความเห็นว่าหากดวงชะตาที่ผูกขึ้นมาไม่ได้มีจุดให้ชวนสงสัย (เช่นลัคนาอยู่ตรงเส้นแบ่งราศี) ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสอบลัคนา เพราะนอกจากจะเสียเวลาแล้วบ่อยครั้งยังทำให้ผู้พยากรณ์เกิดความสับสนได้ด้วย
:)
โฆษณา