9 ม.ค. เวลา 07:06 • ข่าวรอบโลก

ด้านในดวงจันทร์แกนีมีด อาจมีพายุหิมะเหล็ก

ดวงจันทร์แกนีมีด (Ganymede) ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี มีสนามแม่เหล็กทรงพลังมหาศาล ซึ่งก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์ค้นพบว่า ในบางครั้งพลังแม่เหล็กของมันรุนแรงกว่าโดยรอบดาวพฤหัสบดีถึง 1 ล้านเท่า
แม้นักดาราศาสตร์จะมีข้อสันนิษฐานว่า #แรงไทดัล (tidal force) หรือความแตกต่างของแรงโน้มถ่วงที่ดาวพฤหัสบดีกระทำต่อดวงจันทร์บริวาร ทำให้ดวงจันทร์แกนีมีดทั้งถูกบีบอัดและดึงรั้งให้ยืดขยายตัวออกเป็นระยะ จนแก่นกลางของดาวร้อนและเกิดสนามแม่เหล็กขึ้น แต่รายละเอียดของกลไกภายในที่ขับเคลื่อนสนามแม่เหล็กทรงพลังอย่างแท้จริงนั้น ยังไม่มีใครพิสูจน์ทราบได้
ทีมผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (CNRS) ได้ทดสอบแบบจำลองพลวัตของโครงสร้างภายในดาวเคราะห์ ซึ่งมีวงจรการก่อตัวของ “หิมะเหล็ก” (iron snow) เพื่อดูว่าจะนำแบบจำลองนี้มาอธิบายปรากฏการณ์สนามแม่เหล็กอันทรงพลังของดวงจันทร์แกนีมีดได้หรือไม่
สมมติฐาน “หิมะเหล็ก” เชื่อว่าในแก่นหรือใจกลางของดาวเคราะห์ขนาดเล็กบางดวง เหล็กหลอมเหลวที่ร้อนแรงสามารถจะเย็นตัวลงและตกผลึกเป็นเกล็ดเล็ก ๆ ได้ เมื่อมันลอยขึ้นมาสู่ด้านบนของแก่นดาว (core) บริเวณที่บรรจบกับเนื้อดาว (mantle) จากนั้นจะตกกลับลงมาเหมือนหิมะโปรยปราย โดยลงไปสู่ด้านล่างของแก่นดาวและถูกหลอมละลายอีกครั้ง
ทีมผู้วิจัยพบว่า พายุหิมะเหล็กที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ อย่างไม่สม่ำเสมอนี้ สามารถจะขับเคลื่อนสนามแม่เหล็กอันทรงพลังได้ แต่ว่าการที่พายุหิมะเหล็กเกิดขึ้นแค่ในบางส่วนของแก่นดาว โดยจะย้ายตำแหน่งไปเรื่อย ๆ ทำให้สนามแม่เหล็กของแกนีมีดไม่เสถียร เพราะจะแปรเปลี่ยนพื้นที่ครอบคลุมและรูปทรงของสนามแม่เหล็กอยู่เสมอ จนในบางครั้งก็อ่อนกำลังลง และบางครั้งก็กลับแข็งแกร่งขึ้น
ดวงจันทร์แกนีมีดไม่ใช่ดาวเคราะห์ดวงเดียวในระบบสุริยะ ที่อาจมีพายุหิมะเหล็กตกกระหน่ำอยู่ภายในได้ แต่ปรากฏการณ์นี้ยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในแก่นของดวงจันทร์, ดาวพุธ, ดาวอังคาร และดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่มีองค์ประกอบเป็นโลหะ
โฆษณา