5 ม.ค. 2024 เวลา 07:29 • การศึกษา

เงินเดือน 220,000 บาท แต่แทบไม่เหลือเงินที่จะทำตามฝันตัวเอง วางแผนการเงินไม่ดี?

❓📨มีคนส่งมาให้อ่าน คิดเห็นยังไง กรณีแพทย์เฉพาะทาง รายได้ประมาณ 220,000 บาท ต่อเดือน มีลูก 1 คน ภรรยาเป็นแม่บ้าน full time แต่ไม่เหลือเงินที่จะทำตามฝันตัวเอง อยากคิดย้ายประเทศเผื่อว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
1
🔴งั้นอุ้ยขอแสดงความคิดเห็นในฐานะคุณแม่ลูกสอง ในฐานะภรรยาที่เคยเป็นแม่ full time ในฐานะที่เป็นนักวางแผนการเงิน ดูแลเคสหมอมาไม่น้อย และมีน้องสาวเป็นหมอวางแผนที่จะย้ายประเทศเพราะมีสามีต่างชาติ และในฐานะที่ตัวเองก็เคยคิดย้ายประเทศด้วย (แต่คิดมาพันแปดร้อยตลบแล้วว่า อยู่เมืองไทยเหอะ สบายแล้ว (ถ้ามีเงิน😂) )
#ข้อมูลทางการเงิน ของเคสนี้
1. ค่าบ้าน 40,000 บาท ต่อเดือน
2. ค่ารถ 13,000 บาท ต่อเดือน
3. ค่าเงินเดือนภรรยา 30,000 ต่อเดือน
4. ค่าประกันลูก + รถ + ชีวิต 20,000 บาท/เดือน
5. ค่าลดหย่อนภาษี 30,000 บาท/เดือน
6. ค่าเทอมลูกในอนาคต 25,000 บาท/เดือน (แพลน English Program รร.เอกชน)
7. ค่าใช้จ่ายกองกลางในบ้าน 20,000/เดือน
8. เงินใช้จ่ายส่วนตัว 15,000 บาท/เดือน
9. เงินออมส่วนตัว 15,000 บาท/เดือน
10. ภาษีที่ต้องจ่าย ~60,000 บาท/ปี
🔴ขอพูดถึงข้อ 10 ก่อน เรื่องภาษี
จากข้อมูลที่มี รายได้ 220,000 บาท/เดือน หรือ 2,640,000 บาท/ปี ไม่แน่ใจว่าเป็นเงินได้ประเภทใดบ้าง เพราะจริงๆหมอมีเงินได้ที่เข้าข่าย 4 ประเภท แต่น่าจะเป็น 40(1) + 40(2) + 40(6) มากกว่า หากเป็น 40(6) ทั้งก้อน หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือ 1,584,000 บาท พูดง่ายๆว่าเงินจำนวนนี้ไม่นำมาคำนวณภาษี
แต่รู้ไหม ถ้าก้อนนี้เป็นเงินเดือนหรือเงินได้ของพนักงานออฟฟิศทั่วไป หรือแม้แต่แพทย์ที่เป็นลูกจ้าง 40(1) จะหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 100,000 บาท เห็นความแตกต่างไหม เราจึงจำเป็นต้องรู้ประเภทเงินได้ไงละ เพื่อที่จะหักค่าใช้จ่ายได้ถูก (เงินได้มี 8 ประเภทนะคะ)
ย้อนกลับมาที่เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย เท่ากับ 1,056,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 และของภรรยา* 60,000 บาท ลดหย่อนบุตร 30,000 บาท ดอกเบี้ยบ้าน 100,000 ประกันชีวิต 100,000 เงินลงทุน(SSF RMF หรือกลุ่มเกษียณอื่นๆ) 360,000 รวมค่าลดหย่อน 710,000 หักค่าลดหย่อนแล้ว เหลือเงินได้สุทธิ 346,000 บาท ฐานภาษี 10% ต้องเสียภาษี 12,100 บาท เคสนี้ถ้าบอกว่าเสียภาษีปีละ 60,000 บาท จึงแน่นอนว่าต้องมีเงินได้ 40(1) หรือ 40(2) ด้วย
รู้ไหมว่าถ้าเป็นพนักงานเงินเดือน จะเสียภาษี 322,500 บาท!! บางอาชีพต้องเสีย VAT อีก อ่านแล้วน้อยใจทันทีเลยใช่ไหม ส่วนตัวอุ้ยมองว่า เงินได้ 40(1) และ 40(2) หักค่าใช้จ่ายได้แสนเดียว มันควรเปลี่ยนได้แล้วค่ะคุณ
พูดกันตามตรงนะ เทียบภาษี 60,000 บาทกับเงินได้ทั้งหมด ภาษีที่เสียคิดเป็น 2.3% เท่านั้นเอง หรือหาก 60,000 บาทเป็นการจ่ายผ่อนสามงวดนะ ภาษีคิดเป็น 7% ของรายได้ ก็ไม่ได้เยอะนะเอาจริงๆ หรือถ้าค่าลดหย่อนน้อยกว่านี้เผื่อต้องการนำเงินไปทำอย่างอื่น ก็ต้องย้อนกลับถามตัวเองละ ถ้าเสียมากกว่านี้ เช่น 10% คุณโอเคไหม
*กรณีไม่มีรายได้ และตัวคุณหมอเอง หรือภรรยา คนใดคนหนึ่งอยู่ในประเทศไทย ครบ 180 วันในปีภาษีนั้น ซึ่งเดาว่าคงอยู่ไทย และหากภรรยามีประกันชีวิต ลดหย่อนได้อีก 10,000 บาท
ผ่านไปได้แค่ข้อเดียว...
🔴ขอกลับมาที่ ข้อ 1 ค่าบ้าน 40,000 บาท ต่อเดือน
เอาจริงๆค่าผ่อนบ้านไม่ถึง 20% ของรายได้ ก็ไม่ได้เกินเกณฑ์อะไร มูลค่าบ้านน่าจะประมาณ 6-7 ล้าน ไม่รู้ว่าอยู่โซนไหน ถ้าเป็นบ้านเดี่ยวก็น่าจะโซนชานเมือง รวมข้อ 2 ค่าผ่อนรถ 13,000 บาท รวมหนี้ผ่อนต่อเดือน 24% ก็ไม่ได้เกินอัตราส่วนการชำระคืนหนี้สินจากรายได้ ซึ่งไม่ควรเกิน 35%-45% ประเมินคร่าวๆจากบ้านและรถที่เลือก ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่รถยุโรป คือดูไม่น่าเป็นคน lifestyle ฟุ้งเฟ้อหรือใช้จ่ายเกินฐานะอะไรนะ
2
🔴ข้อ 3 ค่าเงินเดือนภรรยา 30,000 ต่อเดือน
รู้ไหมว่า การตัดสินใจมาเป็นแม่บ้าน full time มันเป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่าย มันต้องใช้ความกล้าหาญและความเสียสละมากเลยนะ (เคยเขียนประเด็นนี้ไปแล้ว) ถ้าภรรยาไม่ลาออก คุณก็ต้องจ้างพี่เลี้ยง แล้วการปล่อยให้ดูแลลูกเราอยู่บ้านก็สุ่มเสี่ยงอีก หรือต้องจ่ายค่า nursery อยู่ดี
เคสนี้ไม่รู้ว่าลูกอายุเท่าไร เดาว่ายังเล็ก ถ้ามาคิดว่าเงิน 30,000 ต่อ 30 วัน ตกวันละ 1,000 บาท แล้วแม่ที่เลี้ยงลูกเองคือ ห้ามป่วย ห้ามตาย ไม่มีวันหยุด แปลว่า available 24 ชม. นะคะคุณ งั้นแปลว่า ตกชม.ละ 42 บาท?? ไม่มีโอทีนะ แค่จะบอกว่ามันเป็นงานที่เหนื่อยค่ะ แต่เรามนุษย์แม่เต็มใจ แล้วถ้าไม่มีช้างเท้าหลังแบบนี้ ช้างเท้าหน้าจะออกไปทำงานอย่างสบายใจได้อย่างไร
1
เงินเดือน 220,000 บาท คือเงินของทั้งคู่นั่นแหละ เพราะคำว่าครอบครัว คือเราทำงานกันเป็นทีม แล้วถ้าว่ากันตามตรง ตามกฎหมาย เมื่อจดทะเบียนสมรส เงินเดือนของสามีจะเป็นของภรรยาครึ่งหนึ่ง เพราะถือเป็นสินสมรส
คือไม่รู้ว่าก้อน 30,000 บาทนี้เป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้างนะ น่าจะของลูกและของภรรยา ไม่รู้ว่าใช้พอไหม ตีเป็นคนละ 15,000 บาท เท่ากับของสามีใช้จ่ายส่วนตัว ข้อ 8 แต่ๆๆ คุณคะ คุณหมอยังมี ข้อ 9 เงินออมส่วนตัว 15,000 บาท แล้วภรรยาก็ควรมีเงินออมส่วนตัวด้วยเหมือนกันนะ เห็นด้วยไหม หรือข้อนี้เป็นเงินออมของทั้งคู่ล่ะ?
