8 ม.ค. 2024 เวลา 10:32 • ศิลปะ & ออกแบบ

Review อาคิเต็กเจอ

หนังสือ : อาคิเต็กเจอ
ผู้เขียน : ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์
สำนักพิมพ์ : Salmon
การหยิบเรื่องสถาปัตย์รอบตัวมาพูดถึงแบบเล่าเรื่องแถมใส่ความรู้เข้ามาให้ด้วยอย่างกลมกล่อมไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เล่มนี้ทำได้ค่ะ
คุณชัชได้ขยายความมาให้เราย่อยง่ายในศัพท์ทางวิชาการอย่าง ‘urban vernacular' หรือความเป็นอยู่พื้นถิ่นที่เกิดขึ้นในเมือง หมายถึง วิธีการแก้ปัญหาการใช้ชีวิตในเมืองแบบบ้านๆ ที่ดันพบมากในบ้านเมืองแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น การนิยม วางกระถางต้นไม้หน้าบ้านเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่สีเขียวในเมืองที่มีน้อยการติดตั้งกันสาดผ้าใบเพื่อบังแดดและฝนที่เกินจะคาดเดาได้ในเมืองเขตร้อนชื้นหรือการตั้งศาลพระภูมิเพื่อช่วยแก้ปัญหาทางใจ
ความขี้สงสัยของสถาปนิกนามว่า ‘ชัชวาลสุวรรณสวัสดิ์’ ได้ถ่ายทอดสิ่งปลูกสร้างและข้าวของที่พบเห็นมาให้เราหยุดคิดตามถึงความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่แฝงอยู่ได้น่าทึ่งมาก
วินดาหยิบเล่มนี้มาอ่านเป็นรอบที่สองชอบภาษาและวิธีการนำเสนอของคุณชัชที่เนื้อหาไม่ซีเรียสไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เข้าใจในความเป็นสถาปัตย์ใดใดเพราะแต่ละสิ่งล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราจินตนาการได้หรือถ้าไม่ชัดในเล่มก็มีภาพประกอบให้เราชัดเจน
อย่างร้านโชห่วย, ศาลพระภูมิ, เพลิงพักของพี่วินมอเตอร์ไซค์, รถกับข้าว(รถพุ่มพวง), เก้าอี้พลาสติกสีสันฉูดฉาด และอีกหลายสิ่งปลูกสร้างคุณชัชจะพาเราไปให้เห็นที่มาที่ไปของงานนั้นๆได้อย่างเข้าใจ ก่อนจะตัดสินใจว่างานนั้นดีหรือไม่ เพราะทุกงานมีเหตุผลในตัวของมันเอง
นอกจากนั้น ยังได้เกร็ดความรู้ของเรื่องนั้นๆ อย่างไม้บรรทัดวัดระยะเลขมงคลของจีน, วิถีชีวิตของคนไร้บ้าน, ที่มาและประโยชน์ใช้สอยอย่างรถเข็นขายของริมทาง, แนวคิดการสร้างประโยชน์ใช้สอยจากพื้นที่เล็กๆสำหรับร้านขายของชำ เป็นต้น
เอกลักษณ์ของความเป็นไทยเราสะท้อนออกมาได้ชัดเจนจากวิถีชีวิตของเรานี่แหละค่ะ
__🦋
IG : windasharing
IG : winda_read_and_share (หนังสือมือสองอ่านเอง)
โฆษณา