7 ม.ค. เวลา 10:45 • ไลฟ์สไตล์

ปีมะโรง 2567 : รู้จัก “นักษัตร” คำที่ใช้มานานตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ชวนรู้จัก “นักษัตร” คำที่ใช้มานานตั้งแต่สมัยสุขโขทัย พร้อมไขข้อสงสัยทำไม “มะโรง” เป็นชื่อปีที่ 5 ของรอบปีนักษัตร
พุทธศักราช 2567 ตรงกับปีนักษัตร คือ ปีมะโรง เป็นชื่อปีที่ 5 ของรอบนักษัตร ซึ่งมีงูใหญ่เป็นเครื่องหมาย หลายคนคงสงสัยกันใช่ไหมว่าทำไม “ปีมะโรง” ถึงเป็นชื่อปีที่ 5 ของรอบนักษัตร วันนี้เราจะพาทุกคนมาไขข้อสงสัยกันไปกับสำนักงานราชบัณฑิต!
คำว่านักษัตร อ่านว่า นัก-สัด หมายถึง ชื่อรอบกำหนดเวลา กำหนด 12 ปี เป็นรอบ 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร โดยกำหนดให้สัตว์เป็นเครื่องหมายในปีนั้นๆ เช่น
มะโรง
  • ปีชวด มีหนูเป็นเครื่องหมาย
  • ปีฉลู มีวัวเป็นเครื่องหมาย
  • ปีขาล มีเสือเป็นเครื่องหมาย
  • ปีเถาะ มีกระต่ายเป็นเครื่องหมาย
  • ปีมะโรง มีงูใหญ่เป็นเครื่องหมาย
  • ปีมะเส็ง มีงูเล็กเป็นเครื่องหมาย
  • ปีมะเมีย มีม้าเป็นเครื่องหมาย
  • ปีมะแม มีแพะเป็นเครื่องหมาย
  • ปีวอก มีลิงเป็นเครื่องหมาย
  • ปีระกา มีไก่เป็นเครื่องหมาย
  • ปีจอ มีหมาเป็นเครื่องหมาย
  • ปีกุน มีหมูเป็นเครื่องหมาย
ในการนับปีหรือกำหนดปีโดยมีสัตว์เป็นเครื่องหมายนี้ ส่วนใหญ่จะใช้กันในแถบเอเชีย เช่น ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ทิเบต ส่วนทางซีกโลกตะวันตกจะใช้ตัวเลขเป็นเครื่องกำหนด
ส่วนที่มาที่ไปของการใช้รูปสัตว์เป็นเครื่องหมายในแต่ละปีนั้นไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ใดหรือชาติใดเป็นผู้คิด และคิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ในประเทศไทยนั้น มีหลักฐานว่า ไทยใช้ปีนักษัตรมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึก
  • หลักที่ 1 ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 10 ว่า “เมืองนี้หาย 1214 ศกปีมะโรง
  • ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 3-4 ว่า “ชาวอูชาวของมาออก 1207 ศกปีกุน”
วิธีคำนวณพุทธศักราชตรงกับปีนักษัตรใด
วิธีการคำนวณว่าพุทธศักราชใด ตรงกับปีนักษัตรใด ให้เอาปีพุทธศักราชตั้ง หารด้วย 12 แล้วเอาเศษมาเทียบดังต่อไปนี้
  • เศษ 1 ปี ตรงกับปีมะเมีย
  • เศษ 2 ปี ตรงกับปีมะแม
  • เศษ 3 ปี ตรงกับปีวอก
  • เศษ 4 ปี ตรงกับปีระกา
  • เศษ 5 ปี ตรงกับปีจอ
  • เศษ 6 ปี ตรงกับปีกุน
  • เศษ 7 ปี ตรงกับปีชวด
  • เศษ 8 ปี ตรงกับปีฉลู
  • เศษ 9 ปี ตรงกับปีขาล
  • เศษ 10 ปี ตรงกับปีเถาะ
  • เศษ 11 ปี ตรงกับปีมะโรง ถ้าลงตัวไม่เหลือเศษ จะเป็นปีมะเส็ง
ดังนั้นแล้วในปีนี้ จึงเป็น "ปีมะโรง” ปีที่ 5 ของรอบนักษัตรนั่นเอง!
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา