6 ม.ค. 2024 เวลา 08:23 • หนังสือ

หนังสือ"มนุษย์พันธุ์ผสม"The Next Generation มนุษย์Genใหม่ต้องเตรียมตัวอย่างไรในโลกที่มีแต่หุ่นยนต์

โดย Tony Ryan ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโลกอนาคตและนักการศึกษา
แปลโดย ดร.วิภาวี วงศ์ภูมิวิชชุ์
... การทำความสะอาดขยะในมหาสมุทรด้วยวิธีเดิมๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่บอยยันคิดไม่เหมือนกับคนอื่นครับ เขาตั้งคำถามว่า ทำไมมนุษย์จะต้องคอยตามเก็บขยะในมหาสมุทร ทั้งๆที่มหาสมุทรมีกระแสน้ำที่เคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ทำไมเราไม่ลองให้มหาสมุทรเก็บขยะในตัวเองเวลาที่มันเคลื่อนตัวไปเรื่อยๆล่ะ โลกของเรามีมหาสมุทรอยู่ 5 แห่งครับ ขยะต่างๆในท้องทะเลต่างก็รวมกันอยู่ใน "หย่อมขยะ" ของมหาสมุทรทั้ง 5 แห่งนี้
วิธีการที่น่าทึ่งของบอยยันก็คือ เขาสร้างอุปกรณ์ที่เรียกว่า Ocean Cleanup Array เป็นแนวเก็บขยะในมหาสมุทร โดยใช้ประโยชน์จากกระแสน้ำซึ่งพัดขยะให้มารวมกันที่แนวเก็บขยะนี้ เมื่อปี 2017 แนวเก็บขยะมหาสมุทรแนวแรกจึงได้เริ่มต้นทำงาน ในหย่อมขยะของมหาสมุทรแปซิฟิก ... เด็กหนุ่มอย่างบอยยัน สแลตเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่จำนวนหลายล้านคน ที่มีพลังและความมุ่งมั่นอยากให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น (หน้า 19)
... จริงๆแล้วโลกอนาคตของเราจะเป็นโลกที่ยุ่งเหยิงแต่ยังสวยงามครับ โลกเป็นอย่างนี้มานานแล้ว และจะเป็นอย่างนี้ไปตลอดกาล โลกไม่เคยไร้ปัญหา แต่ท่ามกลางปัญหา เรายังคงค้นพบความงดงามได้เสมอ ...โลกอนาคตต้องการคนที่รู้จักมองโลกในแง่ดีบนพื้นฐานของความเป็นจริงมากกว่าคนที่มองโลกอย่างสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นในแง่บวกหรือแง่ลบ เพราะถ้าเป็นคนสุดโต่ง ท่านจะไร้ความสุขอย่างแน่นอนครับ (หน้า 23)
... นักเขียนหญิงชาวฝรั่งเศสชื่ออนาอิส นิน (Anais Nin) เคยกล่าวไว้ว่า "คนเรานั้นไม่เคยมองเห็นโลกตามความเป็นจริง เรามองเห็นโลกในแบบที่เราเป็นเท่านั้น" (We don't see the world as it is. We see it as we are.) (หน้า 24)
นิสัยชอบมีอคติและมองโลกในแง่ลบของมนุษย์ ทำให้เรามีความเชื่อประหลาดอย่างหนึ่งว่า ยิ่งสถานการณ์ดีขึ้นมากเท่าไร เราก็ยิ่งมองโลกในแง่ลบมากขึ้นเท่านั้น Greg Easterbrook นักเขียนชาวอเมริกัน ได้เขียนถึงภาวะที่มีความขัดแย้งกันนี้ไว้ในหนังสือ The Progress Paradox ว่า ในขณะที่ตัวบ่งชี้คุณภาพชีวิตของคนทั้งโลกกำลังเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่ช่วง 15 ปีมานี้มนุษย์กลับมีความสุขน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมีคนมากมายเลือกที่จะเชื่อ หรือไม่ก็ถูกทำให้เชื่อว่าโลกของเรากำลังแย่ลงทุกวัน พวกเขาก็เลยกลายเป็นคนมีความสุขน้อยลง
ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าเพราะอะไรพวกเขาจึงคิดแบบนั้น สิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดของมนุษย์ก็คือข่าวครับ ข่าวส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 เป็นข่าวร้าย (หน้า 25)
เซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญชาวอังกฤษเคยกล่าวไว้ว่า "ผมคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวได้ แต่คาดคะเนความบ้าบิ่นของมนุษย์ไม่ได้" (หน้า 28)
จริงๆแล้ว ถ้าสักวันหนึ่งมนุษย์พอใจที่จะอยู่กับหุ่นยนต์มากกว่าที่จะอยู่กับมนุษย์ด้วยกันเอง มันคงเป็นสัญญาณในแง่ลบมากพอสมควร เพราะนั่นหมายความว่า มนุษย์มีความใกล้ชิดกับมนุษย์ด้วยกันเองน้อยลง และมีความรักให้กันและกันน้อยลง ไม่ใช่หรือครับ (หน้า 43)
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ชีวิตมนุษย์คนหนึ่งมีความหมายก็คือการทำงานครับ (หน้า 57)
... ความจริงแล้ว คนทำงานหลายๆคนมองหน้าที่การงานของตนเป็นเพียงแค่งานน่าเบื่อที่ทำไปวันๆ แทนที่จะมองว่า พวกเขากำลังทำประโยชน์บางอย่างให้แก่ส่วนรวม ...เราจะต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดที่มองการทำงานเป็นเพียงแค่ "งานประจำ" อย่างหนึ่งให้กลายเป็นว่าเราทุกคนกำลังสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่สังคมแทนครับ
... ในโลกยุคใหม่ เราแยกงานออกจากการใช้ชีวิตไม่ได้แล้วครับ เราต่างรู้ดีว่าคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันทำงานหนักเสียจนรักษาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตไม่ได้มานานแล้ว ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการคือการใช้ชีวิตแบบ Work Plus Live ซึ่งหมายถึงการทำงานกับการใช้ชีวิตจะควบคู่ไปด้วยกันอย่างมีความสุข ซึ่งจะเห็นได้ชัดในคน Gen Y กับคน Gen Z ที่ต่างเลือกจัดการชีวิตกับการทำงานให้ลงตัวในลักษณะเช่นนี้ครับ (หน้า 65)
ในบทความวิจัยของบริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ PricewaterhouseCoopers : PwC ชื่อว่า "อนาคตของการทำงาน การเดินทางสู่ปี 2022" (The Future of Work, A Journey to 2022) แบ่งการทำงานในโลกอนาคตออกเป็น 3 ทางเลือก ทางเลือกแรกเรียกว่าโลกสีฟ้า (The Blue World) ซึ่งในโลกสีฟ้านี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ยิ่งทำธุรกิจใหญ่โตมากขึ้นกว่าเดิม โดยไม่ใส่ใจใยดีกับมนุษย์ สังคม หรือหลักการทำธุรกิจในระบบทุนนิยมที่มีจิตสำนึกเลย
ทางเลือกที่ 2 คือโลกสีส้ม (The Orange World) ซึ่งในโลกสีส้มนี้ องค์กรธุรกิจจะแบ่งเป็นเครือข่ายเล็กๆที่ทำงานร่วมกัน โดยเศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ
ส่วนทางเลือกที่ 3 คือโลกสีเขียว (The Green World) ซึ่งในโลกสีเขียวนี้ ทุกบริษัทต่างให้ความใส่ใจกับมนุษย์ ทำธุรกิจด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม และ มุ่งมั่นจะทำธุรกิจให้มีประโยชน์แบบยั่งยืน ท่านผู้อ่านอยากจะทำงานในโลกสีไหนครับ ... แล้วลูกหลานของท่านล่ะครับ ท่านอยากให้พวกเขาทำงานในโลกสีไหน เราเลือกได้ครับ (หน้า 73-74)
