8 ม.ค. 2024 เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ตลาดหุ้นเปลี่ยนไปแล้ว! ดร.นิเวศน์ เปิดใจ ลงทุนปี 67 หมดยุคทำเงินจากการลงทุนแบบง่าย ๆ

ถ้าพูดตามตรง ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ผมคิดว่าตัวเองอยู่ในโหมดของการ รักษาความมั่งคั่ง และพยายามสร้างผลตอบแทนที่ “สมเหตุผล” หมดยุคที่จะทำเงินจากการลงทุนแบบง่าย ๆ และสูงอย่างไม่น่าเชื่อไปแล้ว เพราะ “น่านน้ำ” ของตลาดหุ้นเปลี่ยนไปแล้ว
[ เรื่องโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ]
ปี 2567 เพิ่งจะเริ่มต้น แต่ความรู้สึกของผมก็คือ ปีนี้อาจจะเป็นปีที่ผมอาจจะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และแนวทางการลงทุนที่เคยทำมายาวนานหลายสิบปีและแทบจะไม่เคยเปลี่ยนเลย การที่ผมคิดอย่างนั้นก็เพราะว่า “น่านน้ำของการลงทุน” หรือสภาพแวดล้อมของการลงทุนที่ผมคุ้นชินมานาน “เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ” เฉพาะอย่างยิ่งก็คือประเด็นของภาษีที่นักลงทุนส่วนบุคคลจะต้องถูกเก็บถ้านำเงินไปลงทุนในตลาดต่างประเทศที่สูงได้ถึง 35% ของกำไรจากการลงทุนเมื่อนำเงินกลับประเทศไทย
1
สำหรับผมแล้ว อัตราภาษีในระดับนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในการลงทุนหุ้น ถ้าเราจะต้องเสียภาษีในระดับนั้น โอกาสที่จะลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนหลังภาษีที่ดีพอก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศซึ่งไม่เสียภาษีกำไรจากการลงทุน
1
จริงอยู่ มีวิธีที่จะหลีกเลี่ยงภาษีหลายทางเช่น ไม่นำเงินกลับประเทศไทยเลย และหวังว่าเงินนั้นจะอยู่และถูกนำไปใช้ในต่างประเทศ “ตลอดกาล” ซึ่งสำหรับหลายคนแล้วก็คิดว่าเป็นไปได้เช่น “เก็บเอาไว้ใช้เวลาลูกต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ” หรือ “เงินก้อนนี้จะไม่จำเป็นต้องใช้เลยในประเทศไทย เพราะมีเงินรายได้และการลงทุนในประเทศไทยเพียงพออยู่แล้ว” หรือ “ถ้าปีไหนจะนำเงินกลับเข้าไทย ก็ไปอยู่ต่างประเทศชั่วคราวซึ่งทำให้อยู่ในไทยไม่เกิน 180 วัน ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียภาษี” เป็นต้น
2
แต่สำหรับผมแล้ว นั่นเป็นวิธีที่ไม่แน่นอนและมีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้สูง บางทีอาจจะแค่ภายใน 2-3 ปี เกณฑ์ก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็นว่า ต่อไปนี้ หุ้นต่างประเทศหรือพอร์ตหุ้นต่างประเทศที่มีกำไร ไม่ว่าจะนำเงินกลับไทยหรือไม่ก็จะต้องเสียภาษีเป็นรายปี เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะว่าตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
1
ข้อมูลทางการเงินและการลงทุนของเราที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจะถูกรายงานถึงทางการไทยตลอดเวลาจาก “ความร่วมมือระดับนานาชาติ” ดังนั้น รัฐไทยจึงสามารถ เก็บภาษีรายได้จากคนไทยทุกคนไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน และไทยก็พร้อมจะเก็บภาษี “คนรวย” ที่เอาเงินไปลงทุนต่างประเทศที่ในอดีต “ไม่ต้องจ่ายภาษี” ให้ประเทศไทย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมคิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศในฐานะบุคคลธรรมดาจึงน่าจะจบแล้ว เพราะ “ไม่คุ้ม” แต่ถ้าจะลงทุนเฉพาะในตลาดหุ้นไทย “ต้นทุน” ที่อาจจะใหญ่กว่าเรื่องภาษีด้วยซ้ำก็คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่อาจจะต่ำกว่าการลงทุนในต่างประเทศมาก เหตุผลก็ชัดเจนว่ามาจากการที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่ามากและอาจจะช้าลงไปเรื่อย ๆ เมื่อปัจจัยด้านประชากรของไทยแก่ตัวเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องนับปัญหาทางด้านรัฐศาสตร์การเมืองที่เป็นอุปสรรคที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้
ทิศทางที่ผมคิดและอาจจะต้องเริ่มทำก็คือ ปรับการลงทุนในต่างประเทศแบบ “หน้ามือเป็นหลังมือ” เพื่อแก้ปัญหาเรื่องภาษี ด้านหนึ่งก็คือ เปลี่ยนจากการใช้บุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีทุกปี แต่ในอัตราที่ยอมรับได้คือ 20% ในกรณีแบบนี้ ก็จะต้องมั่นใจว่าตนเองสามารถสร้างผลตอบแทนในตลาดต่างประเทศนั้นที่กำลังเติบโตเร็วและสามารถเลือกหุ้นแนว “ซุปเปอร์สต็อก” ที่ให้ผลตอบแทนสูงมากในระยะยาวได้
โฆษณา