31 ม.ค. เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์

รวมคำไทยใช้เรียกต่างประเทศ 2

  • เกาหลี/คิม
สำหรับคำว่า “เกาหลี” ที่คนไทยเรียกกัน สันนิษฐานว่ามาจากภาษาจีนกลางว่า “高麗” (อ่านว่า เกาหลี Gāo lí) ซึ่งเป็นชื่อของราชวงศ์โครยอ (Goryeo) ราชวงศ์ที่ปกครองเกาหลีในช่วงระหว่าง ค.ศ. 918–1392 (พ.ศ. 1461–1935)
ขณะเดียวกัน ยังมีที่มาจากคำว่า “โคเรีย” (Korea) ซึ่งเป็นคำของชาวตะวันตก เนื่องจากในยุคราชวงศ์โครยอเป็นช่วงที่มีการติดต่อกับชาติตะวันตก ซึ่งเกิดจากการที่คนเกาหลีออกเสียงเป็น “โค-รยอ-อา” แต่ชาวตะวันตกฟังแล้วพ้องเสียงไปเป็น "โค-เรีย-อา" เลยเขียนเป็น “Korea” จึงทำให้คนไทยเรียกคนเกาหลีว่าเกาหลีสืบมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนั้น คนไทยยังมีการเรียกคนเกาหลีว่า “คิม” ซึ่งคำว่า คิม เป็นหนึ่งในนามสกุลที่พบมากที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ฉบับแรกของเกาหลี ปรากฎชื่อ คิม ครั้งแรกใน ค.ศ. 636 (พ.ศ. 1179) โดยอ้างว่าเป็นนามสกุลของพระเจ้าจินฮึง หรือจินฮ็อง แห่งอาณาจักรซิลลา ในช่วง 57 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 935 (พ.ศ. 1478) ซึ่งต่อมาสามารถผนวกรวมคาบสมุทรเกาหลีเป็นหนึ่งเดียวได้ใน ค.ศ. 668 (พ.ศ. 1211) ทำให้คิมกลายเป็นหนึ่งในชื่อสกุลแพร่หลายมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง
ภายหลังที่ราชวงศ์โชซอนเสื่อมอำนาจลง ได้มีการปฏิรูประบบการตั้งชื่อใหม่ เพื่อให้สิทธิแก่ทาสและสามัญชนในการซื้อชื่อสกุลและยกระดับสถานะทางสังคม จนมาถึงการยกเลิกระบบทาส ก็มีประชากรบางส่วนเลือกที่จะใช้นามสกุลคิม เพื่อหวังยกสถานะทางสังคม ขณะที่บางกลุ่มเลือกใช้นามสกุลคิม เพราะเป็นนามสกุลของเจ้านาย รวมถึงบางกลุ่มเลือกใช้นามสกุลคิม เนื่องจากมีความหมายดี
จนมาถึงช่วงหนึ่งที่เกาหลีใต้เคยออกกฎหมายห้ามคนนามสกุลเดียวกันแต่งงานกัน เพื่อแยกแยะกลุ่มคนที่ใช้นามสกุลเดียวกัน โดยแบ่งตามสถานที่ทางภูมิศาสตร์ของแหล่งกำเนิด แต่ภายหลังก็ได้มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวไป
  • แขก/อาบัง
คำว่า “แขก” ที่หมายถึงคำที่คนไทยไว้ใช้เรียกกับคนอินเดีย ปากีสถาน หรือบังกลาเทศแบบรวม ๆ แล้ว แท้ที่จริงความหมายมิได้หมายถึงคนเหล่านั้นโดยตรง เพราะคำว่า แขก สันนิษฐานว่ามาจากรากศัพท์ของภาษาจีนแต้จิ๋ว ที่ออกเสียงว่า “เค่อ” หรือ “แคะ” หมายถึง ผู้มาเยือน ซึ่งคนไทยสมัยก่อนเอาไว้เรียกชนกลุ่มน้อย หรือผู้ที่มาเยือนจากต่างบ้านต่างเมือง จึงเป็นที่มาของคำไทยคำหนึ่งว่า “แขกไปใครมา”
แล้วก็ได้กลายมาเป็นชื่อรวม ๆ เรียกชนชาติทางตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งเลยจากประเทศเมียนมาไปอีก อย่างอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน เปอร์เซียและอาหรับ รวมถึงผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อแยกความแตกต่างจากชาวยุโรปไป
นอกจากคำว่า แขก แล้ว ก็ยังมีคำว่า “อาบัง” ซึ่งไม่ได้มาจากภาษาอินเดียอย่างใด หากแต่มาจากภาษามลายู แปลว่า พี่ชาย ส่วนใหญ่จะเป็นคำที่ชาวมุสลิมใช้เรียกกัน เช่น บังหวัง บังซา
สมัยก่อนคนไทยมักเข้าใจไปเองว่าคนแขกส่วนมากเป็นมุสลิม จึงเรียกคนแขกที่นับถือศาสนาอื่น ๆ ว่า อาบัง แบบพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย
  • ฝรั่ง (ตาน้ำข้าว/ดั้งขอ/อั้งม้อ) /ฟะรังคี
คำว่า “ฝรั่ง” ที่หมายถึง บุคคล หรือสิ่งต่าง ๆ ที่มาจากทวีปยุโรป ไม่ก็อเมริกานั้น ถือเป็นคำที่คนไทยใช้มาอย่างเนิ่นนับแต่โบราณแล้ว โดยคำว่า ฝรั่ง มาจากคำว่า “แฟรงก์” (Franks) ที่เป็นบรรพชนของชาวยุโรปกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีสำเนียงการใช้ภาษาแบบตะวันตก (Western Germanic Languages) ที่กลายเป็นรากฐานของภาษาอังกฤษ เยอรมัน และดัตช์ ในเวลาต่อมา
ซึ่งชาวแฟรงก์ก็ถือเป็นกลุ่มชนที่มีอิทธิพลอย่างมากมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6-8 สามารถแผ่ขยายจนครอบคลุมไปทั่วพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปยุโรป ตั้งแต่ประเทศฝรั่งเศส อิตาลีทางตอนเหนือ เยอรมนี และยุโรปตอนกลางในปัจจุบัน จึงทำให้ผู้ที่อาศัยในดินแดนแถบนี้ถูกเรียกว่า ชาวแฟรงก์
จนในศตวรรษที่ 11-13 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามครูเสด ระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิม ชาวมุสลิมได้มีการเรียกขานชาวยุโรปผิวขาวที่ทำสงครามกับพวกเขาว่า “ฟรานจ์” หรือ “ฟรันจิ” (Franj) ในภาษาอาหรับ ซึ่งมาจากคำว่า แฟรงก์
หลังจากนั้น คำนี้แพร่หลายไปยังชนชาติอื่น ๆ ส่งผลให้การออกเสียงมีความแตกต่างกันออกตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ฟารัง (Farang) หรือฟรัง ในภาษาเปอร์เซีย, ฟิรานจี (Firangji) ในภาษาฮินดู, บาลัง (Barang) ในภาษาเขมร และฝรั่ง ในภาษาไทย
สำหรับคำว่า ฝรั่ง ในภาษาไทย สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาก “ฟารัง” หรือ “ฟรัง” ในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเกิดจากการติดต่อกับพ่อค้า นักเดินทางในสมัยโบราณที่มีทั้งชาวมุสลิมอาหรับและเปอร์เซีย
นอกจากคำว่า ฝรั่ง อย่างโดด ๆ แล้ว คนไทยก็มีคำอื่น ๆ ที่ใช้สื่อถึงความเป็นฝรั่งได้อย่างเด่นชัดอีกมากมายหลายคำด้วยกัน เช่น ฝรั่งมังค่า ที่ผสมผสานกันระหว่างคำว่า ฝรั่ง ที่มีนัยความหมายว่า คนที่ไม่ใช่พวกเรา กับคำว่า มังค่า ที่สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “บังกล่า” หรือก็คือ เบงกอล ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ในอินเดียทางตะวันออก แปลโดยรวม ๆ จึงหมายถึง ฝรั่งชาติอื่น ๆ
ฝรั่งตาน้ำข้าว หมายถึง ผู้ที่มีตาสีขาวขุ่นเหมือนน้ำข้าว ฝรั่งดั้งขอ หมายถึง ผู้ที่มีจมูกโด่งรูปร่างโค้งเหมือนขอ รวมถึงฝรั่งอั้งม้อ ซึ่งคำว่า “อั้งม้อ” มาจากภาษาจีนที่แปลว่า ผมแดง ดังนั้น ฝรั่งอั้งม้อ จึงหมายถึง ผู้ที่มีผมสีแดง นั่นเอง
นอกจากนั้นแล้วยังมีคำว่า “ฟะรังคี” ที่อาจเพี้ยนมาภาษาอาหรับถิ่นอียิปต์ว่า “Farangi” ซึ่งคนไทยได้ใช้คำดังกล่าวเรียกชาวต่างประเทศในสมัยโบราณ ก่อนจะกลายมาเป็นคำว่า ฝรั่ง ด้วย
  • อังกฤษ
การที่คนไทยเรียกคนอังกฤษว่า “อังกฤษ” มีหลายข้อสันนิษฐานด้วยกัน เช่น มาจากคำว่า “anglais” (อองเกร) ในภาษาฝรั่งเศส หรือมาจากคำว่า “Anglisch” (อังลิช) ในภาษาเยอรมัน ที่หมายถึง ภาษาหนึ่งซึ่งมีคำและรากศัพท์ที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรแองโกล–แซกซอนของอังกฤษ และแพร่กระจายเข้าไปในดินแดน ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศสกอตแลนด์ทางตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรยุคกลางของเผ่านอร์ธัมเบรีย
จนมีผู้ใช้บัญชีพันทิป (Pantip) รายหนึ่งได้เสนอข้อสันนิษฐานโดยอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เขาผู้นั้นสืบค้นได้ โดยระบุว่า คำว่า อังกฤษ ในภาษาไทย ได้ปรากฏในประมวลกฎหมายสมัยอยุธยาที่ถูกชำระเรียบเรียงไว้ในกฎหมายตราสามดวงหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติของกฎหมายอาชญาหลวง จ.ศ. 976 (พ.ศ. 2157) ที่กล่าวถึงชาวต่างประเทศว่า "ฝารังอังกริดกระปิตันวิลันดาคุลาฉะวามลายูแขกกวยแกว"
หรือจะเป็นในกฎหมายอาชญาหลวง มาตรา 37 ที่กล่าวว่า “แขกพราหมณยวนประเทศฝารังอังกฤษจีนจามวิลันดาฉวามลายูกวยขอมพม่ารามัญ”
หรือจะเป็นพระราชกำหนดเก่าฉบับที่ 36 จุลศักราช 1025 (พ.ศ. 2206) ต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่กล่าวว่า “ทุกวันนี้แขกฝรังอังกฤษคุลามะลายูนา ๆ ประเทศเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารเปนอันมาก แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้ไทมอญลาวลอบลักไปซ่องเสพเมถุนณกรรมด้วยแขกฝรังอังกฤษคุลามะลายูซึ่งถือฝ่ายมิดฉาทิฐิ”
จึงสันนิษฐานได้ว่า คำว่า อังกฤษ มีการใช้มาอย่างเนิ่นนานแล้ว ซ้ำมีใช้ก่อนที่ชาวฝรั่งเศสจะเข้ามานานพอสมควร เพราะปรากฏหลักฐานว่ามีบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศจากกรุงปารีสเดินทางมาถึงสยามเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1662 (พ.ศ. 2205)
แต่ก็ไม่อาจปักใจเชื่อได้ว่า คำว่า อังกฤษ ได้รับอิทธิพลมาจากคำว่า “Inglês” ในภาษาโปรตุเกส เพราะออกเสียงไม่เหมือนเสียทีเดียว แต่อาจรับมาจากคนอินเดียที่รับมาจากโปรตุเกสอีกต่อหนึ่ง เพราะในภาษาฮินดีเรียกคนอังกฤษว่า “aṅgrez” (अंग्रेज़/อังเกรซ) หรือ “aṅgrezī” (अंग्रेज़ी/อังกรีซี) ส่วนหนึ่งมาจากคนไทยมีการติดต่อค้าขายกับคนอินเดียมายาวนานเช่นเดียวกับคนชาติอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
  • นิโกร
คำว่า “นิโกร” สำหรับคนไทย หากได้แวะเวียนมาตรงนี้บ้างแล้ว คงจะต้องมีความรู้สึกสะอึกขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย เนื่องจากมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “นิกเกอร์” (niger) หมายถึง สีดำ แล้วได้กลายมาเป็นคำว่า “นิโกร” (negro) ไว้ใช้เรียกคนผิวสีในประเทศอังกฤษ สเปน และโปรตุเกส
ขณะเดียวกันในภาษาสเปน มีความหมายว่า ดำ ซึ่งคนดำในทวีปอเมริกาเหนือและใต้เลือกใช้คำนี้เพื่อแสดงถึงลักษณะร่วมของพวกเขา หนึ่งในนั้นก็มีมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน–อเมริกัน ที่มีความพยายามผลักดันคำดังกล่าวให้มีความสำคัญมากขึ้น
แต่หลังจากที่เขาได้ถูกลอบยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) คำว่า นิโกร ก็ได้ถูกเล่นแร่แปรธาตุทางความหมายโดยกลุ่มชาติอิสลาม (Nation of Islam) ซึ่งมีแนวคิดคนละขั้วกับคิง ให้กลายเป็นคำที่มีความหมายเชิงเหยียดเชื้อชาติ ที่ย้อนหนหลังไปถึงช่วงที่ชาวแอฟริกันได้ถูกขายให้กับต่างชาติ นำไปเป็นทาสที่ถูกใช้แรงงานอย่างทรมาน กดขี่ทารุณต่าง ๆ จนกลายเป็นความเจ็บปวด และรณรงค์ให้คนผิวดำเรียกตัวเองว่า “black” แทน คำว่า นิโกร จึงกลายเป็นคำต้องห้าม (The N Word) ไป
