7 ม.ค. เวลา 06:00 • การเมือง

ประชาสังคมและสถาบันการเมืองเกาหลีใต้หลังเปลี่ยนผ่าน : ความท้าทายต่อเสถียรภาพทางการเมือง ?

เขียนโดย ปัญญากร ดีสงบ
นิสิตปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
---
ประชาสังคม (civil society) เกาหลีใต้ในมุมมองคนที่เคยติดตามการเมืองเกาหลีใต้จะพบมีความเข้มแข็ง ตื่นตัวทางการเมือง และ “พร้อมปะทะ” กับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์ที่เสมือนเป็น “ตราสินค้า” ของประชาสังคมเกาหลีใต้ก็คงไม่พ้นที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรง ณ เมืองควางจู (Gwangju uprising)
ในปี 1980 ที่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาจากหลาย ๆ มหาวิทยาลัยเพื่อต่อต้านการประกาศใช้กฎอัยการศึกของรัฐบาลเผด็จการชอนดูฮวาน (Chun Doo-hawan) จนขยายตัวเป็นการปะทะความรุนแรงกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และส่งผลให้ในฝ่ายขบวนการนักศึกษามีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 2,948 ราย ถูกควบคุมตัว 1,364 ราย สูญหาย 64 ราย และเสียชีวิต 161 ราย รวมแล้ว 4,537 ราย (Choo Hee-Yeon, 2002, p. 174)
ถึงแม้ฝ่ายประชาสังคมจะเป็นผู้พ่ายแพ้ในสมรภูมิดังกล่าว แต่เพียง 7 ปีถัดจากนั้น ภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ก็สามารถรวมพลังกันโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการชอนดูฮวานและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จในปี 1987 (หากนับเพียงจำนวนผู้เคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในปี 1987 นั้นมีมากถึง 930,644 ราย จากทั้งสิ้น 1,242,000 ราย - George Katsiaficas, 2012, p. 428)
จากภาพสะท้อนความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ในช่วงก่อนเปลี่ยนผ่าน ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน และจะยังคงมีบทบาทการเคลื่อนไหวหลังการเปลี่ยนผ่าน จึงเป็นที่น่ากังวลว่าภายหลังการเปลี่ยนผ่านที่สถาบันการเมืองเกาหลีใต้โดยเฉพาะพรรคการเมืองยังมีความอ่อนแอ ขาดความเป็นสถาบัน โดยพรรคการเมืองยังคง “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” ตามผู้นำพรรคที่มีบารมีที่มีมาตั้งแต่ช่วงก่อนการเปลี่ยนผ่าน (ดูเพิ่มเติมได้ใน นิธิ, 2563)
โดยที่พรรคการเมืองไม่อาจเป็นสถาบันที่รองรับความต้องการของภาคประชาสังคมได้อย่างเพียงพอ ภายใต้สภาวะเช่นนี้จึงอาจเป็นเป็นภัยต่อเสถียรภาพทางการเมืองหรือความมั่นคงของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ก็เป็นได้ (1 ในผู้ที่เห็นด้วยกับข้อสังเกตนี้ดูได้ใน ชญานิษฐ์, 2563) อย่างไรก็ดี ผู้เขียนกลับไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเช่นนี้ เนื่องจากข้อสังเกตดังกล่าวเป็นการมองพลวัตทางการเมืองเกาหลีใต้ในระยะสั้นและขาดความรอบด้าน
กล่าวคือ เป็นการมองประชาสังคมหรือกระทั่งสถาบันการเมืองอย่างพรรคการเมืองในลักษณะที่หยุดนิ่ง และติดภาพจำกับลักษณะเหล่านี้ที่ดำรงมาตั้งแต่ช่วงก่อนการเปลี่ยนผ่าน ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงต้องการจะพาผู้อ่านไปสำรวจถึง 2 ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยบ่งชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยเชิงบวกต่อเสถียรภาพทางการเมืองในเกาหลีใต้หลังการเปลี่ยนผ่าน เป็นประเด็นดังต่อไปนี้
---
#1)การลดบทบาทเชิง “แข็งกร้าว” มาสู่บทบาทเชิง “สันติ” ของประชาสังคม
การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในเหตุการณ์ควางจูในข้างต้น ย่อมเป็นภาพสะท้อนถึงบทบาทประชาสังคมเกาหลีใต้ในลักษณะที่ใช้ความรุนแรง และพร้อมปะทะ (militant) ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเมืองเกาหลีใต้หลังการเปลี่ยนผ่านตามที่มีผู้กังวลกัน ถึงกระนั้น บทบาทเช่นนี้จะได้มีความเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น เมื่อเกาหลีใต้อยู่ภายใต้สภาวะทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และสถาบันการเมืองมีการกดขี่หรือปราบปรามประชาสังคมที่ลดลง
กล่าวคือ แม้จะยังปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาสังคมยังมีการเคลื่อนไหวบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง แต่การเคลื่อนไหวในเชิงกฎหมายหรือเชิงสถาบันได้เป็นบทบาทใหม่ของประชาสังคมเกาหลีใต้หลังเปลี่ยนผ่านที่เพิ่มเข้ามา ตัวอย่างการเคลื่อนไหวในเชิงกฎหมายที่เห็นได้ชัดคือ การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้กระทำความรุนแรงต่อประชาชนในเหตุการณ์ควางจู
แม้ในแรกเริ่มการเคลื่อนไหวจะยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมหลังเปลี่ยนผ่านคือ โนแทอู (Roh Tae-woo) และ คิมยองซัม (Kim Young Sam) ไม่ได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องเท่าที่ควร แต่ในท้ายที่สุด ด้วยการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่ผนึกกำลังกันผ่านการรณรงค์ลงชื่อ 1 ล้านราย (One Million Signature Movement) ในปี 1995 จึงทำให้ท้ายสุดมีการออกฎหมายเพื่อเอาผิดแก่ผู้กระทำการใช้ความรุนแรงแก่ประชาชนในเหตุการณ์ควางจูได้สำเร็จ (ดูเพิ่มเติมใน วิเชียร, 2556, น. 116-125)
ในส่วนการเคลื่อนไหวของประชาสังคมในเชิงสถาบัน จะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อปี 2000 และปี 2004 มีนักเคลื่อนไหวในองค์กรประชาสังคมที่มีสัดส่วนในสมาชิกรัฐสภามากถึงร้อยละ 35 อีกทั้งหากพิจารณาเพียงเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าก็ยิ่งมีสัดส่วนของนักเคลื่อนไหวมากถึงร้อยละ 50 (Sookyung Kim and Paul Y. Chang, 2011, p. 127)
ไม่เพียงเท่านั้น ภาคประชาสังคมยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝ่ายก้าวหน้าอย่างคิมแดจุง (Kim Dae Jung) ในการเข้ามามีบทบาทในคณะกรรมาธิการหรือคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลในเดือนธันวาคม ปี 2000 มากถึง 257 ราย กระจายตามคณะต่าง ๆ กว่า 92 คณะ โดยต่อมารัฐบาลก็ได้มีการจัดตั้งสำนักงานความร่วมมือพลเมือง (Office of Civic Cooperation)
ภายใต้กระทรวงการบริหารราชการและกิจการมหาดไทย (Ministry of Government Administration and Home Affairs: MOGAHA) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรพัฒนาเอกชนที่มากขึ้น (Kim Pan Suk, 2002, pp. 280-281) จากบทบาททั้งเชิงกฎหมายและเชิงสถาบันของประชาสังคมเกาหลีใต้หลังเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงและความแข็งกร้าวของประชาสังคมที่หลายฝ่ายกังวลกันนั้นได้ลดระดับลงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
---
#2) การพัฒนาความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองหลังเปลี่ยนผ่าน
จากความอ่อนแอและขาดความเป็นสถาบันที่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องและถาวรของพรรคการเมือง แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณลักษณะนี้จะยังคงดำรงมาถึงช่วงหลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปในเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี ภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลฝ่ายก้าวหน้าอย่างโนมูเฮียน (Roh Moo-Hyun) ได้มีการปฏิรูปกฎหมายการเลือกตั้งในปี 2004
เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งมาเป็นแบบบัตรสองใบ (เขตและบัญชีรายชื่อ) ซึ่งการปฏิรูประบบการเลือกตั้งเช่นนี้ได้มีนัยสำคัญต่อการเพิ่มความเป็นสถาบันให้พรรคการเมืองเกาหลีใต้ที่มากขึ้น เนื่องจากเมื่อสิ้นสุดยุค 3 คิม (คิมยองซัม คิมแดจุง และคิมจงพิล) การจะพึ่งพาผู้นำที่มีบารมีในการค้ำจุนการดำเนินการของพรรคการเมืองย่อมเป็นไปได้ยาก
ส่งผลให้พรรคการเมืองจำเป็นต้องจัดหาบุคคลจากหลากหลายภาคส่วนในสังคม อาทิ นักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ ฯลฯ เพื่อใช้ในการสร้างฐานคะแนนเสียงใหม่ ๆ ภายในบัญชีรายชื่อของพรรคตน และก่อให้เกิดพรรคการเมืองขนาดเล็กที่แม้ไม่ได้มีบารมีหรือความนิยมในพื้นที่ แต่เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์และนโยบายที่ชัดเจน อาทิ พรรคกรีน (ที่มีจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม-ผู้เขียน) และพรรคแรงงาน (ที่มีจุดยืนในประเด็นสวัสดิการแรงงาน-ผู้เขียน) (ดูการขึ้นมามีบทบาททางการเมืองของพรรคแรงงานในเกาหลีใต้ได้ใน Yeonho Lee & Yoo-Jin Lim, 2006)
ขณะเดียวกัน การปฏิรูปดังกล่าวก็ยังช่วยสนับสนุนทางการเงินให้แก่พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีทุนทางการเมืองน้อยกว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยพรรคการเมืองทุกพรรคสามารถนำรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางการเมืองของพรรคตน อาทิ ค่าป้ายหาเสียง ค่าส่งเอกสารต่าง ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการสัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ มาใช้ในการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนพรรคการเมืองกันได้อย่างเท่าเทียม (นิธิ, 2565)
นอกจากนั้น เมื่อโนมูเฮียนได้มีการแถลงการณ์ว่าตนจะไม่เข้าไปครอบงำหรือมีบทบาทในกิจการของพรรคการเมืองในรัฐบาลอย่างพรรคอูรี (Uri Party หรือ Uri-dang) ก็ยิ่งเป็นภาพสะท้อนการยกระดับความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินการ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้นำที่บารมีเป็นสำคัญที่มากขึ้น (อ้างแล้ว) ดังนั้น ข้อเสนอที่มองว่าพรรคการเมืองเกาหลีใต้ที่ขาดความเป็นสถาบันอันมีนัยเชิงลบต่อเสถียรภาพทางการเมืองเกาหลีใต้หลังเปลี่ยนผ่าน จึงเป็นข้อเสนอที่ล้าสมัยไปแล้วก็ว่าได้
---
#บทส่งท้าย : พินิจพิจารณา (ใหม่) เสถียรภาพทางการเมืองเกาหลีใต้หลังเปลี่ยนผ่าน
จากที่ผู้เขียนกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งของประชาสังคมที่ยกระดับการเคลื่อนไหวในเชิงกฎหมายและสถาบันที่มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองและยึดโยงกับผู้นำที่มีบารมีลดลง มี 2 ประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการคงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองเกาหลีใต้หลังเปลี่ยนผ่านที่พึงนำมาพิจารณาทิ้งท้ายในบทความนี้
อันได้แก่ ประเด็นแรก การเคารพในกติกาประชาธิปไตย โดยภายหลังการเปลี่ยนผ่านจะพบว่าประชาสังคมเกาหลีใต้และพรรคการเมืองต่างยึดมั่นในกติกาประชาธิปไตยในฐานะ “เกมเดียวในเมือง” (the only game in town) กล่าวคือ ไม่ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจ อาทิ การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมไปสู่ฝ่ายก้าวหน้า การปฏิรูปกองทัพในรัฐบาลฝ่ายก้าวหน้า วิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 จะพบว่า กระบวนการประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ ไม่เกิดการ “ล้มกระดานทางการเมือง” จากตัวแสดงใด ๆ
อีกหนึ่งประเด็น คือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาสังคมและสถาบันการเมือง เป็นไปในลักษณะประนีประนอมและร่วมมือกันมากขึ้น กล่าวคือ เมื่อประชาสังคมลดระดับความรุนแรงในการเคลื่อนไหว และหันมาเล่นบทบาทเชิงสถาบัน ผนวกกับสถาบันการเมืองมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังตอบสนองต่อข้อเรียกร้องทางการเมืองของประชาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ดังกรณีออกกฎหมายเอาผิดย้อนหลังแก่ผู้กระทำความรุนแรงต่อประชาชนในเหตุการณ์ควางจู
มากกว่าการจะใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าปราบปรามดังในช่วงก่อนเปลี่ยนผ่าน ย่อมทำให้ความขัดแย้งระหว่างประชาสังคมและสถาบันการเมืองที่อาจขยายตัวเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองย่อมลดลงตามด้วย ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้เขียนจึงมองว่า เสถียรภาพทางการเมืองเกาหลีใต้ที่ส่อเค้าจะถดถอยลงหลังการเปลี่ยนผ่านดังที่หลาย ๆ ฝ่ายเป็นที่กังวลกัน คงจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือหากจะเกิดขึ้นผู้เขียนก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยได้อย่างแน่นอน
---
#รายการอ้างอิง
ชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร. (2563). เส้นทางประชาธิปไตยกับการเมืองบนท้องถนนในสาธารณรัฐเกาหลี. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก http://polsci.tu.ac.th/direk/view.aspx?id=482
นิธิ เนื่องจำนงค์. (2565). พรรคการเมืองกับการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาธิปไตยใน เกาหลีใต้: ฤาจะเป็นเส้นขนานที่ไม่อาจบรรจบ?. ใน วุฒิสาร ตันไชย, ธีรพรรณ ใจมั่น และสติธร ธนานิธิโชติ (บก.), พิศพรรคการเมือง: หลากมุมมองหลายประเทศ (น.201-229). กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
นิธิ เนื่องจำนงค์. (2563). การเมืองว่าด้วยพรรคการเมืองของเกาหลีใต้ในยุคหลัง 3 คิม: ความ เปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง. รัฐศาสตร์นิเทศ, 6(2), น. 33-84.
วิเชียร อินทะสี. (2556). พลวัตความเป็นประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ จากอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Cho Hee-Yeon. (Autumn 2002). Sacrifices Caused by State Violence under Military Authoritarianism and the Dynamics of Settling the Past during the Democratic Transition. Korea Journal, 42(3), p.163-193.
George Katsiaficas. (2012). Asia’s Unknown Uprisings Volume 1: South Korean Social Movements in the 20th Century. Oakland: PM Press.
Kim Pan Suk. (2002). The Development of Korean NGOs and Governmental Assistance to NGOs. Korea Journal, 42(2), pp. 279-303.
Sookyung Kim and Paul Y. Chang. (2011). The Entry of Past Activists into the National Assembly and South Korea’s Participation in the Iraq War, in Gi-Wook Shin and Paul Y. Chang (Editor), South Korean Social Movements: from democracy to civil society (pp. 174-201). New York: Routledge.
Yeonho Lee, & Yoo-Jin Lim. (2006). The rise of the Labor Party in South Korea: Causes and limits. Pacific Review, 19(3), pp. 305-335.
---
ป.ล. ช็อป E-Book ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมและ Download การผจญภัยของมะลิเจ้าเหมียวส้ม E-book เล่มแรกของสำนักพิมพ์ Crackers Books เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ที่ https://www.mebmarket.com/web/index.php?action=BookDetails&data=YToyOntzOjc6InVzZXJfaWQiO3M6NzoiNjMxMTI0OSI7czo3OiJib29rX2lkIjtzOjY6IjI3ODI5OCI7fQ
โฆษณา