Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เหลาจนคม
•
ติดตาม
8 ม.ค. เวลา 15:20 • ประวัติศาสตร์
เมื่อสยามมี "พระเจ้ากรุงสยาม" ทั้งสองพระองค์
พระมหากษัตริย์ไทยในพระราชวงศ์จักรีมี 10 พระองค์ 9 รัชกาล กล่าวคือ ในรัชกาลที่ 4 นั้นมีพระเจ้าแผ่นดิน 2 พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีสองแผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์ทรงปกครองแผ่นดินสองพระองค์ในเวลาเดียวกัน นั่นคือแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่พระองค์สถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระอนุชา) ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับพระองค์
จวบจนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ได้มีพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สองเกิดขึ้นในแผ่นดินเช่นเดียวกัน นั่นก็คือรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาพระอนุชาร่วมพระชนนี คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง ทรงได้รับพระบวรราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
2
"สมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ มหรรตวรรคโชไชย มโหฬารคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ บวรจักรพรรดิราช บวรนาถบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2351 ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ร่วมพระอุทรกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.2394 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถวายพระนาม “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในศิลปศาสตร์หลายสาขา ทั้งการช่าง การปกครอง การทหาร และศิลปกรรม โดยทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรกของไทย นอกจากนี้ ทรงโปรดทางศิลปะ ทั้งดนตรี กวี และนาฏศิลป์ ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้นโดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี 4 ชนิด เรียกว่า “ปี่พาทย์เครื่องใหญ่” เบื้องปลายพระชนม์ชีพประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ปัจจุบันอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อ 7 มกราคม พ.ศ.2408
หากจะว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ มีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง กล่าวคือพระองค์ได้รับการกราบทูลเชิญให้ขึ้นครองราชย์ พร้อมกับ “เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์” หรือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ไม่มีการบอกถึงสาเหตุของการสถาปนากษัตริย์ขึ้นพร้อมกันถึง 2 พระองค์ในครั้งนั้น
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องแรกก็ยังไม่ทรงทราบถึงสาเหตุดังกล่าว กระทั่งมาทราบความเอาเมื่อล่วงถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จากคำบอกเล่าของ “เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี” (ท้วม บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ใน “นิทานโบราณคดี/นิทานที่ 19 เรื่อง “เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์” ว่า “…เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้จะสวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ บิดาของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ) ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศฯ กราบทูลให้ทรงทราบว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ตรัสว่าถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งตรัสเรียกว่า “ท่านฟากข้างโน้น” ด้วย เพราะพระชาตาแรงนัก…
ตามตำราโหราศาสตร์ว่า ผู้มีชาตาเช่นนั้นจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียว จะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดบารมีของสมเด็จพระอนุชา แม้ถวายราชสมบัติด้วยกันทั้งสองพระองค์ จะได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกัน เช่นนั้นจึงจะพ้นอัปมงคล…”
5
คำบอกเล่าข้างต้น ใส่หมายเหตุไว้ด้วยว่า “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงรับฟังต่อมาจากเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ อีกที มิได้มาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โดยตรง”
มีรายละเอียดต่างๆ ในหลายแง่มุมถึงเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอนุชาร่วมพระราชชชนนีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง ตามเหตุผลของพระองค์เองที่ว่า ดวงพระชะตาของสมเด็จพระอนุชานั้นแรงถึงขนาดจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงควรสถาปนาสมเด็จพระอนุชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกับพระองค์เสียเลย
แต่ทว่าด้วยเหตุผลนี้หลายคนที่เป็นผู้รู้วิเคราะห์ว่า ทั้งหมดเป็นกุศโลบาย เพราะการที่พระองค์สถาปนาพระอนุชาให้เป็นพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับพระองค์ ก็เพื่อป้องกันปัญหามิให้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นในทางการเมือง เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงทราบดีว่า พระอนุชานั้นมีผู้คนนิยมยกย่องเป็นอันมาก มีผู้นับถืออย่างกว้างขวาง และทรงมีกำลังทหารอยู่ในบังคับบัญชาเป็นอันมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นการสถาปนาพระอนุชาให้เป็นพระเข้าแผ่นดินอีกพระองค์เสียเลย ก็จะสมปรารถนาของทุกฝ่าย และปัญหาต่างๆก็จะไม่เกิดตามมา
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
https://www.facebook.com/726502237386172/photos/a.727308097305586/3760952303941135/
https://www.matichonacademy.com/tour-story/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AF-%E0%B8%81%E0%B8%A9
ประวัติศาสตร์
ไทย
2 บันทึก
9
1
2
2
9
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย