5 ม.ค. 2024 เวลา 09:16 • ท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

กราบพระพุทธรูปสิบพระองค์ เบิกฤกษ์ชัยดิถีวันปีใหม่

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2557 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” (พุด–ทะ–บู–ชา–นา–คะ–สำ–พัด) อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีคติการสร้างเกี่ยวข้องกับพญานาค โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตามตำนานปั้นหล่อจากต้นแบบนาคแปลงนิมิตสำแดงพระพุทธลักษณะ เป็นประธาน
พระพุทธรูปอีก 9 องค์ ได้รับการจัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน 7 องค์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี 1 องค์ และวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ จำนวน 1 องค์ มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชา เพื่ออำนวยความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่
เหตุที่กรมศิลปากรอัญเชิญ พระพุทธรูปปางนาคปรก เนื่องจากปี พ.ศ.2567 ตรงกับนักษัตร ปีมะโรง หรือ งูใหญ่ ซึ่งตีความได้ถึง พญานาค ตามความเชื่อทางศาสนา
แม้พระพุทธรูปปางนาคปรก หรือ พระนาคปรก เป็นพระพุทธรูปประจำวันของผู้เกิดวันเสาร์ แต่ทุกคนก็สามารถสักการะได้
คติการสร้าง พระพุทธรูป เป็นการสร้างขึ้นเพื่อแทนคุณแห่งองค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วย
พระมหากรุณาธิคุณ (มีคุณด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก)
พระวิสุทธิคุณ (มีคุณด้วยจิตวิสุทธิ์)
พระปัญญาธิคุณ (มีคุณด้วยปัญญา)
บนสุดคือพระพุทธสิหิงค์แห่งวังหน้า
พระพุทธรูปจึงมิใช่รูปเสมือนจริง แต่สร้างขึ้นตามอุดมคติตามลักษณะของมหาบุรุษ ผู้บำเพ็ญบารมีพร้อมสมบูรณ์ กอปรด้วยความงามตามสุนทรียภาพหรือความรู้สึกถึงความงดงามของช่างฝีมือแต่ละสมัย
พระพุทธรูปแต่ละองค์ที่สร้างขึ้น ต่างมีคุณลักษณะเปี่ยมด้วยสรรพสิริสวัสดิมงคลต่าง ๆ อันเป็นเครื่องน้อมนำให้ พุทธศาสนิกชน ยึดมั่น ศรัทธาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกุศโลบายให้ตรึกถึง 'พระธรรม' ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอันเป็นหนทางพ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร
สิบพระองค์ดังกล่าว ประกอบด้วย
1.พระพุทธสิหิงค์
ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 (500 ปีมาแล้ว)
ประวัติ : สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อพ.ศ.2338 ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล
พระพุทธสิหิงค์ ได้รับการกำหนดพระลักษณะให้ละม้ายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากที่สุด เนื่องจากได้ถอดมาจากรูปแปลงของพญานาคที่เคยเห็นพระพุทธองค์ เนรมิตกายให้ดูเป็นแบบอย่าง
ตรงกลางคือพระพิมพ์มหาปาฏิหาริยฺ์ที่เมืองสาวัตถึ
2. พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี
ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-14 (1,200-1,400 ปีมาแล้ว)
พระพิมพ์ดินเผาสี่เหลี่ยมผืนผ้า 3 องค์ ประดิษฐานเรียงกันบนฐานไม้ องค์กลางซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ด้านหน้าพิมพ์ภาพพุทธประวัติตอน มหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับใต้ร่มไม้
พระพุทธองค์ประทับขัดสมาธิราบบนดอกบัวที่เนรมิตขึ้นโดย พญานาคนันทะ และ อุปนันทะ ประคองถือก้านบัวอยู่ด้านล่าง แวดล้อมด้วยพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทวดาทั้งหลายที่ลงมาเฝ้า