1
🔴ข้อ 4 ค่าประกันลูก + รถ + ชีวิต 20,000 บาท/เดือน
ไม่รู้ว่าทำอะไรบ้าง ต้องไปแกะไส้ใน แต่ส่วนตัวอุ้ยมองว่า ควรจะมีประกันชีวิตแบบทุนสูง เพราะเป็นหัวหน้าครอบครัว เคสนี้ไม่รู้อายุเท่าไร ถ้าช่วง 35-40 ปี เบี้ย 1แสน ดึงทุนสูงๆไปเลย 10 ล้าน ประกันสุขภาพลูกก็ควรมี
เข้าใจหัวอกพ่อแม่ ลูกป่วยทีจะให้รอคิวยังไงไหว โรคภัยแปลกๆก็เยอะ เบี้ย ~6 หมื่น และประกันรถไม่น่าเกิน 3 หมื่น ที่เหลือควรจะมีประกันโรคร้ายแรง ประกันวิชาชีพ ประกันทุพพลภาพ ซึ่งบางทีหนักกว่ากรณีเสียชีวิตนะเพราะยังมี คชจ. รันต่อ (อันนี้ผู้รับคำปรึกษาบางคนไม่เคยคิดเลย) รวมถึงพิจารณาประกันชดเชยรายได้ไว้บ้าง
🔴ข้อ 5 ค่าลดหย่อนภาษี 30,000 บาท/เดือน
หนีไม่พ้นการออม การลงทุนใน SSF RMF TESG และการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ กบข. สำหรับข้าราชการ หรือ PVD สำหรับมนุษย์เงินเดือน ก้อนนี้จำเป็นนะ เพราะเราควรออมเพื่อการเกษียณของตัวเอง และเพื่อลดหย่อนภาษี หลายเคสในชีวิตจริง คนที่เกษียณแล้วได้เงินเป็นกอบเป็นกำเพราะเงินที่ออกมายากๆนี่ล่ะ
ของเคสนี้ ไม่รู้ว่ามีเงินสำรอง มีทรัพย์สินอื่นๆอยู่เท่าไร ถ้ารู้จะคำนวณเงินเกษียณได้ว่าพอไหม พอร์ตลงทุนที่มีต้องปรับเปลี่ยนอะไรไหม ถ้าคิดว่าทำงานไปอีก 20 ปี ไม่คิดเงินลงทุนที่มีอยู่เดิม เงินจะโตเป็น 11.9 ล้าน หรือ 13.2 ล้านที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 5% และ 6% ตามลำดับ
หลายคนอาจจะคิดว่าทำไมคิดผลตอบแทนน้อยจัง อุ้ยมักวางแผนแบบคิด conservative ไว้ก่อน ของจริงอาจจะได้มากกว่านี้ ก็เป็นส่วนเพิ่มไป ดีกว่าที่จะใช้เลขผลตอบแทนเยอะๆ แล้วไม่เป็นไปตามแผน ส่วนตัวรู้สึกไม่ปลอดภัย (ก็คิด scenario ที่ 7-8% ไว้ด้วยได้) และในทางปฏิบัติ ระหว่างทางรายได้เพิ่ม เราต้องลงทุนเพิ่มอยู่แล้ว
ไม่รู้ว่าก้อนออมส่วนตัว ออมในอะไร ถ้ามาดูอัตราส่วนการออมและการลงทุน เอาจริงๆ 20% ไม่ขี้เหร่นะ
🔴ข้อ 6 ค่าเทอมลูกในอนาคต 25,000 บาท/เดือน (แพลน English Program รร.เอกชน)
เดาว่าลูกยังเล็ก หรือยังไม่เข้าเรียน กันไว้เท่านี้สำหรับ EP ถือว่าเยอะอยู่นะ ถ้าสำหรับนานาชาติ อาจจะได้แค่ kindergarten เพราะระดับที่สูงขึ้นค่าเทอมจะขึ้น ไม่รวมเงินเฟ้ออีก ถามว่านานาชาติเรทนี้มีไหม มันก็มี แต่เข้าใจไหมคะ มันมีหลาย tier อะค่ะ อุ้ยมองว่า EP คือสบายๆ ถ้าจัดพอร์ตดีดี อาจจะมีเงินเก็บไว้ให้ลูกไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับ ป.ตรีได้ วางแผนการศึกษาบุตรสำคัญมากนะ
🔴ข้อ 7 ค่าใช้จ่ายกองกลางในบ้าน 20,000/เดือน
ถ้าเป็นค่าอาหาร ของใช้ต่างๆในบ้าน ค่าน้ำไฟ สำหรับผู้ใหญ่ 2 คนและลูก 1 คน ส่วนตัวอุ้ยมองว่าไม่ได้เวอร์ แต่เราก็ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่จะถามกลับไปว่าได้ใช้ชีวิต ได้เที่ยว บ้างไหม ได้ให้รางวัลตัวเองบ้างไหม ถ้าไม่มีเลย มีสักหน่อยเหอะ 555 นี่เราเป็นนักวางแผนการเงินที่แปลกหรือเปล่า คนอื่นพากันบอกให้ลดรายจ่าย ก็อย่างที่อุ้ยบอกไง เราไม่รู้ไส้ในว่ามีอะไรบ้าง แต่การที่อีกคนทำงาน ในขณะที่อีกคนเลี้ยงลูกงกๆไปวันวัน เป็นคุณ คุณ happy หรือ ส่วนตัวบอกเลยว่าไม่!!
1
🔴ข้อ 8 เงินใช้จ่ายส่วนตัว และข้อ 9 เงินออมส่วนตัว มีพูดไปบ้างแล้ว แต่จากภาพรวม มองว่าคุณหมอท่านนี้มีการวางแผนการเงินมาดีระดับนึงเลยนะคะ รับผิดชอบครอบครัวได้อย่างดีแล้ว และดูเป็นคนระมัดระวังการใช้เงิน เพราะการนึกถึงครอบครัวนี่ล่ะ อาจจะทำให้บางครั้งรู้สึกว่ามันใช้เงินตามใจตัวเองมากไม่ได้
📌บางทีการวางแผนการเงินมันดูแค่ตัวเลขไม่ได้หรอกค่ะ ความรู้สึกนึกคิด ความพอใจส่วนตัว สิ่งที่ผู้รับคำปรึกษาไม่ได้พูดออกมาแต่นักวางแผนการเงินต้องสังเกตเอง ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย เราถึงเรียกว่า วางแผนการเงินส่วนบุคคลไงคะ 🙂
📌📌สิ่งที่อยากบอกเพิ่มเติม
#1 ตอนนี้มีรายได้ทางเดียว อาจจะดูเป็นกังวล แต่ถ้าอีกหน่อยลูกโตขึ้น คุณแม่น่าจะออกไปทำงาน มีรายได้เพิ่มอีกทาง ก็น่าจะดูสบายๆขึ้น ให้มองว่าเราทำงานกันเป็นทีม ทุกหน้าที่สำคัญหมด
#2 นี่คือกรณีมีลูกคนเดียวนะคะ ถ้าจะมีสองคน แล้วต้องการคุณภาพชีวิตในแบบที่ต้องการ แน่นอนว่าต้องหารายได้เพิ่ม ไม่วางแผนการเงินไม่ได้จริงๆ
#3 หลายคนอาจบอกว่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถหมดก็เบาแล้ว แต่ในความเป็นจริงมันอาจไม่เป็นอย่างนั้นค่ะ เพราะหลายเคสที่เจอ คือหากลูกเรียนในเมือง หรือไกลจากบ้าน พ่อแม่ไม่น้อยเลยที่ซื้อคอนโดเพื่อความสะดวกในการเดินทาง ก็จะเข้าลูปผ่อนอีก ก็ต้องดูทำเลบ้านปัจจุบันและที่ทำงานด้วย ส่วนเรื่องรถผ่อนหมด ระหว่างทางก็ต้องมีเปลี่ยนรถทุก 7-10 ปี หากภรรยากลับมาทำงาน อาจต้องออกรถเพิ่มอีกคันไหม ไม่รู้
#4 รายได้ระดับนี้ถ้าไม่ใช่แพทย์ ฐานภาษีอยู่ที่ 25% และถ้าค่าลดหย่อนไม่ได้สูงเท่านี้ ก็กระโดดไป 30% แปลว่าถ้าออมหรือลงทุน 100,000 บาท จะประหยัดภาษีได้ 25,000 - 30,000 บาท แล้วจริงๆก็อยากแนะนำให้ออม ไม่ใช่เพราะภาษีอย่างเดียวนะ แต่เพราะเราต้องออมเพื่อตัวเราเองในอนาคต
