7 ม.ค. เวลา 18:06 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

ปลุกไฟแห่งฝัน : ครูที่ดี

ยกให้เป็นซีรีส์แห่งปี 2023 เลย แม้จะมาจบตอนต้นเดือนม.ค. 2024 ก็ตาม
เคยชอบ Mr. Holland's Opus(1995) มากแค่ไหน ก็ชอบเรื่องนี้ไม่น้อยไปกว่ากัน
เรื่องนี้ดัดแปลงจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Dragon Zakura ช่วงแรก ๆ ของเรื่องส่วนที่เกี่ยวกับการคำนวณสถิติ โค้ชชิ่งต่าง ๆ จึงมีกลิ่นอายของญี่ปุ่นอยู่บ้าง แต่พอเลยครึ่งเรื่องไปแล้ว ลืมไปเลยว่าดัดแปลงมา แถมเป็นซีรีส์ที่สะท้อนสังคมจีนหนักหน่วงมาก
ถึงอย่างนั้นก็ต้องว่าได้ความบันเทิง ได้มุมมอง ได้กำลังใจไปพร้อม ๆ กัน
 
ถ้าอ่านแต่เรื่องย่อ เนื้อเรื่องอาจไม่ต่างจากซีรีส์จีนแนวครูนักเรียนเรื่องอื่นสักเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ถือเป็นอีเวนท์สำคัญที่สุดในชีวิตของเด็ก ๆ จีน ก่อนจะโตเป็นผู้ใหญ่กันเลยทีเดียว
แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจในหลายประเด็น ตัวละครทั้งครูและนักเรียนต่างมีปมมีแผลในใจที่ต้องแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน
เรื่องเปิดมาด้วยการที่ครูเหลยท้าทายทุกคนในโรงเรียนว่า เขาสามารถทำให้เด็ก ๆ ที่คะแนนไม่ดี สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เหมือนต้องการให้กำลังใจเด็ก ๆ ว่าถ้าพยายามก็จะสอบเข้าได้ แล้วไม่ใช่สอบเข้าได้ธรรมดา แต่เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆของจีนด้วย
ประเด็นนี้ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เด็กทุกคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ อย่างไรเสียก็ต้องมีคนสอบเข้าไม่ได้ และต่อให้เก่งขนาดไหนก็พลาดได้
สำหรับตัวละครในเรื่อง เด็กห้อง 11 ทุกคน ไม่ใช่เด็กเรียนไม่เก่ง แต่เป็นเด็กที่ “คิด” ว่าตัวเองเรียนไม่เก่ง และมีปัญหาทางบ้านเกินกว่าจะรับมือไหว พอครูจับมาเปลี่ยน “วิธีคิด” ชีวิตก็เปลี่ยนเลย
ยังดีว่าตอนหลัง บทสรุปว่าความสำคัญของเรื่องนี้คือการพยายามให้เต็มที่ ไม่ว่าชีวิตจะมีอุปสรรคขนาดไหนก็ตาม
นั่นสะท้อนให้เห็นว่า สังคมจีนนั่นแหละที่ทำให้เด็กจีนเครียดจัด เพราะแม้แต่ครูที่คิดว่าเข้าใจเด็กที่สุดแล้ว ก็ยังเอาเป็นเอาตายกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และในเรื่องไม่มีใคร “แพ้” เลย
จริงอยู่การผลักดันให้เด็ก ๆ พยายามให้ถึงที่สุดเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็ควรคิดถึงที่ทางสำหรับ “คนแพ้” ด้วย เพราะไม่ว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ทุกคนก็สามารถเป็นคนคุณภาพของสังคมได้ทั้งนั้น
ประเด็นปัญหาครอบครัวของเด็ก ๆ ในเรื่องนี้ต้องเรียกว่าค่อนข้างแรง เรียกว่าตบหน้าพ่อแม่ไปหลายดอก
ประเด็นที่แรงที่สุดคือเด็กเป็นโรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย ซึ่งน่าจะกำลังเป็นปัญหาในจีน จริง ๆ ต้องบอกว่ากำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลก รวมทั้งในไทยเอง
บังเอิญว่าระหว่างดูเรื่องนี้ ผู้เขียนกำลังเขียนบทสัมภาษณ์ผู้เป็นโรคซึมเศร้าอยู่ด้วย ซึ่งพบว่ามีคนเป็นโรคนี้มากกว่าที่คิดไว้
และทำให้นึกถึงเมื่อหลายปีก่อน ตอนยังเป็นบรรณาธิการบริหาร มีน้องในทีมคนหนึ่งมีพฤติกรรมและอารมณ์บางอย่างที่รู้สึกว่า “แปลก” แต่ไม่ได้คิดถึงโรคนี้ เพราะตอนนั้นก็ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้สักเท่าไหร่
หลังจากทำงานด้วยกันไปปีกว่า ๆ เขาก็มาเล่าให้ฟังขำ ๆ (แต่คนฟังไม่ขำด้วย) ว่ากลับบ้านต่างจังหวัดไปหาหมอที่รพ.ที่เคยไป แล้วหมอถามว่าหายไปไหนมา เป็นโรคซึมเศร้าทำไมไม่มารักษาต่อ
ตอนนั้นผู้เขียนไม่รู้ควรทำอย่างไร แต่เมื่อเขายังทำงานได้เป็นปกติ จึงได้กำชับว่าอย่าลืมไปหาหมอและกินยาสม่ำเสมอ ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ลาออกไปทำงานที่อื่น
ล่าสุดจากที่ไปสัมภาษณ์ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามา พบว่าจริง ๆ แล้วคนป่วยก็รู้ตัวเองว่ากำลังเศร้าผิดปกติ ไม่ใช่แค่นอยด์เฉย ๆ แต่เศร้าเป็นวัน ๆ เป็นสัปดาห์ ไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไปแล้ว ถ้าแบบนี้รีบไปหาหมอด่วน ๆ อย่ารอ
ปัญหาหนึ่งคือ คนป่วยต้องยอมรับว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนี้ คนเป็นโรคซึมเศร้า เป็นคนป่วย ไม่ใช่คนบ้า และเมื่อไปหาหมอแล้ว อย่าหยุดยาเองเพราะคิดว่าหายแล้วเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลกระทบร้ายแรงได้
ประเด็นที่ผู้เขียนสะเทือนใจที่สุด เรียกว่าน้ำตาท่วม ตัวละครเลิกร้องไห้ไปแล้วแต่เรายังร้องอยู่ คือตอนที่พ่อครูเหลยเสียชีวิต
ผู้เขียนเติบโตในสภาพแวดล้อมที่แม่ซึ่งเป็นครูปลูกฝังให้คิดว่า การเป็นคนมีมารยาท อ่อนน้อมถ่อมตน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูรู้คุณ ช่วยเหลือผู้อื่น คือชีวิตปกติ ไม่ใช่เรื่องพิเศษที่ต้องยกย่องอะไรกันมากมาย ก็รู้แหละว่าแม่เป็นครูที่ดี แต่ไม่เคยตระหนักว่าดีขนาดไหน จนกระทั่งแม่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
1
ช่วงที่แม่นอนโรงพยาบาล มีลูกศิษย์มาเยี่ยมตลอดเวลา วันหนึ่งน้องเล่าให้ฟังว่า ลูกศิษย์คนหนึ่งมากราบแม่ที่เตียง เนื่องจากไม่ได้เห็นภาพนั้นเอง ก็คิดว่าธรรมดาแหละ...แม่เป็นครูมาตลอดชีวิต ต้องมีลูกศิษย์ที่รักแม่เป็นพิเศษอยู่แล้ว
จนกระทั่งวันนั้น แม่ซึ่งผอมมาก และแทบไม่รับรู้อะไรแล้ว นั่งอยู่บนรถเข็นหน้าบ้าน มีลูกศิษย์แม่ที่เราก็รู้จักกันมาแต่เด็ก ไปมาหาสู่กันบ้าง แต่ไม่ได้เจอกันหลายปีแล้ว พอเขาเดินพ้นรั้วบ้านเข้ามาเห็นแม่ ก็ตรงเข้ามาคุกเข่ากราบลงที่ตักแม่
ผู้เขียนยืนอึ้งกับภาพนั้น เพราะไม่เคยเห็นเขาทำแบบนี้มาก่อน เข้าใจแล้วว่าน้องรู้สึกอย่างไรในวันที่เห็นลูกศิษย์ไปกราบแม่ที่เตียงในโรงพยาบาล
แม่ต้องดีกับลูกศิษย์ขนาดไหน เราถึงได้เห็นภาพแบบนี้ แล้วที่ไม่เห็นอีกล่ะ
 