ด้านหลังพระพิมพ์จารึก คาถาเย ธมฺมาฯ ด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี 4 บรรทัด ความว่า “เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เยสํ เหตุ ตถาคโต อาห เตสญฺ จ โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณ”
แปลว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้”
พระไภษัชยคุรุนาคปรก
3. พระไภษัชยคุรุนาคปรก
ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 17-18 (800-900 ปีมาแล้ว)
พระไภษัชยคุรุ เป็นพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนานิกายมหายาน มีประวัติกล่าวว่าเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงตั้งปณิธานว่าจะช่วยเหลือสัตว์โลกทั้งปวงให้ มีชีวิตยืนยาว พ้นโรคภัย ทั้งจากทางกายและทางใจ
เป็นที่นิยมนับถือในกลุ่มชนต่าง ๆ ทั้งชาวทิเบต ชาวจีน และชาวเขมร ดังปรากฏบุคคลผู้มีบทบาทในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 คือ 'พระเจ้าชัยวรมันที่ 7' กษัตริย์ผู้ทรงอุทิศพระราชทรัพย์และข้าทาสบริวาร เพื่อสร้างสถานอภิบาลผู้ป่วย นามว่า 'อาโรคยศาล'
ด้านบน : พระรัตนตรัยมหายาน ซ้ายล่าง : พระพุทธรูปนาคปรกนอระมาด ขวาล่าง : พระบัวเข็ม
4. พระรัตนตรัยมหายาน
ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 18 (800 ปีมาแล้ว)
พระรัตนตรัยมหายาน คือสัญลักษณ์แทนของคุณธรรม 3 ประการ สำหรับผู้ต้องการตรัสรู้ อันได้แก่ อุบาย ความกรุณา และ ปัญญา
เบื้องกลาง คือ พระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบเหนือขนดนาค เป็นตัวแทน 'อุบาย' หรือการสั่งสอนธรรม
ถัดไปทางเบื้องขวาเป็นรูปบุรุษมีสี่กร คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร บุคคลาธิษฐาน 'ความกรุณา' เสมือนความปรารถนาช่วยให้สัตว์โลกทั้งปวงหลุดพ้นจากวัฏสงสาร
เบื้องซ้ายเป็นรูปสตรี ยกกรทั้งสองข้างขึ้นถือหนังสือและดอกบัว คือ นางปรัชญาปารมิตา บุคคลาธิษฐานแห่งคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา พระคัมภีร์สำคัญสูงสุดของฝ่ายมหายานและปัญญาสูงสุดของพระพุทธเจ้า
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
5. พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ศิลปะอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ 21-22 (400-500 ปีมาแล้ว)
มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางซ้อนบนพระเพลาในอิริยาบถสมาธิ เบื้องหลังมีแผ่นโลหะรูปต้นโพธิ์ รองรับด้วยฐานภาพเล่าเรื่องกองทัพพญามาร โดยมีรูป นาค 2 ตนแผ่พังพานอยู่ทั้งสองข้าง รวมถึงมารบางตนชูศีรษะงูในมือทั้งสองข้าง
6. พระบัวเข็ม
ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 22-24 (200-400 ปีมาแล้ว)
พระบัวเข็ม หรือ 'พระทักษิณสาขา' เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีคุณอันวิเศษที่นิยมเคารพนับถือกันในหมู่ชาวพม่า มอญ และไทใหญ่ สร้างขึ้นจาก ไม้ของพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นไม้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้
พุทธลักษณะที่สำคัญ คือ ส่วนพระเศียรมีใบบัวปรกอยู่ บริเวณใต้ฐานมักนิยมแกะสลักเป็นภาพงู นาค และสัตว์น้ำ
ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (ขอฝน) และพระราชพิธีพืชมงคล มีการประดิษฐาน พระบัวเข็ม ร่วมกับพระคันธารราษฎร์ และ ประติมากรรมรูปนาค และปลาช่อนด้วย
จึงกล่าวได้ว่าราชสำนักไทย นับถือ 'พระบัวเข็ม' ในฐานะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีพุทธคุณที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับ น้ำ และ ความอุดมสมบูรณ์
7. พระพุทธเจ้า 5 พระองค์นาคปรก
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 (100 ปีมาแล้ว)
พระพุทธเจ้า 5 พระองค์นาคปรก แกะสลักบนงาช้าง วิจิตรงดงามยิ่งนัก
พระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับในซุ้มเรือนแก้ว 5 องค์ แกะสลักบนงาช้างที่บิดเป็นเกลียว ส่วนปลายงาแกะเป็น รูปนาคปรก คนไทยถือว่า งาช้าง ที่งอกผิดจากรูปทรงปกติเป็นของขลังสูงค่า นิยมนำมาแกะเป็นพระพุทธรูป
พระพุทธรูป 5 พระองค์ หมายถึง พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ในภัทรกัลป์ ซึ่งได้อุบัติขึ้นมาแล้วสี่องค์ ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า และพระอนาคตพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง คือ พระศรีอริยเมตไตย
พระพุทธรูปนาคปรกไม้จันทน์
8. พระพุทธรูปนาคปรกไม้จันทน์
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-25 (ประมาณ 100-200 ปีมาแล้ว)
พระพุทธรูปไม้จันทน์ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบบนฐานบัวหงาย กลีบบัวซ้อนกันสองชั้นเหนือ ขนดนาค 4 ชั้น ด้านบนเป็นพังพาน นาค 7 เศียร แผ่ปรกเหนือพระเศียร
พระพุทธรูปนาคปรก สื่อถึงพุทธประวัติหลังการตรัสรู้ในสัปดาห์ที่ 6 ขณะที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นจิก บังเกิดพายุฝนโหมกระหน่ำเป็นเวลา 7 วัน
พระพุทธรูปนาคปรกนอระมาด
9. พระพุทธรูปนาคปรกนอระมาด
ศิลปะรัตนโกสินทร์ (ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) พุทธศตวรรษที่ 24-25 (ประมาณ 100-200 ปีมาแล้ว)
สำหรับ “นอระมาด” หรือ “นอแรด” เป็นของป่า มีมูลค่าและเป็นทั้งของบรรณาการและส่วยที่หัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยรวมถึงลาวส่งให้กับกรุงเทพฯ
ตามความเชื่อในสังคมไทย-ลาว นอระมาดนอกจากมีสรรพคุณทางด้านการรักษาโรคแล้ว ยังถือเป็นเครื่องรางของขลังประเภทหนึ่งที่มีอานุภาพ บันดาลทรัพย์สิน และความอุดมสมบูรณ์แก่ผู้ครอบครอง รวมทั้งมีคุณด้านป้องกันอัคคีภัยได้
10. พระนิรโรคันตราย
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2545
พระนิรโรคันตราย
พระนิรโรคันตราย เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2469 ภายหลังทรงหายจากพระอาการประชวรร้ายแรงเกี่ยวกับพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่)
ลักษณะเป็น พระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประจำวันเสาร์และนักษัตร ปีมะโรง อันเป็นวันและปีพระบรมราชสมภพ
แต่ก็ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีความแปลกใหม่แตกจากพระพุทธรูปนาคปรกแบบเดิมที่ปรากฏโดยทั่วไป กล่าวคือเป็น พระพุทธรูปปางสมาธิที่มีมนุษยนาคจำแลง 2 ตน อัญเชิญฉัตรและพัดโบกอยู่งานถวายแด่พระพุทธเจ้าแทน
พุทธศาสนิกชนสามารถสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์" ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ทุกช่วงเทศกาลพิเศษ อาทิ ช่วงส่งท้ายปี 2566 ต้อนรับปี 2567 ที่เพิ่งผ่านไป
แม้จะไปไม่ทันในช่วงที่ผ่านมา รอโอกาสพิเศษครั้งถัดไปจากกระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากรนะคะ
โฆษณา