#5 การเปลี่ยนประเภทเงินได้ จาก 40(1) หรือ 40(2) เป็น 40(6) เพราะเห็นว่าหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า มันไม่ใช่อยู่ดีดี ก็ทำได้เลยนะคะ มันมีเงื่อนไขของมัน จากเป็น 40(2) เป็น 40(7) หรือ 40(8) ก็เหมือนกัน อย่าไปกรอกประเภทเงินได้ตอนยื่นภาษีผิดนะคะ ระวังจะโดนย้อนหลัง
อันที่จริงหมอส่วนใหญ่ก็ยึดตามหนังสือยืนยันรายได้ค่าประกอบโรคศิลป์ ที่ได้จากรพ. นั่นแหละ แม้บางกรณีจะไม่ได้ตรงตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ว่าแพทย์ได้เปิดคลินิกรักษาคนไข้เป็นการส่วนตัว หรือแพทย์ทำสัญญาหรือ ตกลงกับสถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อประกอบโรคศิลปะในนามของแพทย์ และมี ข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วย โดยสถานพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาแทนแพทย์ แล้วนำมาจ่ายให้กับแพทย์เพื่อแบ่งรายได้ให้สถานพยาบาล
#6 การย้ายประเทศ ต้องคิดให้ถี่ถ้วน อย่างกรณีน้องสาวที่เป็นหมอก็ต้องอ่านเพื่อสอบ license ก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน(ตอนนี้ยังอยู่ไทย) ต่างประเทศแม้รายได้จะสูงกว่า ค่าครองชีพก็สูง และ tax ก็หนักอยู่เหมือนกัน จะบอกว่าประเทศเค้ามอบสวัสดิการให้ประชาชนคุ้มค่าภาษีที่จ่าย ก็คงแล้วแต่ประเทศแหละ พูดถึงการหาหมอเมื่อเจ็บป่วย อุ้ยว่าอยู่ไทยนี่สะดวกสบายสุดละ ต่างประเทศหาหมอทีนึง ต้องนัดล่วงหน้า และอีกหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา อันนี้ไปศึกษาต่อกันเอาเอง
1
ทุกวันนี้บอกลูกสองคนเสมอว่า เราเป็น global citizen อย่าไปยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือแค่ในประเทศไทย ชีวิตลูก ลูกมีสิทธิเลือก คุณพระ!! วันหนึ่ง ลูกดันเปรยมาว่าอนาคตอาจจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศก็ได้นะหม่าม้า แต่จะส่งเงินกลับมาให้ ดูแลตอนเกษียณ พีคสุดๆ นึกถึงภาพตัวเองวัยเกษียณอยู่กับน้องหมา 😂😅
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะทุกคน มีอะไรมาแชร์กัน
#ด้วยรัก ❤️
แม่อุ้ย #KanyaweeCFP
กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา
นักวางแผนการเงิน CFP®
#FinanceForMom
#การเงินฉบับคุณแม่ต้องรู้
#วางแผนการเงิน #วางแผนภาษี #วางแผนเกษียณ #วางแผนการศึกษาบุตร #วางแผนการเงินแพทย์ #วางแผนการเงินคุณหมอ #เงินได้แพทย์ #ลดหย่อนภาษี #ย้ายประเทศ #FinancialPlanning #CFP
โฆษณา