ดังนั้น ประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า โลกเรามีข้อมูลข่าวสารมากเกินไป แต่ปัญหาเป็นอย่างที่ Clay Shirky นักคิดนักเขียนชื่อดังเคยพูดเอาไว้ว่า 'คนเราไม่รู้จักกรองความรู้ต่างหาก' ...เครื่องกรองข้อมูลข่าวสารมีอยู่ 2 แบบครับ คือ เครื่องกรองข้อมูลภายนอกและเครื่องกรองข้อมูลภายใน .. วิธีการหนึ่งที่คนเราจะเอาตัวรอดในโลกที่มีความเปลี่ยนผันอย่างรวดเร็วแบบนี้ได้คือ เราจะต้องรู้จักปฏิเสธไม่รับเอาข้อมูลที่ไม่สำคัญและไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในชีวิต
... Douglas Thomas และ John Seely Brown เคยเขียนไว้ในหนังสือ A New Culture of Learning (วัฒนธรรมใหม่แห่งการเรียนรู้)ว่า คนเราจะต้องรู้จักอ้าแขนรับความเปลี่ยนแปลงแทนที่จะผลักไสมัน เราไม่ควรมองว่า เราถูกบังคับให้ปรับตัวเข้ากับโลกอนาคต ตรงกันข้ามเราควรจะคิดบวกว่า อนาคตนั้นเต็มไปด้วยโอกาสดีๆมากมายที่รอเราอยู่ และเราควรใช้ประโยชน์จากโลกที่กำลังหมุนติ้วอยู่นี้ให้ได้มากที่สุด (หน้า 88-90)
... อย่าเอาแต่ชมพวกเขาว่าฉลาด แต่ต้องชื่นชมความพยายามของพวกเขาในการเดินไปให้ถึงเป้าหมายนั้นๆ เด็กรู้ดีว่าพวกเขาไม่มีทางกลายเป็นคนฉลาดขึ้นมาได้ภายในพริบตาหรอกครับ แต่พวกเขารู้ว่า พวกเขาสามารถใส่ความวิริยะอุตสาหะไปทีละเล็กทีละน้อยจนสำเร็จได้ (หน้า 94)
... กระบวนการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์นั้นแบ่งได้เป็น 4 ขั้นตอน เริ่มจากการปฏิเสธไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง จากนั้นก็กลายเป็นการต่อต้านอย่างรุนแรง ต่อมาคนเราจะทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆได้ ก่อนที่จะกลายเป็นขั้นสุดท้ายคือ การเข้ามามีส่วนร่วมในที่สุด (หน้า 98)
นักเขียนชื่อทิม เอลมอร์ (Tim Elmore) ได้เขียนเอาไว้ในบทความที่ตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์ฮัฟฟิงตันโพสต์ (Huffington Post) ว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กยุคใหม่ไม่มีความอดทนเป็นนักสู้มีอยู่ 4 ประการครับ ได้แก่
1. เด็กบางคนเติบโตมาอย่างสุขสบายเกินไป ผู้ใหญ่ได้ทำทุกอย่างให้พวกเขาหมดแล้ว เด็กๆเหล่านี้ไม่เคยต้องต่อสู้กับอุปสรรคใดๆทั้งสิ้น จึงไม่รู้จักอ้าแขนยอมรับอุปสรรค
2. เด็กบางคนไม่เข้าใจว่า เบื้องหลังของความสำเร็จนั้นจริงๆแล้วมีความยากลำบากอย่างไรบ้าง พวกเขาเคยชินกับการดูวีดีโอสั้นๆที่สรุปความสำเร็จของคนอื่นโดยไม่ได้รับรู้ว่า นาทีแห่งความสำเร็จเหล่านั้นเป็นผลของการฝึกฝนอย่างหนักมานานเป็นเดือนเป็นปี
3. เด็กยุคใหม่เคยชินที่จะค้นหาคำตอบของทุกคำถามจากกูเกิล แทนที่จะนั่งคิดคำตอบด้วยตนเองเสียก่อน
4. ในยามที่เด็กยุคใหม่มีปัญหา มักจะมีผู้ใหญ่ใจดียื่นมือมาช่วยเหลือ ทั้งที่ผู้ใหญ่ควรปล่อยให้พวกเขาลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองดูเสียก่อน (หน้า 102)
...Carl Honore ผู้เขียนได้อธิบายว่า การทำชีวิตให้ช้าลง ไม่ได้แปลว่าท่านจะต้องทำงานช้าเป็นเต่าคลาน แต่แปลว่าท่านต้องทำงานโดยใช้ความเร็วที่เหมาะสมต่างหาก ความสำคัญอยู่ที่ว่าขอให้ท่านทำงานนั้นๆอย่างดีที่สุด ไม่ใช่ทำงานนั้นๆให้รวดเร็วที่สุด คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณครับ ความคิดนี้ปรับใช้ได้กับทุกเรื่อง (หน้า 105)
... ทำไมท่านจะต้องยัดเยียดให้ลูกมีกิจกรรมทำในทุกๆนาทีของชีวิตด้วย การที่ท่านมีเรื่องให้รีบร้อนทำมากมายไม่ได้แปลว่าเด็กๆจะต้องดำเนินชีวิตแบบเดียวกับท่าน ทั้งๆที่เขาอายุเพียง7ขวบนะครับ ตารางเวลาของเด็กคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องเต็มตลอดเวลาหรอกครับ การปล่อยให้ลูกนั่งเฉยๆแล้วรู้สึกเบื่อบ้างไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไปดีเสียอีกเวลาลูกนั่งเบื่ออยู่นี่แหละครับที่จะเป็นโอกาสให้เขาเกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมาหรือบางทีเด็กก็อาจอยากจะนั่งเฉยๆแล้วฝันกลางวันบ้างจะเป็นอะไรไปครับถ้าเขาอยากจะทำแบบนั้นบ้าง (หน้า 107)
ห้องสมุดมนุษยชาติ (The Human Library) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้คนยืม"คน"แทนการยืมหนังสือมาอ่านครับ จุดมุ่งหมายคือ การท้าทายความคิดของผู้ยืม โดยให้โอกาสผู้ยืมได้สนทนากับบุคคลที่มีความแตกต่างจากตนเอง ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ห้องสมุดให้ยืมมาอาจจะเป็นคนไร้บ้าน คนรักเพศเดียวกัน คนที่เคยถูกคุกคามทางเพศ คนไม่มีงานทำ ฯลฯ ห้องสมุดมนุษยชาติมีกฎเพียงข้อเดียวเท่านั้นคือ ผู้ยืมต้องอดทนยอมรับความหลากหลายของมนุษย์ได้ อดทนยอมรับคำถามยากๆที่จะถามกันในบทสนทนา และอดทนยอมรับคำตอบตรงๆที่อีกฝ่ายหนึ่งจะตอบ
กิจกรรมห้องสมุดมนุษยชาติเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2000 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในงานเทศกาลดนตรีรอสคิลิ (Roskilde) หลังจากนั้นก็ได้ขยายไปกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่จัดตั้งห้องสมุดมนุษยชาติแบบถาวร หัวใจสำคัญของห้องสมุด มนุษยชาติคือ การสร้างเสริมความเห็นอกเห็นใจกันครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเหลือเกินต่ออนาคตของมวลมนุษยชาติ (หน้า 112)
...เด็กที่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นจะไม่รังแกใคร และมีโอกาสมากกว่าผู้อื่นที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องคนที่ถูกรังแก เด็กที่รู้จักสงสารและเป็นห่วงคนอื่น จะมีโอกาสพบเจอกับมิตรภาพที่ยั่งยืนมากกว่าเด็กที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในหัวใจ (หน้า 119)
ขอให้สอนลูกๆหลานๆครับว่า อย่าไปเชื่อว่าคนดีจะถึงเส้นชัยเป็นคนสุดท้าย ความคิดเก่าๆแบบนั้นมีจุดกำเนิดมาจากการทดลองชิ้นหนึ่ง ที่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันแย่งชิงกันเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า โดยไม่ต้องสนใจว่าสักวันหนึ่งในภายภาคหน้า เขาอาจจะต้องร่วมงานกับผู้ร่วมแข่งขันคนอื่นๆในอนาคตระยะยาว การทดลองแบบนี้ไม่ใช่ชีวิตจริงครับ
ในชีวิตจริงเราต้องมองให้ยาวไกล และพยายามประคับประคองความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นให้เป็นไปในทางที่ดีได้นานๆ ในชีวิตจริงผู้ชนะคือคนที่ไม่เห็นแก่ตัว ผู้ชนะคือคนที่รู้จักรักษาสมดุลระหว่างความต้องการของตนเองและความต้องการของผู้อื่นต่างหากครับ (หน้า 123)
ความสามารถในการตั้งคำถามเป็นทักษะที่สำคัญมากในศตวรรษที่ 21 เพราะคำถามคือตัวผลักดันให้รู้จักแสวงหาความรู้ การตั้งคำถามเป็นการแสดงออกให้ผู้อื่นเห็นว่า เด็กคนนี้มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และพร้อมค้นคว้าหาคำตอบต่อไป ไม่ว่าโลกอนาคตจะมีความเปลี่ยนแปลงมหาศาลแค่ไหนรออยู่ เด็กที่กล้าถามย่อมมีโอกาสเข้าใจโลกได้มากกว่าเด็กคนอื่น (หน้า 140)
ข้อเด่นของ MOOCs (Massive Open Online Courses) ก็คือ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาวิชาที่ต้องการเรียนที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ การได้เรียนในเวลาที่เราอยากเรียน อาจเหมาะสมกับโลกปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากกว่าการเรียนแบบเผื่อเอาไว้ว่าอาจจะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้า
ในอนาคตระบบการเรียนทางเลือกแบบไมโครเครดิต (Microcredit) ซึ่งหมายถึง ระบบการเรียนทางเลือกแบบเก็บหน่วยกิตทีละน้อยจะได้รับความนิยมมากขึ้น การเรียนแบบนี้คือการเรียนที่ผู้เรียนเลือกลงเรียนคอร์สเรียนสั้นๆเพื่อเรียนรู้ทักษะบางอย่าง หลังจากเรียนจบแล้ว จะได้หลักฐานที่ระบุว่าเขาได้เรียนรู้ทักษะนั้นๆแล้ว (หน้า 149)
... จริงๆแล้วกลยุทธ์ในการปลูกฝังความสามารถของผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นในตัวลูกหลานตั้งแต่เด็กนั้นง่ายนิดเดียวครับ ท่านแค่ยอมให้ลูกหลานได้ 'เล่นตามสบาย' ก็พอแล้ว ... ผู้ใหญ่อย่างเราต้องหัดมองการณ์ไกลครับ อย่ามองว่าลูกของท่านเป็นเพียงเด็กอายุ 5 ขวบแต่ท่านต้องมองไปข้างหน้าถึงวันที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่อายุ 25 ปีด้วย การเข้มงวดให้เด็กเรียนหนักแทนที่จะอนุญาตให้เด็กได้เล่น เป็นแค่การมองระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวแล้ว เด็กจะมีผลการเรียนที่ดีขึ้นถ้าที่ผ่านมาเขามีโอกาสได้เล่นอย่างเหมาะสมตามวัย
ทุกวันนี้มีข้อมูลจากงานวิจัยมากพอที่จะรู้ชัดว่าการเล่นแบบตามสบายแบบที่เด็กต้องการนั้นมีส่วนพัฒนาความสามารถที่เรียกว่า ทักษะการคิดและบริหารจัดการตนเองขั้นสูง (EF) เป็นอย่างมาก ซึ่งก็คือทักษะต่างๆที่พัฒนาขึ้นในช่วงเวลาที่เราเติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่นั่นล่ะครับ
เพื่อให้เราหัดบริหารจัดการตัวเองให้เป็น ต้องหัดยั้งคิดไตร่ตรอง หัดคิดก่อนพูด และหัดคิดริเริ่มการทำงานต่างๆ รวมไปถึงรู้จักวางแผนว่าจะต้องทำอะไรเพื่อให้งานนั้นๆสำเร็จลุล่วงลงได้ รวมทั้งเราต้องหัดควบคุมอารมณ์ให้เหมาะสม หัดพัฒนาความจำเพื่อการใช้งาน และรู้จักติดตามเพื่อประเมินตรวจสอบตนเอง (หน้า 169-171)
ปัญหาอีกข้อก็คือ เด็กยุคนี้ไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกกำลังกาย เพราะสมัยนี้ไม่มีใครเดินหรือขี่จักรยานไปโรงเรียนกันแล้ว ทั้งที่การเล่นกลางแจ้งและการออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายเด็ก น่าเป็นห่วงมากครับ โรงเรียนและรัฐบาลยุคนี้ต่างพากันลดเวลาเรียนวิชาพละศึกษา เพื่อให้เด็กมีเวลาเรียนเนื้อหาทางวิชาการมากขึ้น มนุษย์เราต้องการออกกำลังกายเพื่อทำให้ร่างกายและสมองกระปรี้กระเปร่า เราจะต้องช่วยให้สมองของพวกเขามีพัฒนาการที่ดีด้วยการจัดเวลาให้ได้ออกกำลังกายและได้เล่นตามสบายมากขึ้น (หน้า 173)
... นิสัยชอบหวังผลเลิศเลอโดยไม่ยอมให้มีข้อผิดพลาดใดๆ หรือที่เรียกว่าพวกนิยมความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) บางครั้งก็อาจเป็นเรื่องดี เพราะจะเป็นตัวผลักดันให้เด็กแสวงหามาตรฐานที่สูงขึ้น แต่หลายๆครั้ง เด็กที่มีนิสัยกลัวความผิดพลาดจะหลีกเลี่ยงการทำสิ่งใหม่ๆ ความสมบูรณ์แบบจึงกลายเป็นตัวขัดขวางความก้าวหน้าของพวกเขา
ผู้ใหญ่อย่างเราจะต้องช่วยให้เด็กมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ความมุ่งมั่นพยายามเป็นสิ่งสำคัญกว่าผลลัพธ์ที่เป็นเลิศ เด็กจะต้องกล้ามองไปยังมาตรฐานที่ตั้งไว้สูง แต่ในเวลาเดียวกันเด็กก็ต้องเปิดใจยอมรับว่า ระหว่างที่พวกเขากำลังเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้น พวกเขาจะต้องทำผิดพลาดอีกหลายครั้ง ผู้ใหญ่ต้องคอยเตือนเด็กให้จำไว้ว่า ช่วงแรกๆของการพัฒนาความคิดใหม่ๆจะเต็มไปด้วยความผิดพลาดเสมอ แต่ความผิดพลาดเหล่านั้นมักจะเป็นโอกาสอันดีที่พาเราไปสู่จุดหมาย (หน้า 176)
... อย่าปกป้องเด็กๆจากคำวิจารณ์นะครับ พวกเขาต้องรู้จักยอมรับคำวิจารณ์ถ้างานที่ทำมีคุณภาพไม่ดีพอ คนเราจะพัฒนาความสามารถได้จากการรับฟังคำติชมบ่อยๆ โดยเฉพาะคำวิจารณ์เวลาที่เราทำผลงานออกมาได้ไม่ดี โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นคำวิจารณ์ที่สุภาพครับ ถ้าเด็กไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานจริงละก็ เขาจะเข้าใจผิดว่า ขอแค่ทำงานเสร็จก็พอแล้ว ส่วนงานจะได้มาตรฐานหรือไม่นั้นไม่สำคัญ ถ้าเขาคิดแบบนี้ล่ะก็เขาก็อาจรู้สึกช็อกได้ในวันที่เข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง (หน้า 182)
"คนทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ แต่คนที่ประสบความสำเร็จมักจะเชื่อมั่นในความคิดสร้างสรรค์ของตนมากกว่าคนอื่น ขอให้หนูจำไว้ว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ปุบปับ หนูอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะคิดอะไรดีๆออกมาได้ ดังนั้นจงเอาตัวเองเข้าไปอยู่ใกล้ๆกับคนที่น่าสนใจ จงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่จะกระตุ้นให้หนูได้คิดได้ทำอะไรใหม่ๆ จงพยายามคิดนอกกรอบในแบบที่หนูไม่เคยกล้าคิดมาก่อน การฝึกฝนคิดนอกกรอบและการฝึกฝนคิดต่อยอดจะช่วยให้หนูมีความคิดดีๆออกมาได้ในที่สุด" (หน้า 185)
การที่โลกของเรามีข่าวปลอมมากขึ้นทุกวัน ยิ่งกระตุ้นให้ผู้ใหญ่อย่างเราต้องสอนเด็กๆให้เข้าใจ วิธีการแยกแยะระหว่างข้อมูลความจริงกับข้อมูลบิดเบือนหรือเรื่องเข้าใจผิด ... เพื่อเป็นการรับมือกับข่าวปลอมทั้งหลายในยุคปัจจุบัน หลักการตั้งคำถาม 3 ข้อแบบโสกราตีส (Socrates' Test of Three) นักปราชญ์ชาวกรีกโบราณผู้ยิ่งใหญ่จึงมีประโยชน์มากครับ ... การตั้งคำถาม 3 ข้อแบบโสกราตีสนั้นเป็นการกลั่นกรองเรื่องราวให้เหลือแค่เรื่องจริง เรื่องดี และเรื่องมีประโยชน์ (หน้า 197-198)
โฆษณา