หากคนไทยจะเอ่ยถึงคนที่เป็นชาวแอฟริกันให้เข้าใจตรงกันแล้ว ก็ควรใช้คำว่า “คนผิวสี” (People of Color) ซึ่งจะเป็นการเรียกคนเชื้อชาติต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่คนแอฟริกันเพียงอย่างเดียวเป็นการดีที่สุด เพราะไม่แน่ว่าคนผิวดำคนนั้น อาจไม่ได้เป็นคนเชื้อชาตินั้นเสมอไปก็เป็นไปได้
  • ไทย
อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศมาเป็นไทย ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้น ประเทศไทยเคยใช้ชื่อว่า “สยาม” มาก่อน ซึ่งชื่อนี้มีมานานหลายร้อยปีแล้ว ถูกเรียกโดยชาวต่างชาติ แต่ในขณะที่คนสยามเรียกตนเองว่า “ไท” ซึ่งนอกจากจะหมายถึง ความเป็นอิสระแล้ว ยังหมายถึงชนชาติตระกูลภาษาไท-ไต ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อหลายพันปีก่อนด้วย
เมื่อเวลาผ่านไป ว่ากันว่าเกิดจากความเฟื่องฟูของภาษาบาลีและสันสกฤต ทำให้มีการนำเอาตัวอักษร “ย” เข้าไปต่อท้ายคำว่า “ไท” จนกลายเป็นคำว่า “ไทย” ดังที่ปรากฏให้เห็นเช่นทุกวันนี้
คำว่า ไทย นอกจากจะหมายถึง ประเทศที่มีความเป็นอิสระ ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร ดังคนไทย (บางกลุ่ม) ให้ความภาคภูมิใจในข้อนี้อย่างเป็นหนักหนาแล้ว คำว่า ไทย คำนี้เองก็ได้เคยเป็นประเด็นทางสังคมมาแล้วช่วงหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าได้ถูกนำไปใช้เป็นคำติเตียนสำหรับคนบางประเทศ คำที่ว่านั้นก็คือ “You’re so Thai” (แกไทยมาก) และ “Don't THAI to me” (อย่ามาไทยกับฉัน)
โดยอ้างว่าเป็นคำที่ไว้ใช้เสียดสีคนไทย ผ่านเฟซบุ๊กเพจของประชาคมอาเซียน (AEC) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนฟิลิปปินส์ โดยได้มีการส่งต่อข้อความถึง “นิสัยเสีย” ของคนไทยออกมาถึง 15 ข้อด้วยกัน ในแต่ละข้อมีเนื้อหาที่ค่อนข้างอ่อนไหวอย่างมาก สำหรับผู้ที่มีความรักชาติเป็นชีวิตจิตใจเลย ณ จุด ๆ นี้
แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจังแล้ว พบว่าเป็นการสร้างกระแสโดยคนไทยที่อยากปรามาสคนไทยด้วยกันเอง ไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ตามที่เขาหลอกลวงกันมาแต่อย่างใด
จากที่ทาง AdminField ได้มีการรวบรวมคำต่าง ๆ ที่คนไทยไว้ใช้เรียกคนต่างประเทศนั้น ได้แสดงให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยในการเลือกสรรคำต่าง ๆ รวมถึงความพยายามของคนไทยที่ต้องการจะสื่อสารไปถึงอีกฝ่ายได้อย่างเข้าใจในชนิดที่เรียกว่า “มองตาก็รู้ใจ” แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจได้พลันคิดขึ้นมาว่า จะมีสักคำหรือไม่ที่ไปกระทบต่อจิตใจของใครบางคน
ดังนั้น สิ่งที่เราทุกคนพอทำได้ คือ การหยุดคิดอย่างรอบคอบสักช่วงหนึ่ง แล้วจึงค่อยพูดในสิ่งที่เราคิดอย่างถี่ถ้วนแล้วออกมา เพราะก่อนพูด เราเป็นนายคำพูด แต่หลังพูด คำพูดเป็นนายเราเสมอ ดังพุทธภาษิตที่ว่า
ปรสฺส วา อตฺตโน วาปิ เหตุ น ภาสติ อลิกํ ภูริปญฺโญ โส ปูชิโต โหติ สภาย มชฺเฌ ปจฺฉาปิ โส สุคติคามิ โหติ
ผู้มีภูมิปัญญา ย่อมไม่พูดพล่อย ๆ เพราะเหตุแห่งคนอื่น
หรือตนเอง ผู้นั้นย่อมมีผู้บูชาในท่ามกลางชุมชน
แม้ภายหลังเขาย่อมไปสู่สุคติ
ด้วยประการฉะนี้
อ้างอิง :
#AdminField
โฆษณา