3 ม.ค. เวลา 05:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จีนอัดฉีดเงิน 1.7 ล้านล้านบาทกู้ศก. พบเดือนธ.ค. การผลิตตกต่ำสุดใน 6 เดือน

รัฐบาลจีนอัดฉีดเงินกู้เศรษฐกิจ ปล่อยเงินกู้แบบมีข้อผูกมัดมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ธนาคารเฉพาะกิจ (Policy Banks) ในประเทศ เพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ และกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคการผลิตที่ยังมีแนวโน้มชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากดีมานด์ที่ซบเซา ส่งผลต่ออัตราการจ้างงานภายในประเทศ
วันที่ 2 ธ.ค. สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารประชาชนจีน (The People’s Bank of China) หรือแบงก์ชาติจีนได้ปล่อยเงินกู้ภายใต้ธุรกรรมให้กู้ยืมแบบมีข้อผูกมัด (Pledged supplementary lending: PSL) จำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.7 ล้านล้านบาทให้แก่ธนาคารเฉพาะกิจของจีน ซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (China Development Bank)
- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าจีน (China Eximbank)
- ธนาคารเพื่อพัฒนาการเกษตรของจีน (Agricultural Development Bank of China)
การให้เงินกู้ภายใต้โปรแกรม PSL เป็นการอีดฉีดเงินทุนช่วยเหลือให้แก่ธนาคารที่กำหนด เพื่อให้ธนาคารเหล่านี้เป็นแหล่งเงินกู้ยืมสำหรับภาคธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจในภาคการเกษตร หรือธุรกิจขนาดเล็ก อีกต่อหนึ่ง และมักมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมทั่วไป โดยในปัจจุบันอยู่ที่ 2.4%
PSL เป็นมาตรการช่วยเหลือที่รัฐบาลจีนเคยทำมาแล้วในช่วงปี 2014-2019 เพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาบ้านสูงขึ้นจนเกิดภาวะฟองสบู่และอีกครั้งในช่วงปลายปี 2022 เพื่อให้เงินทุนมูลค่าทั้งหมดประมาณ 5 แสนล้านหยวน แก่ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีนนำไปกระตุ้นการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ และช่วยสนับสนุนการก่อสร้างในโครงการต่างๆ มูลค่าทั้งหมด 7.4 แสนล้านหยวน
การอัดฉีดเงินในครั้งนี้ ทำให้มูลค่าหนี้คงค้างภายใต้โครงการ PSL เพิ่มขึ้นจาก 2.9 ล้านล้านหยวนในเดือนพฤศจิกายน มาเป็น 3.25 ล้านล้านหยวนในปลายเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นมา 3.5 แสนล้านหยวน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะจากการรายงานของบลูมเบิร์ก รัฐบาลจีนมีแผนที่จะอัดฉีดเงินทั้งหมด 1 ล้านล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ โดยจะค่อยๆ ปล่อยออกมาเป็นช่วงๆ
Xing Zhaopeng นักกลยุทธ์อาวุโสด้านเศรษฐกิจจีนจาก Australia & New Zealand Banking Group Ltd. กล่าวว่า PSL เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญที่รัฐบาลจีนสามารถใช้ช่วยแก้ปัญหาหนี้และสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ และประคับประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ได้ เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่จะช่วยอัดฉีดเงินทุนให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้อย่างตรงจุดที่สุด และมองว่ารัฐบาลจีนไม่น่าจะใช้มาตรการกระตุ้นอื่นๆ แล้ว เช่น การปรับลดข้อกำหนดการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับธนาคาร
ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน ได้ปล่อยกู้เงินจำนวน 10 ล้านหยวนเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย 700 ยูนิต ในทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลฟูเจียน และมีแผนที่จะปล่อยกู้เงินทั้งหมด 202 ล้านหยวนเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ
📌‘สีจิ้นผิง’ ยอมรับศก. แย่ รัฐบาลเร่งแก้ไข
ในสุนทรพจน์วันที่ 31 ธ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีนได้ออกมายอมรับว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเจอแรงต้านและความท้าทายมากมาย หลายธุรกิจประสบปัญหา และประชาชนก็ประสบความยากลำบากในการหางาน และหาเงินมาเลี้ยงชีพในชีวิตประจำวัน
นับเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีของจีนออกมากล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจในสุนทรพจน์วันก่อนขึ้นปีใหม่ สะท้อนว่า ปัญหาเศรษฐกิจของจีนอาจย่ำแย่ จนผู้นำต้องออกมาพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อย้ำให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และกำลังพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนอยู่
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่สีจิ้นผิงจะออกมากล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ประจำเดือนธันวาคม ซึ่งได้ลดลงเหลือเพียง 49 ลดลง 0.4 จากเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตของจีนมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในภาคการผลิต เพราะสะท้อนว่าผู้จัดซื้อจัดซื้อวัตถุดิบมาใช้การผลิตน้อยลงจากดีมานด์ที่ต่ำ
ขณะที่ยอดขายที่พักอาศัยในจีนยังคงตกต่ำต่อเนื่องส่งท้ายปี โดยข้อมูลของ China Real Estate Information Corp. พบว่า ในเดือนธันวาคมปี 2023 มูลค่ายอดขายที่พักอาศัยใหม่ของ 100 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในจีนลดลงถึง 34.6% จากปีก่อนหน้า เหลือเพียง 4.51 แสนล้านหยวน
ทั้งนี้ ยอดขายที่ตกลงในเดือนธันวาคมนี้ จะส่งผลให้ยอดขายทั้งปีของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ในจีนลดลง 16.5% จากปีก่อนหน้า ถือเป็นการลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ -15% นั่นแสดงให้เห็นว่า ปัญหาหนี้ สภาพคล่อง และวิกฤตความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาคอสังหาฯ ยังไม่ดีขึ้น เพราะประชาชนยังไม่กล้าลงทุนใช้จ่ายกับที่อยู่อาศัย แม้จะมีการออกนโยบายสนับสนุนการขายมากมาย ทั้งการลดเงินดาวน์ และการลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน
อ่านรายละเอียดในเว็บไซต์ที่ https://www.amarintv.com/spotlight/economy/detail/57629
ติดตามข้อมูล ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจการเงิน ของ #SPOTLIGHT เพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ : https://www.amarintv.com/spotlight
อินสตาแกรม : https://www.instagram.com/spotlightbizth
โฆษณา