10 ม.ค. เวลา 12:00

อุ้มบุญ ทางเลือกการมีทายาทที่ชอบด้วยกฎหมาย

ในหลายๆ บทความก่อนหน้านี้ ผมก็จะเน้นย้ำถึงเรื่องของการบริหารและส่งต่อความมั่งคั่ง แต่สิ่งสำคัญของการจะส่งต่อความมั่งคั่งนี้ไปได้ก็คือการมีผู้สืบทอดตระกูลหรือทายาทเพื่อที่จะให้ทายาทนั้นมารับช่วงต่อความมั่งคั่งและสืบทอดตระกูลต่อไป สำหรับบางครอบครัวที่ประสบปัญหาการมีบุตรยากการอุ้มบุญก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
ในอดีตการอุ้มบุญหรือการตั้งครรภ์แทนนั้นไม่ได้มีกฎหมายมารองรับ ดังนั้นเด็กที่เกิดมาก็ยังเป็นบุตรของแม่ที่ได้ให้กำเนิดแต่ไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตร คู่สมรสจะทำได้แต่เพียงรับเด็กที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เริ่มมีผลบังคับใช้ ก็มีผลให้บุตรที่เกิดจากการอุ้มบุญภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตร
ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อต้นปี 2566 ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาอนุญาตให้มีการอุ้มบุญภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวมากกว่า 600 ราย เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภาวะของการมีบุตรยากโดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใต้หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เช่น
 
1. สามีและภรรยาจะต้องมีสัญชาติไทยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย หากสามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งเป็นคนต่างชาติ สามีและภรรยานั้นจะต้องจดทะเบียนสมรสกันไม่น้อยกว่า 3 ปี
2. หญิงที่รับอุ้มบุญจะมีข้อกำหนด ดังนี้
• ต้องไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส
• ต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตในครอบครัวของสามีหรือภรรยา หากไม่มีญาติอาจให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์
• ต้องเคยมีบุตรมาก่อน และหากหญิงนั้นมีสามีหรือชายที่อยู่กินร่วมกันจะต้องได้รับความยินยอมจากสามีหรือชายนั้นด้วย
3. ต้องมีข้อตกลงทำเป็นหนังสือก่อนการตั้งครรภ์ โดยจะต้องทำระหว่างหญิงที่รับอุ้มบุญและคู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตรว่าจะให้เด็กที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นบุตรของคู่สมรส
4. การทำให้ตั้งครรภ์จะทำได้ 2 วิธี ดังนี้
4.1 ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภรรยาเพื่อให้หญิงที่รับอุ้มบุญตั้งครรภ์ ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับคู่สมรสที่อสุจิและไข่แข็งแรง แต่ภรรยาไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อาจเนื่องจากมดลูกมีปัญหา เป็นต้น
4.2 ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภรรยาแทนกับอสุจิหรือไข่ของคนอื่น แต่ห้ามใช้กับไข่ของหญิงที่รับอุ้มบุญ กรณีนี้จะเหมาะกับคู่สมรสที่อสุจิของสามีหรือไข่ของภรรยามีปัญหา สำหรับการใช้อสุจิหรือไข่ที่ผู้อื่นได้บริจาคเพื่อใช้ในการตั้งครรภ์ตามวิธีนี้ กฎหมายฉบับนี้ก็ได้ระบุไว้ว่าผู้บริจาคไข่หรืออสุจินั้นจะไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัวหรือมรดกใดๆ ต่อเด็กที่จะเกิดมา
5. หน้าที่ในการแจ้งเกิดของเด็กจะเป็นของคู่สมรส
6. เด็กที่เกิดมาถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรส แม้ว่าสามีหรือภรรยาจะเสียชีวิตก่อนที่เด็กจะเกิดก็ยังถือว่าเด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภรรยา
ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ารวมทั้งผลของการบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้มีส่วนช่วยให้หลากหลายครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องมีบุตรยากได้มีบุตรที่เกิดจากการอุ้มบุญมาเติมเต็มความเป็นครอบครัวและสืบทอดวงศ์ตระกูล ซึ่งเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญตามกฎหมายฉบับนี้จะถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสมีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกับบุตรที่เกิดจากคุณพ่อคุณแม่ที่ได้จดทะเบียนสมรสกันทุกประการ
ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจในเรื่องบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สามารถติดต่อ Wealth Planning and Family Office Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ได้ที่อีเมล familyofficeteam@scb.co.th หรือ
ติดต่อที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน (RM) ของท่าน
#SCBWealth #SCBPrivateBanking #WealthPlanning
โฆษณา