10 ม.ค. 2024 เวลา 00:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

‘พระ AI’ จากญี่ปุ่น ช่วยเผยแผ่ศาสนาในสังคมยุคใหม่ ?

การเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนา ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าใจหลักธรรมคำสอนและแก่นแท้ของศาสนาพุทธมากขึ้น แต่เนื่องจากปัจจุบันเมื่อโลกเปลี่ยนไป “ศาสนา” ก็ต้องปรับตัวตามยุคสมัยเพื่อให้ตอบโจทย์คนยุคใหม่เช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ย่อมหนีไม่พ้น “เทคโนโลยี” ที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ “ญี่ปุ่น” เล็งเห็นว่านี่เป็นจุดที่สามารถเชื่อมโยงให้ “ศาสนาพุทธ” มีความทันสมัยมากขึ้นได้ จึงเกิดเป็นไอเดีย “หุ่นยนต์พระ” หรือ “พระ AI” ขึ้นมาเพื่อช่วยเผยแผ่ศาสนาอีกทาง แต่ก็มีเสียงสะท้อนว่า คำสอนที่มาจากหุ่นยนต์นั้นเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ?
เมื่อผู้เผยแผ่ศาสนา มาในรูปแบบ “AI”
คันนง (Kannon) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ คันจิไซ โบซัตสึ (Kanjizai Bosatsu) เป็นปัญญาประดิษฐ์อยู่ที่วัดโคไดจิ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น สร้างขึ้นเพื่อเผยแผ่คำสอนของศาสนาพุทธ มาจากแนวคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2017 โดย เทนโช โกโตะ (Tensho Goto) อดีตหัวหน้าผู้ดูแลวัดได้พูดคุยกับ ฮิโรชิ อิชิงูโระ (Hiroshi Ishiguro) อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอซากา
โดยเทนโชบอกว่าอยากให้สร้างพระพุทธรูปในรูปแบบหุ่นยนต์ ซึ่งฮิโรชิก็ให้ความสนใจ และพัฒนาจนสำเร็จ หลังจากนั้นก็นำมาใช้งานจริงในปี 2019
นอกจากนี้เทนโชยังให้เหตุผลว่า เขาเชื่อว่าพระพุทธศาสนาควรได้รับการเผยแผ่ในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น และคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย
“เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่การพิมพ์ อินเทอร์เน็ต และ AI ถึงเวลาแล้วที่พระพุทธรูปจะพูดและมองตาผู้คนได้” เทนโชอธิบายแนวคิดของเขาเพิ่มเติม
ข้อมูลจากสื่อญี่ปุ่น The Asahi Shimbun (8 เม.ย. 2023) ระบุว่า คันนง เป็นหุ่นยนต์ที่มีความสูง 195 เซนติเมตรและหนัก 60 กิโลกรัม มีใบหน้า ไหล่ และมือทำจากซิลิโคนที่ดูเหมือนผิวหนังของมนุษย์ แต่ในส่วนอื่นๆ ของร่างกายยังคงเป็นโลหะ ซึ่งคันนงจะใช้เวลาอธิบายหลักคำสอนของศาสนาพุทธเป็นเวลา 25 นาที
เอชิน มาสึดะ (Eishin Masuda) ผู้ที่ทำงานในสำนักพุทธศาสนานิกายโจโด เล่าว่า ในช่วงแรกเขามองว่าความคิดนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้
“หุ่นยนต์นี้สอนบทเรียนมาตรฐานของศาสนาพุทธได้ แม้ว่าจะมีรูปลักษณ์แปลกตา” เอชินกล่าว นอกจากนี้เขายังมองว่าแนวคิดนี้น่าสนใจเพราะวัดสามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น แม้กระทั่งคนที่ไม่เคยอยากศึกษาพุทธศาสนามาก่อนเลยก็ตาม
หลังจากเริ่มต้นใช้งาน “พระ AI” ก็มีคนสนใจเข้ามาฟังคำสอนกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการสัมผัสกับวิทยาการใหม่ๆ
“ฉันพบว่าตัวเองยังมีหนทางอีกยาวไกลในการก้าวไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ทางจิตใจในบางเรื่อง” อากิโอะ โอยางิ (Akio Oyagi) พนักงานบริษัทเล่าว่าบทเรียนจากพระ AI ทำให้มองเห็นวิธีการแก้ปัญหาของตัวเองได้ดีขึ้น
มิยูกิ ซากางูจิ (Miyuki Sakaguchi) วัย 63 ปี ผู้อยู่อาศัยกับแม่ของสามีที่มีอายุ 98 ปี กล่าวว่า การดูแลแม่ของสามีนั้นถือเป็นงานที่ท้าทายสำหรับเธอ แต่คำสอนของพระ AI ก็ให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี
“ฉันรับมือกับตัวเองได้ทั้งตอนที่ฉันพยายามดูแลเธออย่างเต็มที่และตอนที่ฉันทำไม่ได้” มิยูกิกล่าว
โฆษณา