ลูกศิษย์อีกคน ซึ่งเราก็เห็นมาแต่เด็กเหมือนกันว่าเกเรไม่เรียนหนังสือ แม่ก็คอยตามกลับมาเรียน น้องเคยเล่าให้ฟังขำ ๆ ว่าแม่ให้ขี่มอเตอร์ไซค์พาเขาไปโรงเรียน พอโตมาเขาแต่งงานกับคนต่างชาติและย้ายไปอยู่ต่างประเทศ จึงไม่ได้มางานศพ แต่ข้อความที่เขาเขียนในเฟซบุ๊คทำให้รู้ว่าแม่ไม่ใช่ครูที่จะยอมแพ้กับลูกศิษย์คนไหนง่าย ๆ
1
และไม่เฉพาะแต่ลูกศิษย์เท่านั้น แม้แต่ผู้คนแถวบ้าน ก็รักแม่กันหมด เจ๊ขายอาหารหน้าปากซอย ช่วงนั้นแกไม่ค่อยได้ขายอาหารแล้วเพราะอายุมากและยืนไม่ไหว แต่พอรู้ว่าแม่ป่วย กินอะไรไม่ค่อยได้ ก็ลุกขึ้นมาทำกับข้าวส่งมาให้ที่บ้าน พร้อมถามว่า ครูอยากกินอะไร เดี๋ยวทำให้กิน
ตอนงานศพยิ่งไม่ต้องพูดถึง ลูกสามคนแทบไม่ต้องทำอะไรเลย มีคนจัดการแทบทุกอย่างให้ มาถึงวัดเร็วกว่าเจ้าภาพไปอีก เราจองศาลาเล็ก เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีใครมาเยอะ เนื่องจากแม่เกษียณมาหลายปี ไม่เคยทำงานบริหารเลย เป็นแค่ “ครู” มาตลอดชีวิต ผลก็คือคนมางานล้นออกมานอกศาลาทุกวัน
ในฐานะครู แม่ไม่ค่อยสอนลูกด้วยคำพูดอะไรมากนัก แถมส่งไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนอื่น เพราะไม่อยากให้ถูกสปอยด้วยคำว่า “ลูกครู” แต่แม่ก็ “ทำ” ให้ดูมาตลอดชีวิต ว่าควรใช้ชีวิตอย่างไร โดยไม่เคยบังคับว่าต้องมีชีวิต หรือคิดเหมือนแม่ไปทุกเรื่อง
เรื่องโชคดีที่สุดในชีวิตของผู้เขียนก็คือ มีแม่เป็นครู และ มีครูเป็นแม่ นี่เอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา